svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ก.คลัง โต้ข่าวรีดภาษีน้ำมัน 45% ชี้ไทยเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่ำสุดในภูมิภาค

26 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ก.คลัง โต้ข่าวรีดภาษีน้ำมัน 45% ชี้ประไทยเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำสุดในภูมิภาค ขณะที่ประเทศในกลุ่ม OECD สูงกว่าไทยเกือบ 3 เท่า

     วันนี้ (26 ต.ค.) นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ชี้แจงกรณีกระแสข่าวประเทศไทยเก็บภาษีน้ำมัน 45% ว่า ปัจจุบันโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงแบ่งออกเป็น 6 องค์ประกอบ ได้แก่ 1.ราคาหน้าโรงงาน ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ 2.ภาษีสรรพสามิตที่อัตราประมาณ 0.975 ถึง 6.5 บาทต่อลิตร ขึ้นกับประเภทน้ำมัน ซึ่งจัดเก็บบนหลักการด้านสิ่งแวดล้อม 3.ภาษีเพื่อส่วนราชการท้องถิ่นที่ 10% ของภาษีสรรพสามิต เพื่อเป็นรายได้ท้องถิ่นในการจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะแก่ประชาชนในพื้นที่

     4.ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ซึ่งเป็นการจัดเก็บสินค้าเกือบทุกประเภท 5.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่จัดเก็บประมาณ -17.6143 ถึง 6.58 บาทต่อลิตร ขึ้นกับประเภทน้ำมัน ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการรักษาเสถียรภาพของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ และ 6.ค่าการตลาดซึ่งเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ

     ทั้งนี้ หากพิจารณาจากโครงสร้างราคาน้ำมันจะพบว่า สัดส่วนที่ได้มีการกล่าวอ้างว่า การเก็บภาษีและเงินกองทุนของภาครัฐสูงถึง 45% ของราคาน้ำมันต่อลิตรที่ประชาชนจ่ายนั้น จะพบว่าเป็นการนำสัดส่วนของราคาน้ำมันเบนซินปกติ (ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้ในสัดส่วนที่น้อย และเป็นการใช้สำหรับรถยนต์ที่มีราคาสูง) มาอ้างใช้กับน้ำมันทุกประเภทจะเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง

     เพราะหากเป็นน้ำมันประเภทอื่นเช่น เบนซินแก๊สโซฮอล ดีเซล LPG เป็นต้น สัดส่วนของภาษีและเงินกองทุนจะอยู่ในสัดส่วนเพียง 6-23% เท่านั้น และในน้ำมันบางประเภท เช่น เบนซิน 95 E85 และ LPG สัดส่วนการเก็บภาษีและเงินกองทุนติดลบ เนื่องจากได้รับการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมัน
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

     ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากสินค้าพลังงานเป็นแนวปฏิบัติที่เป็นสากล เนื่องจากการบริโภคสินค้าพลังงานสร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ดังนั้น เพื่อให้ราคาของสินค้าพลังงานสามารถสะท้อนผลกระทบและต้นทุนที่จะเกิดขึ้นจากการบริโภคสินค้าพลังงานต่อเศรษฐกิจและสังคม รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากสินค้าพลังงานเพิ่มเติม โดยหากวิเคราะห์ในภูมิภาคอาเซียน เกือบทุกประเทศต่างมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากสินค้าพลังงานแล้วทั้งสิ้น ราคาสินค้าพลังงานของประเทศไทยอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน

     และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่ม OECD จะพบว่า อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเฉลี่ยของกลุ่ม OECD สูงกว่าอัตราจัดเก็บจริงของประเทศไทยเกือบ 3 เท่า หรืออยู่ที่ 19.3% ดังนั้น การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 7% ของมูลค่าสินค้าและบริการ จึงอาจไม่เป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนที่สูงเกินกว่าประเทศอื่นๆ ในโลก

ก.คลัง โต้ข่าวรีดภาษีน้ำมัน 45% ชี้ไทยเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่ำสุดในภูมิภาค
 

     นายพรชัย กล่าวต่อว่า การจัดเก็บภาษีทั้งภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มต่างเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัฐ โดยในปีงบประมาณ 63 สัดส่วนภาษีสรรพสามิตและภาษี VAT คิดเป็นเกือบ 40% ของรายได้รัฐบาลรวม ดังนั้น การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มจึงเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่รัฐบาลจะสามารถนำมาใช้ในการบริหารประเทศและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ ได้ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและการค้าขายและลดต้นทุนการขนส่ง การดำเนินมาตรการส่งเสริม SMEs การดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 การให้บริการด้านสาธารณสุข เป็นต้น

ก.คลัง โต้ข่าวรีดภาษีน้ำมัน 45% ชี้ไทยเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่ำสุดในภูมิภาค

logoline