svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

ป.ป.ส. เร่งจับกุมกาแฟผสมยาอีที่กำลังระบาดในโซเชียล

02 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ป.ป.ส. เร่งจับกุมกาแฟผสมยาอีที่กำลังระบาดในโซเชียล ชี้เป็นเพียงวิธีการปกปิดอำพรางของนักค้ายาเสพติด พร้อมเตือนเสพ “ยาอี” ผสมยากล่อมประสาท มีอันตรายถึงชีวิต

     วันนี้ (2 พ.ย.) นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) ชี้แจงถึงกรณีเพจดัง drama – addict  และหมอแล็บแพนด้าเตือนผู้ปกครองเรื่องกาแฟผสมยาอีที่กำลังระบาดฮิตกันอยู่ ในหมู่วัยรุ่นและ Tiktok  ที่กำลังเป็นปัญหาน่ากังวลในขณะนี้ว่า ตนได้สั่งการให้ ป.ป.ส. ตรวจสอบแล้ว พบว่า บัญชีผู้ใช้รายหนึ่ง โพสต์ขายยาเสพติดในข้อความดังกล่าวข้างต้น เมื่อวันที่ 27 ต.ค. ที่ผ่านมา

     โดยอ้างว่า ภายในซองกาแฟดังกล่าวนั้นเป็นยาอีผงบดผสมกับไฟว์ ไฟว์(five-five) หรืออิริมินไฟว์ (Erimin 5) และยาเสพติดชนิดอื่นนำมาผสมรวมกัน จำหน่ายในราคาซองละ 3,000 บาท โดยอ้างสรรพคุณว่าจะให้ผลการออกฤทธิ์หรือมึนเมาได้มากกว่าการเสพยาอีเพียงอย่างเดียว ในส่วนการบรรจุด้วยซองกาแฟนั้น เป็นเพียงวิธีการปกปิดอำพรางทั่วไปของนักค้ายาเสพติด และเพื่อความสะดวกในแบ่งหน่วยจำหน่าย ไม่ได้มีนัยยะสำคัญอะไรมากนัก

นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

     สำหรับในกรณีนี้ ทางสำนักงาน ป.ป.ส. ได้สืบสวนจนทราบตัวเจ้าของบัญชีโพสต์ขายยาเสพติดแล้วกำลังเร่งสืบสวนขยายผลเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายต่อไป และขอเตือนว่ากรณีดังกล่าว “เป็นความผิดฐาน “โฆษณายาเสพติดให้โทษ” ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 48 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 - 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     หากมีการซื้อขายตามที่โพสต์ ผู้โพสต์จะมีความผิดฐาน “จำหน่าย” ส่วนผู้ซื้อ จะมีความผิดฐาน “ครอบครอง” และหากส่งไปยังผู้ซื้อในต่างประเทศก็จะมีความผิดฐาน “ส่งออก” อีกทั้ง สำนักงาน ป.ป.ส. อยู่ระหว่างส่งเรื่องดังกล่าวให้กระทรวง DES เพื่อระงับการเผยแพร่โฆษณาดังกล่าว

ป.ป.ส. เร่งจับกุมกาแฟผสมยาอีที่กำลังระบาดในโซเชียล

ป.ป.ส. เร่งจับกุมกาแฟผสมยาอีที่กำลังระบาดในโซเชียล

     สำหรับยาไฟว์ ไฟว์ หรืออิริมินไฟว์ เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในกลุ่มยากล่อมประสาท เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2552 ออกฤทธิ์รุนแรง จึงต้องมีการควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด ทั้งนี้ การจำหน่ายยาเสพติดในลักษณะดังกล่าว จะใกล้เคียงกับกรณีการค้า “ยาเคนมผง” ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ที่เคยเป็นข่าวโด่งดังเมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา

     โดยเป็นการนำวัตถุออกฤทธิ์กลุ่มยานอนหลับ ไปบดเป็นผง และผสมกับยาเสพติดบางชนิด เช่น เฮโรอีน และคีตามีน หรือบางรายก็ไม่ผสมยาเสพติดชนิดใดๆ เลย จากนั้นประกาศจำหน่ายในราคาซองละ 3,000 บาท โดยอ้างว่าเป็นยาเสพติดชนิดใหม่ ที่ออกฤทธิ์รุนแรงกว่าเดิม และมีผู้เสพซื้อไปเสพ ส่งผลให้เสียชีวิตหลายรายในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามที่ปรากฏเป็นข่าว  

ป.ป.ส. เร่งจับกุมกาแฟผสมยาอีที่กำลังระบาดในโซเชียล

logoline