svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ผู้ว่าฯอัศวิน สั่งรับมือ “เขื่อนป่าสัก” ระบายน้ำเฝ้าระวัง 7 เขตริมเจ้าพระยา

01 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผู้ว่าฯอัศวิน สั่ง 7 เขต ริมเจ้าพระยา เตรียมรับมือการระบายน้ำ “เขื่อนป่าสัก”ส่งผลกระทบ ชัยนาท-กทม. ช่วง 1-5 ต.ค.

 

จากการแจ้งเตือน ของกรมชลประทาน   เรื่อง แผนปรับเพิ่มการระบายน้ำ เรื่องจากสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา โดยเพิ่มการระบายน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา ใน อัตรา 2,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมถึง  การระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ในอัตรา 900-1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยปริมาณน้ำดังกล่าวต้องไหลผ่านเขื่อนพระรามหก  ส่งผลกระทบในช่วงวันที่ 1-5 ต.ค.64 ตั้งแต่จังหวัดชัยนาทลงมารวมถึงกรุงเทพมหานคร ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น

 

 

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ และบรรเทาความเดือดร้อน ผู้ว่าฯ กทม.มีหนังสือสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสำนักงานเขตที่มีชุมชนอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ เตรียมวัสดุ อุปกรณ์และเข้าช่วยเหลือประชาชน  ที่ได้รับผลกระทบ เช่น การจัดทำคันกั้นน้ำชั่วคราวกระสอบทราย,การทำสะพานทางเดินชั่วคราว ฯ การช่วยเหลือประชาชนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ตลอดจนแจกจ่ายยารักษาโรค พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมทราบเป็นระยะ

 

ตรวจสอบแนวป้องกันน้ำ

ส่วนของสำนักการระบายน้ำ ให้ติดตามสถานการณ์น้ำใกล้ชิดและต่อเนื่อง พร้อมทั้งตรวจสอบความแข็งแรงและจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 7 จนถึงบางนา ความยาวประมาณ 78.93 กิโลเมตร , เรียงกระสอบทรายในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวรและบริเวณแนวป้องกันที่มีระดับต่ำ รวมทั้งตรวจสอบความพร้อมของสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา 97 สถานี และบ่อสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังประจำจุด เครื่องสูบน้ำสำรอง เรือผลักดันน้ำ ตลอดจนเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วนเคลื่อนที่ (BEST) และอุปกรณ์ให้พร้อม24 ชั่วโมง

ปัจจุบัน กทม.มีชุมชนที่อาศัยอยู่นอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา 11 ชุมชน 239 ครัวเรือน ในพื้นที่ 7 เขต ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากน้ำท่วม ประกอบด้วย เขตดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา บางกอกน้อย และเขตคลองสาน ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนชุมชนและให้เตรียมขนย้ายสิ่งของให้อยู่ในที่สูง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนหากเกิดปัญหาระดับน้ำขึ้นสูง 

ประธานคณะกรรมการการระบายน้ำ ประจำสภากรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม (Pipe jacking) ถนนพหลโยธิน บริเวณแยกเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันได้เปิดใช้งานแล้ว  จะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในถนนสายหลัก เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ  บริเวณถนนพหลโยธินและพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนงานก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank) รัชวิภา บริเวณสวนสาธารณะ  ใต้สะพานข้ามแยกถนนรัชดาภิเษกตัดถนนวิภาวดี ปัจจุบันงานก่อสร้างได้ผลงาน 81%

ขณะที่โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันได้เปิดใช้งานแล้ว จะช่วยเร่งระบายน้ำในคลองบางซื่อออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรง เพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำให้ดียิ่งขึ้น

logoline