svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ภูมิภาค

ภรรยาคาใจ สามีเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน

08 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ภรรยาคาใจ สามีมีอาการผิดปกติหลังฉีดวัคซีนซิโนแวค อ่อนแรง ปัสสาวะ ขับถ่ายไม่ออก นำส่ง รพ.กันทรารมย์ รอหมอตรวจ 1 คืน ทรุดฮวบสุดท้ายต้องปั๊มหัวใจและเสียชีวิต

เมื่อค่ำวานนี้ (7 พ.ย.) ที่ บ้านเลขที่ 15 บ้านโคก หมู่ที่ 5 ตำบลยาง อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ นางแหวน ศรปัญญา อายุ 65 ปี และนายทนงศักดิ์ ศรปัญญา อายุ 46 ปี บุตรชาย ได้ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ จาก รพ.สต.ยาง ที่เดินทางเข้ามาพบปะพูดคุย สอบถามปัญหาที่ยังค้างคาใจ ของภรรยา และบุตร ภายหลังจากได้ทำการฌาปนกิจศพสามีไป อันเนื่องมาจาก นายสุรัตน์ ศรปัญญา อายุ 68 ปี ผู้เป็นสามี ที่ได้รับการฉีดวัคซีนซีโนแวค ไปเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564 ที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลยาง 


ภายหลังรับวัคซีนเสร็จ ก็ได้นั่งพักเฝ้าดูอาการ ตามที่หมอสั่ง 30 นาที ก่อนที่จะเดินทางกลับมาที่บ้าน และพบว่า นายสุรัตน์ มีอาการผิดปกติ ร้อนๆ หนาวๆ ก็ได้ทานยาพารา นอนพักผ่อนตามที่หมอแนะนำหลังรับวัคซีน แต่อาการก็ไม่ทุเลาแต่อย่างใด จนในที่สุดในวันที่ 29 ตุลาคม 2564 อาการเริ่มที่จะหนัก ลูกชาย คือ นายทนงศักดิ์ ก็ได้นำ นายสุรัตน์ ไปส่งที่ รพ.กันทรารมย์ เพื่อนอนพักรับการรักษา ซึ่งมีลูกได้เฝ้าดูอาการของ นายสุรัตน์ ตลอดคืน จนรุ่งเช้าของวันที่ 30 ตุลาคม 2564 นายสุรัตน์ อาการหนัก ถ่ายไม่ออก ฉี่ไม่ได้ ร่างกายอ่อนเพลียลงอย่างมาก อ้าปากหายใจไม่ออก หมอก็ได้เข้ามาเพื่อดูแลรักษา และได้ทำการปั๊มหัวใจ ก่อนที่จะส่งต่อผู้ป่วยเข้า รพ.ศรีสะเกษ ตามระเบียบปฏิบัติ แต่รถพยาบาลเดินทางไปเพียงครู่เดียวก็ต้องกลับมา รพ.กันทรารมย์ใหม่ เพราะ นายสุรัตน์ หมดสติ ต้องนำกลับมาปั๊มหัวใจใหม่ สุดท้าย นายสุรัตน์ เสียชีวิต

ภรรยาคาใจ สามีเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน


 

นางแหวน ศรปัญญา ภรรยาผู้เสียชีวิต บอกว่า หลังจากฉีดวัคซีนสามีมีอาการวิงเวียนศรีษะ โดยเล่าให้ฟังว่าหลังจากฉีดวัคซีนมีอาการแทบจะล้มลงทันที แต่ก็แข็งใจกลับมาบ้าน อยู่ได้ 2 วันมีอาการไข้ อาเจียน แขนขาเริ่มอ่อนแรงแน่นหน้าอกและหายใจไม่ออก จึงได้โทรหาลูกให้พาพ่อไปหาหมอที่โรงพยาบาลกันทรารมย์ ไปหาหมอก็บอกว่าให้รอดูอาการ จนสามีตนเริ่มหมดแรง แต่หมอก็ยังให้นอนรอดูอาการเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ขณะที่ นายทนงศักดิ์ บุตรของนายสุรัตน์ ผู้เสียชีวิต กล่าวทั้งน้ำตา ว่า วันที่ 27 ตุลาคมผมอยู่นา แต่พ่ออยู่บ้าน เวลาพ่อออกไปนาก็จะเจอกันทุกวัน แต่พอวันที่ 29 ตุลาคม พ่อโทรหาผม บอกว่าให้มาหาพ่อหน่อย ตอนนั้นพ่อเริ่มมีอาการไม่ค่อยดีแล้ว ผมจึงรีบกลับเข้ามาบ้านเห็นสภาพพ่อ มีอาการอาเจียนอย่างรุนแรง พ่อบอกว่าเหนื่อยและเจ็บท้องมาก มีอาการท้องแข็ง ตนจึงได้พาพ่อไปโรงพยาบาลกันทรารมย์ รักษาตัวที่ห้องผู้ป่วยชาย หลังจากนั้นหมอก็ให้รอดูอาการ จากนั้นพ่อก็เริ่มมีอาการที่ไม่ค่อยดีแล้ว เริ่มมีอาการเหนื่อยลง ๆ ผมจึงเอาออกซิเจนที่หัวเตียงมาใส่ให้พ่อ แล้วก็รอเอกซเรย์ 
 

แต่หลังจากนั้นพ่อก็มีอาการตาเริ่มลอย ทรุดหนักลง หายใจอ่อนลง ๆ  จากคนที่ดี ๆ ให้ไปนอนรอดูอาการทั้งคืนขนาดนั้นเลยเหรอ ต้องขนาดนั้นเลยหรือ นอนรอตายอยู่ที่นั่น ทำไมไม่ตายอยู่ที่บ้านจะดีกว่า ผมอยากบอกว่าถ้าหน่วยงานของรัฐดูแลประชาชน คนตาดำ ๆ ยากจน ดูแลชาวบ้าน เขาป่วยเขาไข้ ให้ความเอื้ออาทรเขาสักนิดนึง ดูแลเค้าหน่อย ให้ดูอาการว่าคนนี้อยู่อาการขนาดไหนแล้ว เราจะพร้อมส่งต่อ นี่ตรวจเลือด ตรวจโควิด ตรวจหลายรอบ ตรวจอยู่นั่นแหละ คนไข้จะตายแล้ว ยังไม่ได้ไปโรงพยาบาลศรีสะเกษเลย รถมาจอดรออยู่ข้าง ๆ ตึก ยกพ่อไปขึ้นรถไม่เท่าไหร่ ก็ยกกลับมาปั๊มหัวใจใหม่ มันเกินไปไหม ผมว่ามันเกินไปไหม สำหรับเรารอทั้งคืนแล้ว และมาตายตอนเช้ามันเป็นอะไรที่รับได้หรือเปล่า ก็ถือว่ายากอยู่นะ เพราะพ่อของผมไม่เจ็บ ไม่ไข้มาก่อน แต่ที่เป็นเช่นนี้เพราะไปฉีดวัคซีนมา

ด้าน นายแพทย์ ทนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ในเคสนี้รายละเอียดมีในระบบรายงาน ยังต้องดูในระบบรายงานก่อน เพราะยังอยู่ในระหว่างการสอบสวนโรค แต่ทราบว่าเป็นคุณลุงอายุ 68 ปี ซึ่งจริง ๆ ท่านก็เคยมีประวัติเป็นโรคมะเร็งถุงน้ำดี ได้รับการผ่าตัดมาก่อน เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ซึ่งปัจจุบันก็มีอาการทั่ว ๆ ไปก็ถือว่าปกติดี คราวนี้ไปฉีดวัคซีนมาตามในรายงาน ในรายงานบอกว่าวันที่ 27 ตุลาคม พอมาวันที่ 29 ตุลาคม มีอาการปวดท้องอาเจียน และมีไข้ ได้ไปรักษาที่โรงพยาบาลกันทรารมย์ ตอนหลังก็มีอาการทรุดหนักมากขึ้น และได้ส่งต่อไปที่โรงพยาบาลศรีสะเกษ สุดท้ายก็มีรายงานว่าเสียชีวิต 

ภรรยาคาใจ สามีเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน

ซึ่งเคสนี้ถือว่าเหตุเกิดขึ้นหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้วไม่เกิน 30 วัน ก็สามารถที่จะทำตามระบบรายงาน AEFI อาการภายหลังจากได้รับวัคซีน ของกระทรวงสาธารณสุข เป็นประเภทที่หนึ่ง เราจะได้ให้ทางญาติเขียนคำร้องส่งไปที่สำนักงาน สปสช. ได้พิจารณา ซึ่งในเหตุการณ์เช่นนี้หากมีกรณีที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว มีอาการข้างเคียงภายใน 30 วันหลังจากฉีดวัคซีนโดยเฉพาะเสียชีวิตภายใน 30 วันเราจะไม่ต้องมีการพิสูจน์ทราบ ถ้าสาเหตุการเสียชีวิตจริง ๆ เกิดจากอะไรก็ให้เข้าสู่ระบบรายงานตรงนี้ ซึ่งหลังจากรายงานไปแล้วจะมีการเขียนคำร้องโดยญาติของผู้ที่เสียชีวิต หลังจากฉีดวัคซีนก็ผ่านมาทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และเราจะส่งข้อมูลไปให้ทางคณะกรรมการของสำนักงาน สปสช. ได้พิจารณาก็จะมีเงินเยียวยา หากผ่านคิดเห็นของคณะกรรมการมาแล้ว ทาง สปสช. ก็จะมีเงินเยียวยา 400,000 บาท ให้กับญาติผู้เสียชีวิตต่อไป     

โดย - พงษ์พัฒน์ ไตรพิพัฒน์ 

 

logoline