svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

ประยุทธ์-อนุพงษ์ ปราบกบฎก๊อก 2 คิดได้ทำยาก

13 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อาจจะเจอทางตัน หาก 2 ป พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.อนุพงษ์ จะเดินหน้าปราบกบฏก๊อก 2 เขย่า 2 พล.ต.อ.นอกราชการ เพราะเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ ไม่เอื้อให้ทำได้ง่ายๆ

ถ้าถามความสัมพันธ์จากปาก 3 ป พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เชื่อว่าคำตอบ คือ “ยังเหนียวแน่นกลมเกลียว” แต่ถ้าจับกระแสจากยุทธการ “ปราบกบฏ” ก๊อกแรก หลังศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นเป็นคำตอบ ที่ถูกต้อง

 

การปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นจาก รมช.เกษตรและสหกรณ์ ปลดนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พ้นจากรมช.แรงงาน ทั้ง 2 ขุนพลข้างกาย “บิ๊กป้อม” พี่ใหญ่ 3ป ชัดเจนว่า  “ป.ป๊อก” “ป.ประยุทธ์” หัก “ป.ป้อม” ชนิดที่พี่ใหญ่ตั้งรับไม่ทัน

 

ไม่จบเท่านั้น นอกจากปลด 2 รัฐมนตรีใกล้ชิด ป.ป้อม ไปแล้ว ยังมีการคาดการณ์ต่อว่า ยุทธการ “ปราบกบฏ” จะมีก๊อกสองโดยเป้าหมายอยู่ที่ พล.ต.อ.นอกราชการ 2 คน ซึ่งมองว่าเป็นคนใกล้ชิด “ป.ป้อม” 

 

ใกล้ชิดจากให้สัมภาษณ์ของ ร.อ.ธรรมนัส ทวงเก้าอี้ มท.1 จากพี่รอง พล.อ.อนุพงษ์ กลับมาเป็นโควตาพรรคพลังประชารัฐ เท่ากับยุทธการเขย่าต้นมะม่วงในศึกซักฟอก ต้องการเลื่อยขาเก้าอี้ มท.1 พล.อ.อนุพงษ์ ด้วย

ขณะเดียวกัน ช่วงก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ กรรมการ ป.ป.ช. มีมติตั้งองค์คณะกรรมการป.ป.ช.ไต่สวน พี่รอง พล.อ.อนุพงษ์ ในฐานะ รมว.มหาดไทย กรณีกระทำการอย่างใดเพื่อประโยชน์ต่อเอกชนใช้ที่ดินสาธารณะประโยชน์พื้นที่จ.ขอนแก่น ที่พลเมืองใช้ร่วมกัน เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ  

 

เรื่องนี้อาจะเป็นเหตุบังเอิญที่มติ ป.ป.ช. ออกมาก่อนศึกซักฟอก ดังนั้น 2 พล.ต.อ.นอกราชการ จึงโฟกัสไปที่เก้าอี้ ประธาน ป.ป.ช. พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ 

 

ทำไม ต้องเป็น พล.ต.อ.วัชพล ต้องย้อนไปก่อนเดือนตุลาคม 2558 พล.ต.อ.วัชรพล เป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่นเอง

ประยุทธ์-อนุพงษ์ ปราบกบฎก๊อก 2 คิดได้ทำยาก

หากดูโอกาสความเป็นไปได้หากคิดจะเขย่าเก้าอี้ประธาน ป.ป.ช. นั้นทำได้ แต่จะทำสำเร็จหรือไม่ เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

 

ลองไล่เรียงดูวิธีการ ทีละประเด็นๆ ดังนี้ 

 

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 236 บัญญัติว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภา จํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อกล่าวหาว่ากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติผู้ใดกระทําการตาม มาตรา 234 (1) โดยยื่นต่อประธานรัฐสภาพร้อมด้วยหลักฐานตามสมควร หากประธานรัฐสภา เห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทําตามที่ถูกกล่าวหา ให้ประธานรัฐสภาเสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกา เพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระจากผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมือง และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เพื่อไต่สวนหาข้อเท็จจริง

 

นอกจากนี้ ศาลฎีกา ได้วินิจฉัยไว้ด้วยว่า ผู้เสียหายจากคำวินิจฉัย ป.ป.ช.สามารถฟ้องตรงไปที่ศาลฎีกา ได้ และขณะนี้มีคดีที่ ประธาน ป.ป.ช. ถูกฟ้องต่อศาลฎีกา แล้ว 18 คดี

 

ไล่เลียงช่องทางต่างๆ แม้กฎหมายจะเปิดช่อง แต่การร้อง หรือฟ้องทำได้เฉพาะตัวกรรมการป.ป.ช.รายบุคคล จะฟ้องทั้งคณะไม่ได้ และการร้องหรือฟ้องจะต้องมีหลักฐาน มีเหตุอันควรสงสัยการกระทําของกรรมการป.ป.ช.อย่างไรด้วย 

 

ดังนั้น ปราบกบฏก๊อก 2 บิ๊ก พล.ต.อ.นอกราชการ จึงเป็นเรื่อง "คิดได้" แต่ "ทำยาก" 

logoline