svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เครือข่ายเภสัชฯ รวมตัวค้านบุหรี่ไฟฟ้า ทำลายสุขภาพประชาชน

18 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย จับมือเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม ค้านแนวคิดที่รัฐจะผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมาย

จากกรณี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส มีแนวคิดศึกษากฎหมาย หนุนดึงบุหรี่ไฟฟ้าเข้าระบบให้เป็นสินค้าที่มีกฎหมายควบคุม มองผลระยะยาวลดอันตรายให้กับนักสูบที่ไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ ช่วยเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบมีช่องทางรายได้ใหม่จากการส่งผลผลิตให้โรงงานผลิตบุหรี่ไฟฟ้า อีกทั้งปิดช่องภาษีรั่วไหลจากการลักลอบนำเข้า 

 

ล่าสุด เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมเพื่อการควบคุมยาสูบ, มูลนิธิเภสัชกรรมชุมชน, สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย), สมาคมเภสัชกรรมการตลาด (ประเทศไทย) และชมรมร้านขายยาแห่งประเทศไทย   คัดค้านแนวคิดที่รัฐจะผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมาย โดยมีรายละเอียดระบุว่า 

1. ในควันบุหรี่ไฟฟ้าบางชนิดมีสารเคมีถึง 56 ชนิด ที่พบในระดับที่สูงกว่าควันบุหรี่ธรรมดา ซึ่งพบมีสารเคมี 22ชนิดที่มีระดับสูงกว่าบุหรี่ธรรมดาถึง 200 % และ 7 ชนิด ที่มีระดับสูงกว่าบุหรี่ธรรมดาถึง 1,000 % โดยที่สารเคมีดังกล่าวบางตัวไม่พบในบุหรี่ธรรมดา ดังนั้น บุหรี่ไฟฟ้ายังคงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำลายสุขภาพประชาชน ทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาความเจ็บป่วยที่จะตามมา

 

เครือข่ายเภสัชฯ รวมตัวค้านบุหรี่ไฟฟ้า ทำลายสุขภาพประชาชน

 

2.  การให้เลิกบุหรี่ในประเทศไทยมีหลายช่องทางที่จะทำให้ผู้ติดบุหรี่สามารถเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ ได้แก่ การรับบริการจากเครือข่ายเภสัชกรร้านยาอาสาพาเลิกบุหรี่ที่มีทั่วประเทศ คลินิกฟ้าใสที่มีในโรงพยาบาล บริการ 1600 และเครือข่ายวิชาชีพอื่นๆ อีกมากมาย ประกอบกับการให้บริการเลิกบุหรี่มีการใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ที่ไม่มีพิษภัยช่วยอยู่แล้วและส่วนหนึ่งก็ไม่ต้องใช้ยา โดยไม่จำเป็นต้องใช้บุหรี่ไฟฟ้าในการช่วยเลิกบุหรี่ และจากงานวิจัยมากมายพบว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่สามารถทำให้เลิกบุหรี่ได้สำเร็จอีกทั้งจะติดบุหรี่ไฟฟ้าตามมา ซึ่งการได้รับนิโคตินติดต่อกันนานๆนั้นเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

เครือข่ายเภสัชฯ รวมตัวค้านบุหรี่ไฟฟ้า ทำลายสุขภาพประชาชน

 

3. บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้น โดยการโฆษณาและการส่งเสริมการขายทางการตลาดที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงเป็นลักษณะของการมอมเมาเยาวชนให้หลงผิดและติดยาเสพติดตามมา และคนที่ติดบุหรี่แล้ว ส่วนใหญ่เลิกไม่ได้ แม้อยากเลิก จึงทำลายสุขภาพของคนไทยมากขึ้นในระยะยาว

 

4.  บุหรี่ไฟฟ้าสามารถเพิ่มการกระจายเชื้อโควิด-19 ไปสู่คนใกล้ชิดได้ จึงส่งผลต่อการเพิ่มการระบาดของเชื้อโควิด-19 

 

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์  ร่วมกับคณะแพทย์จากราชวิทยาลัย 14 แห่ง เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพ และสมาพันธ์เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพ ได้ออกแถลงการณ์คัดค้าน  การศึกษาเพื่อผลักดันให้ “บุหรี่ไฟฟ้า” ถูกกฎหมาย โดยให้เหตุผลว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพเช่นกัน 

logoline