svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

อดีตปลัดพลังงาน ชงเลิกเพดานดีเซล 30 บาทให้ประชาชนยอมรับ 34 บาท

03 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อดีตปลัดพลังงาน เสนอเลิกเพดานดีเซล 30 บาทให้ประชาชนยอมรับ 34 บาท และลดภาษีน้ำมันดีเซลลงอีก 2 บาท ขณะที่กระทรวงพลังงานเตรียมรายงานบิ๊กตู่ กู้เงิน 2 หมื่นล้านบาทเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมัน เพื่อตรึงราคาดีเซลถึง เม.ย. 65

     วันนี้ (2 พ.ย.) สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จัดงานเสวนา "เจาะลึกราคาน้ำมันไทย แพงจริงหรือ?" โดย นายคุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และอดีตปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวตอนหนึ่งว่า ไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบเป็นหลัก เนื่องจากแหล่งผลิตในประเทศค้นพบต่ำ ส่วนใหญ่เป็นก๊าซธรรมชาติ ทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกในไทยสะท้อนตามทิศทางราคาโลก ที่ผ่านมารัฐได้ดูแลอย่างต่อเนื่อง อยากให้ประชาชนเข้าใจ และเห็นว่า ระยะต่อไปควรยกเลิกเพดานราคาน้ำมันดีเซล ที่ใช้มานานถึง 15 ปี ที่ 30 บาทต่อลิตรเป็น 34 บาทต่อลิตร ให้สอดคล้องกับเงิน

     รวมถึงควรปรับลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลง 2 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่ 5.99 บาทต่อลิตร รวมทั้งปรับลดการผสมไบโอดีเซลลงเหลือ 5% จากที่กำหนดไว้ 7-10% เพื่อช่วยลดภาระของการใช้เงินจากกองทุนน้ำมัน

อดีตปลัดพลังงาน ชงเลิกเพดานดีเซล 30 บาทให้ประชาชนยอมรับ 34 บาท
 

     ขณะที่ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 5พ.ย.นี้ จะรายงานแนวทางบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพประชาชนจากน้ำมันแพงทั้งการกู้เงินภายใต้ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ที่ให้สิทธิกู้ได้ไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท นำมาเสริมสภาพคล่องเพื่อตรึงราคาดีเซล ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร จนถึง เม.ย. 65 จากนั้นจึงจะเสนอ ครม.อนุมัติต่อไป พร้อมกันนี้ยังเสนอขอลดเงินนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงานจาก 10 สตางค์ต่อลิตร เหลือ 5 สตางค์ต่อลิตรเป็นเวลา 1-2 ปี เพื่อช่วยลดผลกระทบราคาน้ำมันแพงประกอบด้วย หากเงิน 2 หมื่นล้านบาทหมด จะกู้ได้อีกก็จะต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาขยายวงเงินกู้ต่อไป

     ส่วนการดูแลราคาก๊าซ LPG ที่ตรึงราคาไว้ 318 บาทต่อถัง (15กก.)ที่ขยายการตรึงไปถึง ม.ค. 65 ต้องใช้เงินเพิ่มอีกประมาณ 2,000 กว่าล้านบาท จากปัจจุบันเงินดังกล่าวได้ถูกแยกบัญชีมาเป็นบัญชีแอลพีจีติดลบแล้วกว่า 1.88 หมื่นล้านบาท จะเสนอ ครม. อนุมัติกู้เงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทจากกระทรวงการคลัง เพราะเข้าข่ายการช่วยเหลือจากผลกระทบโควิด-19 ขณะที่ข้อเสนอให้ตรึงดีเซล 25 บาทต่อลิตรนั้น หากพิจารณาจากราคาขายปลีกดีเซลปัจจุบันอยู่ 32-34 บาทต่อลิตร ทุก 2 บาทต่อลิตรกองทุนน้ำมันฯต้องอุดหนุนถึง 3,000 ล้านบาท เท่ากับเงินที่กู้มา 2 หมื่นล้านบาทไม่พอ และย้อนหลังที่ผ่านมาทุกรัฐบาลก็จะตรึงดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร
 

นายคุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และอดีตปลัดกระทรวงพลังงาน

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน 

     ด้าน นายดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความต้องการน้ำมันที่สูงขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก  การเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว , หรือการเปิดประเทศ รวมถึงการเก็งกำไรของกองทุน (เฮดฟันด์) ต่างๆ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกไตรมาส 4 ปีนี้ จนถึงไตรมาส 1ปี 65 จะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 80-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และมีสิทธิจะมีการขยับขึ้นไปถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ได้กรณีปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นมีแนวโน้มที่ขยับไปในทางที่เป็นบวก ดังนั้นน้ำมันดิบเฉลี่ยปี 2564จะอยู่ที่ 67-69 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลขณะที่ปี 65 คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 75-85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ดังนั้นต้องติดตาม การประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน(โอเปกพลัส) 23 ประเทศ 4 พ.ย.ใกล้ชิด

     นายพรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า หากลดราคาน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท ซึ่งปัจจุบันใช้น้ำมันดีเซลวันละ 60 ล้านลิตร เงินภาษีของรัฐจะหายไปเดือนละประมาณ  10,000 ล้านบาทหรือปีละ 120,000 ล้านบาท คิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้สรรพสามิตจากน้ำมันดังนั้นส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรจะดำเนินการทั้งหมดแต่หากจะบรรเทาผลกระทบระยะสั้นสามารถลดได้ 1-2 บาทต่อลิตรก็น่าจะเพียงพอ
 

อดีตปลัดพลังงาน ชงเลิกเพดานดีเซล 30 บาทให้ประชาชนยอมรับ 34 บาท

logoline