svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ภูมิภาค

ชาวนาลุ่มน้ำชีร้อยเอ็ด ลอยคอเกี่ยวข้าวหนีน้ำท่วม

05 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ชาวนาลุ่มน้ำชีเมืองร้อยเอ็ดเดือดร้อนหนัก น้ำท่วมข้าวในนา ต้องลุยเกี่ยวข้าวหนีน้ำ เพื่อหวังพอได้ผลผลิตเยียวยา ด้านนักพัฒนาระบุ น้ำท่วมเพราะสร้างเขื่อนกั้นน้ำชี หากไม่มีเขื่อนน้ำจะไม่ท่วมหนักขนาดนี้

4  พฤศจิกายน  2564 ชาวนาลุ่มน้ำชีบ้านดอนแก้ว ตำบลบึงงาม อำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด ได้เกี่ยวข้าวหนีน้ำท่วม เนื่องจากปริมาณน้ำได้เพิ่มระดับขึ้นและไหลเข้าท่วมพื้นที่นาที่กำลังเหลืองพร้อมเกี่ยวเนื่องจากเป็นพันธ์ข้าวดอหรือข้าวไวแสง แต่มวลน้ำชีได้ไหลเอ่อเข้าท่วมที่นาทำให้ชาวบ้านต้องลอยคอเกี่ยวข้าวหนีน้ำท่วม 


    นางอมรรัตน์ วิเศษหวาน อายุ 58  ปี ชาวนาบ้านดอนแก้ว กล่าวว่า  น้ำชีเริ่มเข้าท่วมพื้นที่นาประมาณเกือบ 10  ไร่ และพื้นที่นาข้างเคียงอีกหลายไร่ เป็นเวลาเกือบเดือนแล้ว ข้าวที่เกี่ยวเป็นข้าวดอไวแสงจะสุกเร็วกว่าตอนนี้ใช้เวลาเกี่ยวสามวันแล้วยังไม่ได้ถึงไร่เพราะต้องลุยน้ำที่สูงระดับอกและระดับเอวเกี่ยวข้าวใส่เรือแล้วต้องนำไปตากให้แห้ง ซึ่งในพื้นที่ฝนตกไม่มากแต่น้ำได้ไหลมาจากพื้นที่ทางชัยภูมิ ขอนแก่น จนมาเริ่มเอ่อท่วมพื้นที่นา ส่วนที่ไม่ใช่ข้าวดอก็จะเป็นข้าวที่กำลังออกรวงและบางพื้นที่ก็เป็นข้าวที่กำลังท้องแต่น้ำมาท่วมทำให้เสียหาย ส่วนสาเหตุของน้ำท่วมเกิดจากการสร้างเขื่อนขวางกั้นแม่น้ำชีโดยเฉพาะเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร ที่ทำให้น้ำได้ท่วมเอ่อพื้นที่การเกษตร ซึ่งคาดว่าอีกเดือนกว่าน้ำจะลดไหม

 

ชาวนาลุ่มน้ำชีร้อยเอ็ด ลอยคอเกี่ยวข้าวหนีน้ำท่วม


    ด้านนายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง กล่าวว่า ได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่อย่างใกล้ชิดและมองว่าสาเหตุของปัญหาน้ำท่วมเกิดจาก  .การสร้างเขื่อนขวางกั้นแม่น้ำชี ภายใต้โครงการโขง ชี มูล ซึ่งในแม่น้ำชีมีเขื่อนทั้งหมด 6  ตัว ประกvบไปด้วย เขื่อนชนบท เขื่อนมหาสารคาม เขื่อนวังยาง เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย ซึ่งต้องเข้าใจว่าแม่น้ำชีจะทำหน้าที่ในการพร่องน้ำตามธรรมชาติโดยการรองรับน้ำจากลำน้ำเสาขา เช่น ลำน้ำพอง ลำน้ำปาว และลำน้ำยัง ในช่วงของการไม่มีเขื่อน แต่พอมีเขื่อนสร้างขวางกั้นแม่น้ำชีกลับทำให้พบปัญหาตามาคือ น้ำเอ่อท่วมพื้นที่ทำการเกษตรนานผิดปกติ ฝนไม่ตกน้ำก็เอ่อท่วม และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางการไหลของน้ำ ตลอดจนทำลายพื้นที่ความมั่นทางอาหาร เช่น มันแซง เห็ดผึ้งทาม ปลา ลดจำนวนลง 

 

ชาวนาลุ่มน้ำชีร้อยเอ็ด ลอยคอเกี่ยวข้าวหนีน้ำท่วม

นอกจากนั้นยังมีปัญหาโครงสร้างของเขื่อน เมื่อสร้างเขื่อนเสร็จแล้วก็จะมีพนังกั้นน้ำเพื่อบังคับน้ำให้ไหลไปทิศทางเดียวโดยเข้าหน้าเขื่อน แต่ปัจจุบันปรากฏการณ์ของน้ำท่วมพบว่าพนังที่เป็นโครงสร้างของเขื่อนไม่สามารถที่จะกั้นน้ำเข้าออกได้ แต่กลับสร้างปัญหาให้กับชาวนาลุ่มน้ำชีต้องอยู่ในพื้นที่เสี่ยง เพราะพนังกั้นน้ำถูกน้ำกัดเซาะพังหลายพื้นที่ทำให้น้ำทะลักท่วมทั้งในพนังและนอกพนังกั้นน้ำท่วม เช่น พื้นที่จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด 

    การบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ไม่ประเมินปริมาณน้ำที่เกิดจากพายุเข้าในช่วงต้นแม่น้ำชีหรือที่จังหวัดชัยภูมิ และพร่องน้ำต้นทุนในแต่ละเขื่อนออกเพื่อเตรียมรองรับน้ำใหม่ ไม่เฉพาะแค่เขื่อนในแม่น้ำชีแต่ยังมีเขื่อนขนาดใหญ่อีก เช่น เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนอุบลรัตน์ ที่ต้องทยอยระบายน้ำผ่านลำน้ำพองก่อนไหลลงแม่น้ำชี ดังนั้นถือว่าเป็นความผิดพลาดของการบริหารจัดการน้ำที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรและวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำชี
    

ชาวนาลุ่มน้ำชีร้อยเอ็ด ลอยคอเกี่ยวข้าวหนีน้ำท่วม

โดย  - ศูนย์อีสาน 

logoline