svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิดปัจจัยร่างรธน.ฉบับ"ไอติม"ส่อแท้งกลางสภา

16 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่ประกอบด้วย 4 ล. คือ ล้ม-โละ-เลิก-ล้าง น่าจะเป็นปัจจัยชีวัดได้ว่า มีโอกาสสูงที่จะไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา

ฝ่ายความมั่นคงจะมองว่า การเคลื่อนไหวของฝ่ายอ้างปฏิรูปสถาบันฯ ยังจุดไม่ติด” แต่เมื่อสำรวจสภาวะแวดล้อมทางการเมืองแล้ว จะเห็นได้ว่า ยังมี “ตัวเร่งปฏิกิริยา” หรือ “ตัวคะตะไลต์”  (สารที่เติมลงไปในปฏิกิริยาเคมี ทำให้อัตราการเกิดปฏิกิริยาเร็วขึ้น) อยู่หลายตัวเช่นกัน 

 

หนึ่งในนั้นคือ "ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับประชาชน” ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภาในวันนี้ 

 

ร่างนี้เสนอโดย "ไอติม" พริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งปัจจุบันลาออกไปแล้ว / และมีประชาชนร่วมลงชื่อ 150,921 ชื่อ 

เปิดปัจจัยร่างรธน.ฉบับ"ไอติม"ส่อแท้งกลางสภา

สาเหตุที่ “นักวิเคราะห์การเมือง” มองว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาม็อบนอกสภา ก็คือ ข้อเสนอให้แก้ไขที่ใส่มาในร่างรัฐธรรมนูญ ถือว่า “ตรงและแรง” คือแรงในเนื้อหา และตรงใจของกลุ่มอ้างปฏิรูปสถาบันฯ กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

 

จึงมีโอกาสสูงที่จะโดน ส.ว. และ ส.ส.รัฐบาล คว่ำตั้งแต่วาระแรก (ซึ่งจะมีการโหวตแบบขานชื่อในวันพุธที่ 17 พ.ย.64)

เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มี 4 ล.ด้วยกันคือ ล้ม-โละ-เลิก-ล้าง

เปิดปัจจัยร่างรธน.ฉบับ"ไอติม"ส่อแท้งกลางสภา

ล้ม = ล้ม ส.ว. เดินหน้าสภาเดี่ยว เอา ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ออกไป เพื่อใช้ระบบสภาเดี่ยว คือต่อไปไม่มีวุฒิสภาอีกเลย 
 
โละ = โละศาลรัฐธรรมนูญ และกรรมการองค์กรอิสระ เรียกว่าเซ็ตซีโร่ใหม่เลย ให้กรรมการองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญปัจจุบัน พ้นจากตำแหน่ง แล้วกำหนดที่มาตลอดจนอำนาจการตรวจสอบใหม่ 
 
เลิก = ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี / แผนปฏิรูปที่กำหนดโดย คสช. 
 
ล้าง = ล้างมรดกรัฐประหาร เช่น ยกเลิกมาตรา 279 ในรัฐธรรมนูญ ที่รับรองประกาศ คำสั่ง และการกระทำของ คสช.ทุกอย่างว่าชอบด้วยกฎหมาย ต้องล้างให้หมด และกำหนดให้การรัฐประหารเป็นความผิดที่ไม่มีอายุความ

นอกจากนั้น ยังเพิ่มอำนาจฝ่ายตรวจสอบจากประชาชนและองค์กรอื่นๆ เช่น ตั้งผู้ตรวจการกองทัพ เข้าไปพิจารณาการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ ผู้ตรวจการองค์กรอิสระ เข้าไปตรวจสอบการทำงานขององค์กรอิสระต่างๆ เป็นต้น 


ด้วยเนื้อหาที่แรงขนาดนี้ โดยเฉพาะการล้ม ส.ว. ไม่ใช่ล้มแค่ ส.ว.ชุดนี้ แต่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็น “ระบบสภาเดียว” (ทั้งๆ ที่ตลอดมาไทยมี 2 สภามาตลอด และเคยมีผู้เสนอแก้ไขให้เหลือสภาเดียว แต่ไม่เคยสำเร็จ) ทำให้เชื่อได้วว่า ร่างรัฐธรรนมูญฉบับประชาชนน่าจะถูกคว่ำ เพราะการผ่านร่างรัฐธรรมนูญในวาระแรก นอกจากจะต้องใช้เสียงข้างมากของรัฐสภาแล้ว ยังต้องมี ส.ว.เห็นชอบอีก 1 ใน 3 หรืออย่างน้อย 84 คนด้วย 

 

ที่น่าจับตา คือท่าทีของพรรคการเมืองต่างๆ ฝ่ายค้านนั้นประชุมชัดเจนไปแล้วว่าสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่รัฐบาลยังแทงกั๊ก แม้จะมีบางคนออกมาประกาศโหวตคว่ำ อย่าง คุณไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แต่ คุณนิโรธ สุนทรเลขา ประธานวิปรัฐบาล บอกว่า เป็นแค่ความเห็นของคุณไพบูลย์คนเดียว 

เปิดปัจจัยร่างรธน.ฉบับ"ไอติม"ส่อแท้งกลางสภา

ส่วนท่าทีของพลังประชารัฐ ต้องนำเสนอ “เลขาธิการพรรค” และสรุปเสนอ “หัวหน้าพรรค” เพื่อกำหนดทิศทางออกมาว่าจะลงมติกันแบบไหนดี (แต่ไม่ใช่บังคับ เพราะการลงมติเป็นเอกสิทธิ์) 

 

งานนี้มีคนแซวว่า คุณนิโรธ สรุปว่าเป็นสายตรงท่านนายกฯ ส่งเข้าไป “รุกคืบยึดพรรค” หรือกลายเป็น “คณะทำงานของ ป้อม-มนัส” ไปแล้ว 

 

แน่นอนว่า การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน น่าจะส่งผลเป็นการเพิ่มกระแสกดดันนอกสภาให้มากขึ้นอีก และอาจไปเติมเชื้อไฟให้กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และกลุ่มที่อ้างปฏิรูปสถาบันได้เหมือนกัน

logoline