svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

ราชทัณฑ์ มอบสำเนาการรักษา "บุ้ง ทะลุวัง" ให้ทีมทนาย เผยเริ่มกินอาหาร 13 เม.ย.

ราชทัณฑ์ มอบสำเนาประวัติการรักษา "บุ้ง ทะลุวัง" ให้ทีมทนายความแล้ว แจงข้อมูลเริ่มรับประทานอาหารตั้งแต่ 13 เม.ย.67 อาการดีขึ้นโดยลำดับ ก่อนเกิดอาการหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน

20 พฤษภาคม 2567 ความคืบหน้ากรณี นางสาววีรดา คงธนกุลโรจน์ หนึ่งในทีมทนายความที่ได้รับมอบอำนาจจากครอบครัว นางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือ "บุ้ง ทะลุวัง" เดินทางมาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพื่อขอประวัติการรักษานางสาวเนติพรย้อนหลัง 5 วัน ก่อนเสียชีวิต ซึ่งทางราชทัณฑ์แจ้งเลื่อนมอบประวัติการรักษามาแล้วถึง 7 ครั้ง  

ทั้งนี้ในช่วงเช้าที่ผ่านมา นางสาววีรดา ระบุว่า เคยแจ้งกับทางราชทัณฑ์ไว้แล้วว่าได้รับมอบอำนาจจากครอบครัวนางสาวเนติพรให้มารับเอกสารตามที่แจ้งไว้ แต่พอมาถึงเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ถามถึง พี่สาวของนางสาวเนติพร และแจ้งว่า หนังสือรับมอบอำนาจไม่ถูกต้องตามที่แจ้ง ซึ่งตนยืนยันว่าไม่ใช่คนอื่น ตนเป็นผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากพี่สาวของนางสาวเนติพร จริง ก่อนที่ต่อมา เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ได้เชิญให้นางสาววีรดา เข้าไปด้านใน โดยให้เพื่อนที่มาด้วยรออยู่ด้านนอก ตามข่าวที่เสนอไปก่อนหน้านี้
น.ส.วีรดา ทีมทนายของ "บุ้ง ทะลุวัง"

ล่าสุด กรมราชทัณฑ์ ได้ออกเอกสารแถลงข่าวเดี่ยวกับ "บุ้ง ทะลุวัง" เรื่อง "ราชทัณฑ์ มอบสำเนาประวัติการรักษาของนางสาวเนติพรฯ เป็นที่เรียบร้อย พร้อมนำคณะสื่อมวลชน เข้าเยี่ยมชมทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์" โดยมีรายละเอียดดังนี้..

วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.30 น. นางสาววีรดา คงธนกุลโรจน์ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากพี่สาวของนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง ได้เดินทางเข้ารับเอกสารสำเนาประวัติการรักษา ณ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อมาในเวลา 10.00 น. ได้นำคณะสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เข้าเยี่ยมชมสถานที่ภายในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพื่อสร้างความเข้าใจและให้เห็นสถานที่จริงขณะที่ นางสาวเนติพร ฯ เข้ารับกรรักษโดยแพทย์จากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์

ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เป็นเรือนจำที่ทำหน้าที่พิเศษคือ คุมขังและให้การรักษาผู้ต้องขังเจ็บป่วย ที่ถูกส่งตัวมาจากเรือนจำต่างๆ เมื่อรักษาจนอาการดีขึ้นแล้ว ก็จะส่งตัวกลับไปคุมขังที่เรือนจำเดิม โดยในกรณีของ นางสาวเนติพรฯ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 แพทย์มีความเห็นว่า มีภาวะเลือดเป็นกรดจากการอดอาหารและเกลือแร่โพแทสเซียมในเลือดต่ำ
ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์

ต่อมา กรมราชทัณฑ์ ได้รับหนังสือจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 แจ้งให้รับตัวนางสาวเนติพรฯ "บุ้ง ทะลุวัง" กลับ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ อาการโดยรวมของนางสาวเนติพรฯ ดีขึ้น รู้สึกตัวดี ไม่มีคลื่นไส้อาเจียน ไม่มีอาการใจสั่น ไม่มีเวียนศีรษะหน้ามืด ไม่มีอาการแสดงของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ สัญญาณชีพและความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ในการนี้ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้รับตัวนางสาวเนติพรฯ กลับมาในวันที่ 4 เมษายน 2567 โดยหลังกลับจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯนางสาวเนติพรฯ จิบน้ำได้ แต่ยังคงปฏิเสธอาหาร โดยเริ่มรับประทานอาหารมื้อแรก คือมื้อเย็นของวันที่ 13 เมษายน 2567 นางสาวเนติพรฯ ยังปฏิเสธการรับประทานเกลือแร่โพแทสเซียมและวิตามิน จึงยังมีภาวะเกลือแร่โพแทสเซียมต่ำ ทีมสหสาขาวิชาชีพของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ให้คำแนะนำ ดูแลใกล้ชิดและติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง

จนกระทั่งระดับเกลือแร่เพิ่มขึ้น นางสาวเนติพรฯ สามารถทำกิจวัตรประจำวันและเดินเข้าห้องน้ำได้เอง แพทย์มีความเห็นว่าให้จำหน่าย เป็นผู้ป่วยพักฟื้น แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังและติดตามอาการเป็นระยะ และจัดให้นอนในห้องเดียวกับนางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ในห้องผู้ป่วย พักฟื้น ชั้น 2 ของหอผู้ป่วยหญิง

จนกระทั่งเกิดอาการหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน จึงนำตัวลงมายังห้อง ICU ขั้น 1 โดยทางทีมแพทย์ได้ทำการกู้ชีพ พร้อมนวดหัวใจ และให้ยากระตุ้นหัวใจอย่างต่อเนื่อง จากนั้นจึงส่งตัวไปยังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ และแพทย์ลงความเห็นว่าเสียชีวิติในเวลาต่อมา

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยังคงมีข้อห่วงใยในเรื่องนี้ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม จึงได้นำคณะสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เข้าเยี่ยมชมสถานที่จริงขณะที่นางสาวเนติพรฯ รับการดูแลรักษาก่อนส่งตัวออกโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ พร้อมขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิตเป็นอย่างยิ่ง
ราชทัณฑ์ มอบสำเนาการรักษา \"บุ้ง ทะลุวัง\" ให้ทีมทนาย เผยเริ่มกินอาหาร 13 เม.ย.