svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

ไพบูลย์โมเดล “สลายตัวประกอบร่าง”:รักษ์ มนตรี

21 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศาลรัฐธรรมนูญ เสียข้างมาก ลงมติ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ไม่พ้น ส.ส. กรณีเลิกพรรคประชาชนปฏิรูป ไม่ขัดข้อบังคับพรรค รัฐธรรมนูญคุ้มครองส.ส. ให้เข้าสังกัดพรรคใหม่ภายใน 60 วัน นี่กำลังจะเป็นโมเดลยุบพรรคเล็กซบพรรคใหญ่ ในห้วงที่ใกล้จะเลือกตั้ง ตามกติกาใหม่

กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ กรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป และ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคประชาชนปฏิรูป สมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หลังจากที่พรรคประชาชนปฏิรูป สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรค มาตรา 91 วรรคหนึ่ง (7)

 

นายไพบูลย์ นำพรรคประชาชนปฏิรูปเข้าเส้นชัย ในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 มีคะแนนดิบจากโหวตเตอร์ 45,508 คะแนน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศให้ นายไพบูลย์ เป็น ส.ส.1 ที่นั่งของพรรคประชาชนปฏิรูป จากสูตรการคิดคำนวณส.ส. “แบบปัดเศษ” ของรัฐธรรมนูญ 2560

 

5 สิงหาคม 2562 นายไพบูลย์ แจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ว่า ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคประชาชนปฏิรูป วันที่ 4 สิงหาคม 2562 ขอเลิกพรรคการเมือง ตามข้อบังคับพรรค เนื่องจากผู้สมัครส.ส. เมื่อไม่ได้เป็น ส.ส.มีภารกิจที่ต้องทำ จึงลาออกไปหลายคน ดังนั้นหากปล่อยไปอีกไม่นานก็ต้องผิดกฎหมาย พรรคจะถูกเลิก

 

6 กันยายน 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ประกาศให้พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพ

 

ประเด็นนี้เอง มีความเห็นและถกเถียงกันเป็น 2 ทาง ระหว่าง “ทำได้” หรือ “ทำไม่ได้” 

ถ้าดูตาม รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ มาตรา 99 บัญญัติว่า “อายุของสภาผู้แทนราษฎร มีกำหนดคราวละสี่ปี นับแต่วันเลือกตั้ง ในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎร จะมีการควบรวมพรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมิได้”

 

ส่วนกฎหมายรอง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 หมวด 9 การควบรวมพรรคการเมือง มาตรา 96 บัญญัติว่า “ในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎร จะมีการควบรวมพรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็นสภาผู้แทนราษฎรมิได้” 

 

เจตนารัฐธรรมนูญ มาตรา 99 และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 96 คือ ไม่ให้พรรคใหญ่ ซื้อพรรคเล็ก เพื่อทำให้พรรคของตนมี ส.ส. มากขึ้น และป้องกันไม่ให้พรรคเล็ก แสวงหาประโยชน์ โดยยุบรวมพรรคตัวเองหากได้อามิสสินจ้าง

 

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องของ ส.ส.60 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายไพบูลย์ ที่สมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และรับตำแหน่งรองหัวหนาพรรคพลังประชารัฐ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (10) ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่ 

 

สรุปคือคำร้อง ไม่ได้อ้างถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 99 และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 96 

20 ตุลาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย ประเด็นที่ 1.สมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ของนายไพบูลย์ ไม่สิ้นสุดลงเนื่องจากเมื่อตรวจสอบมติการสิ้นสภาพการเป็นพรรคการเมือง ของพรรคประชาชนปฏิรูป แล้ว พบว่า เป็นไปโดยชอบตามข้อบังคับพรรค และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) พรรคการเมือง

 

ประเด็นที่ 2 ผู้ร้องอ้างว่า มติให้พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพ มีวาระซ่อนเร้น กลับไม่พบว่ามีพยานหลักฐานสนับสนุนตามที่กล่าวอ้าง และเมื่อพรรคประชาชนปฏิรูป สิ้นสภาพการเป็นพรรคการเมืองไปแล้ว นายไพบูลย์ ซึ่งเป็น ส.ส. ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญในการที่จะหาพรรคการเมืองอื่นสังกัดภายใน 60 วัน

 

ประเด็นที่ 3 ที่ผู้ร้องอ้างว่า นายไพบูลย์ เป็นหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป จะต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ชำระบัญชีให้แล้วเสร็จ ตามที่มาตรา 95 พ.ร.ป.พรรคการเมือง นั้น ศาลฯ เห็นว่ามาตราดังกล่าวกำหนดหน้าที่ที่หัวหน้าพรรคของพรรคที่สิ้นสภาพต้องปฏิบัติ จนกว่าชำระบัญชีแล้วเสร็จ โดยมีหน้าที่ให้ข้อมูล เอกสารต่าง ๆ เพี่อดำเนินการชำระบัญชีให้แล้วเสร็จใน 180 วัน และห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในฐานะหัวหน้าพรรคที่สิ้นสภาพ แต่ไม่ห้ามดำเนินกิจกรรมในนามพรรคการเมืองอื่น

 

ประเด็นที่ 4 ผู้ร้องอ้างว่า นายไพบูลย์ ไม่ได้เป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ มาก่อน ศาลฯ เห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 90 กำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจัดทำบัญชีรายชื่อ และการได้มาซึ่งสมาชิก ส.ส. โดยมีวัตถุประสงค์ใช้บังคับกับการเลือกตั้ง และก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นคนละวัตถุประสงค์กับ มาตรา 91 (1) และ (4) ที่กรณีของนายไพบูลย์ เกิดขึ้นภายหลังได้รับการเลือกตั้งแล้ว

 

ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า สถานะของ นายไพบูลย์ ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (10) ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5)

 

ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยประเด็น “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (10) ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 91 วรรคสี่ ที่บัญญัติให้ถือว่า การสิ้นสภาพพรรคการเมืองตามมาตรานี้เป็นเป็นการถูกยุบพรรคการเมืองโดยมีเจตนารมณ์ เพื่อคุ้มครองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากรรคการเมืองสิ้นสภาพนั้นไป อันเป็นหลักการเดียวกับการคุ้มครองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของพรรคการเมืองที่ถูกยุบ จึงเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน 60 วัน นับแต่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองได้...” 

 

สำหรับนายไพบูลย์ เมื่อเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เป็น “หมาก” ตัวสำคัญ ที่ “รุก” ให้ “4 กุมาร” มีอันต้องพ้นจากพรรคพลังปรชารัฐ ไป

 

กล่าวคือ 1 มิถุนายน 2563 นายไพบูลย์ เป็น 1 ใน 18 กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ที่ลาออก เปิดเกมเขี่ย “4 กุมาร” ที่มี นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารพรรค สิ้นสุดทั้งคณะ รวมถึง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวใจต้องพ้นจากตำแหน่งในพรรค และตำแหน่งรัฐมนตรี พ้นชายคาทำเนียบรัฐบาล

 

กรณีของนายไพบูลย์ กลายเป็นโมเดล ให้พรรคเล็กสลายตัว ไปประกอบร่างรวมพรรคใหญ่ ในห้วงที่กำลังจะมีการแก้ไขกฎหมายเลืกตั้งใหม่ ซึ่งอาจจะไม่มีระบบส.ส.ปัดเศษ ไม่เอื้อให้พรรคเล็กมีเก้าอี้ส.ส.ในสภาฯ เหมือนเช่นเดิม

logoline