svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"สาธิต เซกัล" ยก "อินเดียโมเดล" แก้วิกฤติโควิด

11 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หากย้อนดูวิกฤติโควิด19 ในประเทศอินเดียเมื่อ 4-5 เดือนที่ผ่านมา ภาพจำของหลายคนยังคงนึกถึงภาพคนล้มตายจำนวนมาก ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งรายวันสูงถึงวันละ 3-4 แสนคน แต่มาวันนี้ผ่านมาเพียง 90 วัน อินเดียสามารถผ่านพ้นวิกฤติดังกล่าวได้แล้ว คำถามคือเขาทำอย่างไร

11 กันยายน 2564 ทีมข่าวเนชั่นออนไลน์ ได้ไปสัมภาษณ์ คุณสาธิต เซกัล นายกสมาคมธุรกิจอินเดีย-ไทย ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นชาวภารตะหัวใจไทย ได้ถ่ายทอดมุมมองที่มีต่อสถานการณ์โควิด19 ในประเทศไทย พร้อมกับยกกรณีศึกษาในประเทศอินเดียมาเป็นแนวทางด้วยความหวังว่า อยากให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตโควิด19 ได้โดยเร็ว  
 
คุณสาธิต สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในอินเดียก่อนหน้านี้ว่า หลังเกิดการระบาดระลอก 2 อินเดียเจอวิกฤติหนักมากไม่แตกต่างจากหลายประเทศทั่วโลก   พร้อมกับยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าเมื่อช่วงเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ประเทศอินเดียมีผู้ติดเชื้อถึงวันละ 4 แสนคน จากประชากรทั้งหมด 1,300 ล้านคน เคยขึ้นสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก  จึงนำมาซึ่งรัฐบาลกลางต้องลงมาจัดการปัญหา โดยได้ระดมทุกภาคส่วนเพื่อบรรเทาปัญหาให้อยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้  ปรากฎว่ารัฐบาลใช้เวลาเพียง 3 เดือน จากที่ติดเชื้อวันละ 4 แสนคน ลดลงมาเหลือวันละ 3 หมื่นคน ใช้เวลาเพียง 90 วันเท่านั้น

"สาธิต เซกัล" ยก "อินเดียโมเดล" แก้วิกฤติโควิด

คุณสาธิต บอกด้วยว่า จากการพูดคุยกับทางเอกอัคราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย รวมทั้งข้าราชการระดับสูงและนักการเมืองในประเทศอินเดีย ได้ให้ข้อมูลไว้น่าสนใจและน่าจะนำมาเป็นกรณีศึกษากับประเทศไทยได้  โดยพบว่าสิ่งที่รัฐบาลอินเดียทำอันดับแรกหลังเจอวิกฤติคือ มาตรการล็อกดาวน์ เพราะเขาเชื่อว่าถ้าไม่ล็อกดาวน์จะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้  แต่เป็นการล็อกดาวน์แบบมีเงื่อนไข โดยมีมาตรการเยียวยาออกมาให้กับผู้มีรายได้น้อย  เริ่มจากการโอนเงินไปยังบัญชีส่วนตัวตามรายชื่อ  จากนั้นก็ส่งอาหารและยาไปถึงบ้าน โดยมีวัตถุประสงค์อย่างเดียวคือ ไม่อยากให้ออกจากบ้านไปแพร่เชื้อ  และมาตรการสุดท้ายคือ การเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมและเร็วที่สุด ซึ่งพ่วงมากับนโยบายการตรวจเชิงรุกด้วยระบบ ATK ที่ทำไปพร้อมกัน 

"คุณสาธิต ยังทิ้งท้ายว่า การออกมาเสนอมุมมองครั้งนี้ไม่ได้มีเจตนาที่จะดูหมิ่นดูแคลนประเทศไทย หรือเพื่อเชิดชูประเทศอินเดีย เพียงแต่ต้องการให้คนไทยทุกคนโดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อยได้ลืมตาอ้าปากได้บ้าง เพราะต้องยอมรับว่าตั้งแต่เจอวิกฤติโควิด คนเหล่านี้ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด เพราะวันนี้ยังไม่รู้ว่าสถานการณ์โควิดจะจบลงเมื่อไร"

คุณสาธิต ยังอธิบายถึงวิธีการตรวจเชิงรุกด้วย ATK ที่อินเดียว่า เขาแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.เป็นกลุ่มคนที่มีการศึกษา สามารถตรวจด้วยตัวเองได้ โดยจะใช้วิธีให้ข้อมูลประชาสัมพันธุ์ให้มากที่สุด และ 2 คือกลุ่มสลัม และพื้นที่ชนบท ก็จะใช้วิธีรับอาสาสมัครหลายแสนคน ให้ลงพื้นที่ไปช่วยเหลือในการตรวจATK ให้กับชาวบ้าน  ปรากฎว่าหลังจากดำเนินการทั้ง 2 ระบบนี้ อินเดียสามารถตรวจเชิงรุกด้วย ATK ได้ถึง 900 ล้านคน สามารถคัดกรองแยกผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการักษาได้เร็ว ไม่ว่าจะเป็น โฮม ไอโซเลชั่น (Home Isolation) และคอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น (Community Isolation) หรือรพ.สนาม

"สาธิต เซกัล" ยก "อินเดียโมเดล" แก้วิกฤติโควิด

นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียยังมีนโยบายสนับสนุนผู้ผลิต ATK ด้วยการจ่ายเงินล่วงหน้า 2-3 เท่า เพื่อให้เพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการ ขณะเดียวกันได้เรียกผู้ผลิตวัคซีนในประเทศทั้งหมดมาหารือเพื่อหาวิธีที่จะเพิ่มกำลังการผลิต โดยรัฐบาลยอมจ่ายเงินเพิ่มล่วงหน้าให้กับผู้ผลิตวัคซีนภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องเพิ่มการผลิต พร้อมกับออกนโยบายห้ามส่งออกวัคซีนในช่วงที่ขาดแคลน  ที่สำคัญคือ แม้อินเดียจะเป็นประเทศที่ผลิตวัคซีนเองได้ และผลิตมากที่สุด ยังต้องสั่งนำเข้าวัคซีนจากประเทศที่ผลิตเข้ามาเพิ่ม เพื่้อให้ได้วัคซีนเพียงพอโดยเร็วที่สุด  ทำให้วันนี้อินเดียสามารถผลิตวัคซีนได้เดือนละ 200 ล้านโดส 

ข้อมูลจากสถานทูตอินเดียประจำประเทศไทยล่าสุดระบุว่า รัฐบาลอินเดียสามารถฉีดวัคซีนโควิดให้ประชาชนได้วันละ 7- 10 ล้านโดส ผ่านกลไกทั้งจากส่วนกลางและท้องถิ่น โดยรัฐบาลอินเดียเชื่อมั่นภายในสิ้นปีนี้ จะสามารถฉีดครบ 2 โดสได้ทั้งหมด  คุณสาธิตบอกว่า สถานการณ์ในอินเดียล่าสุดตอนนี้ดีขึ้นมาก หลายกิจการกลับมาเปิดได้ปกติ ประชาชนสามารถเดินทางไปมาได้มากขึ้น 

ทว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดียนั้น สามารถเกิดขึ้นในประเทศไทยได้เช่นกัน  โดยคุณสาธิต มองผ่านประสบการณ์จากการทำงานทั้งภาคธุจกิจและการเมืองในประเทศไทยมานาน  จึงอยากฝากไปถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐ โดยเฉพาะเรื่องการทำงาน ทำอย่างไรจะลดขั้นตอนหรือวิธีการให้สั้นลง เพราะปัญหาขณะนี้คือ ไม่ว่าจะนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ หรือแม้แต่นำเข้า ATK ขั้นตอนการพิจารณากลับใช้เวลามากเกินความจำเป็น ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่กำลังวิกฤติ หากเทียบกับอินเดียแล้วแตกต่างกัน เขาเปิดให้นำเข้าได้โดยลดขั้นตอนให้เร็วขึ้น เพราะเขามองว่าทุกนาทีคือชีวิตของประชาชน  อยากให้เจ้าหน้ารัฐเปลี่ยนมุมมองวิธีคิดใหม่ ไม่ใช่ทำหน้าที่เพียงแค่การควบคุมเท่านั้น แต่ต้องมีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการที่จะนำสินค้าที่จำเป็นและมีไม่เพียงพอในประเทศด้วย 


"สิ่งแรกที่เค้าทำก็คือล็อกดาวน์ เป็นล็อกดาวน์ที่มีเงื่อนไข คือ หนึ่ง เอาเงินส่วนหนึ่งเข้าบัญชีของกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย เค้ามีรายชื่อทั้งหมดนี่ครับ เอาเข้าบัญชีเลยครับ มาตรการที่สองที่เค้าใช้ก็คือ หาอาหาร ยา ที่มีความจำเป็นส่งไปถึงบ้าน เพราะจุดประสงค์ก็คือว่าไม่อยากให้เค้าออกจากบ้าน ถ้าออกจากบ้านนี่มันจะมีการระบาดมากขึ้น สาม เริ่มนโยบายฉีดวัคซีน แต่ก่อนที่จะฉีดวัคซีนนี่ต้องมีระบบตรวจ ก็เลยมีระบบการตรวจเองแบ่งเป็นสองส่วน ก็คือ คนที่มีการศึกษาสูงหรืออยู่ตามเมืองใหญ่ๆ ก็ให้ใช้เทสคิดส์พวกนี้ สำหรับสลัมกับตามชนบทนี่อ่ะ เขาหาพวกวารันเทียร์มาเป็นแสนๆ วารันเทียร์พวกนี้ก็มีหน้าที่ไปตามสลัมต่างๆ ที่เขาคิดว่าต้องการความช่วยเหลือ และปรากฏว่ารัฐบาลอินเดียตรวจได้ช่วงแรกน่ะครับ 900 ล้านคน"

คุณสาธิต ยังทิ้งท้ายว่า การออกมาเสนอมุมมองครั้งนี้ไม่ได้มีเจตนาที่จะดูหมิ่นดูแคลนประเทศไทย หรือเพื่อเชิดชูประเทศอินเดีย เพียงแต่ต้องการให้คนไทยทุกคนโดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อยได้ลืมตาอ้าปากได้บ้าง เพราะต้องยอมรับว่าตั้งแต่เจอวิกฤติโควิด คนเหล่านี้ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด เพราะวันนี้ยังไม่รู้ว่าสถานการณ์โควิดจะจบลงเมื่อไร

"สาธิต เซกัล" ยก "อินเดียโมเดล" แก้วิกฤติโควิด

logoline