svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิด 4 เหตุผลวุฒิสภาโหวตคว่ำ“บัตร 2 ใบ”

09 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องการเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งจาก “บัตรใบเดียว” เป็น “บัตรสองใบ” หลังเช็คเสียง ส.ส. จากแต่ละพรรคการเมือง ชัดเจนว่าหากต้องการให้ร่างนี้ผ่านรัฐสภาในวาระ 3 ต้องอาศัยเสียง ส.ว. สนับสนุนเกินกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียงจากทั้งหมด 250 เสียง

โดย...ปกรณ์ พึ่งเนตร

 

เมื่อส่องดูท่าทีและเหตุผลของ ส.ว. ขณะนี้เริ่มมีหลายคน หลายกลุ่ม ออกมาแสดงจุดยืนคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ โดยสรุปเหตุผลเป็นคำถามของฝ่าย ส.ว.ได้ 4 ข้อ ดังนี้

 

1.การแก้รัฐธรรมนูญรื้อระบบเลือกตั้ง เป็นพัฒนาการทางการเมืองจริงหรือ

 

หากย้อนดูรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับล่าสุด กำหนดสัดส่วน ส.ส.เขต กับ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เอาไว้ต่างกัน

 

- รัฐธรรมนูญปี 40 กำหนดให้มี ส.ส.เขต 400 คน บัญชีรายชื่อ 100 คน

 

- รัฐธรรมนูญปี 50 กำหนดให้มี ส.ส.เขต 375 คน บัญชีรายชื่อ 125 คน

 

- รัฐธรรมนูญปี 60 กำหนดให้มี ส.ส.เขต 350 คน บัญชีรายชื่อ 150 คน

 

ฉะนั้น พัฒนาการขั้นต่อไปควรจะเป็น ส.ส.เขต 250 คน บัญชีรายชื่อ 250 คนหรือไม่ ด้วยเหตุผลที่ว่า การกำหนดเขตเลือกตั้งเป็น "เขตใหญ่" จะทำให้การซื้อเสียงทำได้ยาก บล็อกโหวตยาก ใช้อิทธิพลท้องถิ่นในการเลือกตั้งได้ยาก

 

ขณะที่ ส.ส.มีหน้าที่ทำงานระดับชาติ พิจารณากฎหมาย ตรวจสอบหน่วยงานรัฐในท้องถิ่นโดยไม่ต้องถืองบประมาณ ส่วนงานบริการประชาชนในระดับพื้นที่ ก็กระจายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำ แบบนี้จึงจะเรียกว่า "พัฒนาการทางการเมือง"

 

เปิด 4 เหตุผลวุฒิสภาโหวตคว่ำ“บัตร 2 ใบ”

2.บัตรใบเดียวทำให้เกิดพรรคเล็ก สร้างปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองจริงหรือ

 

ประเด็นนี้ ฝั่ง ส.ว.มองว่า รัฐธรรมนูญปี 60 ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง จึงเกิดพรรคขนาดเล็กขึ้นจำนวนมาก ขณะที่ระบบเลือกตั้งแบบ "บัตรใบเดียว" ทำให้ทุกคะแนนมีความหมาย ไม่มีเสียงตกน้ำ และคนเล็กคนน้อยมีสิทธิ์เป็นผู้แทนราษฎรได้

 

ส่วนการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่เคยมีปัญหาเมื่อคราวการเลือกตั้งปี 62 สามารถแก้ไขใหม่ได้ ครั้งนั้นเพิ่งเริ่มใช้ระบบนี้ จึงอาจมีข้อบกพร่องบ้าง ขณะที่ปัญหาการซื้อ ส.ส. หรือ "แจกกล้วย" เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ไม่ได้เกิดจากระบบการเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคเล็กที่มีคุณภาพ เงินซื้อไม่ได้ ก็มีอยู่มาก ฉะนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยกันกำจัด "พรรคพลังกล้วย" ออกจากระบบการเมือง

 

3.การแก้รัฐธรรมนูญโดยใช้ระบบ "บัตรสองใบ" ทำให้การเมืองถอยหลังหรือไม่

 

ความเห็นของ ส.ว.หลายๆ กลุ่มมองว่า ระบบการเลือกตั้งแบบใช้ "บัตร 2 ใบ" ดึงการเมืองไทยถอยหลังไป 20 ปี และระบบ "บัตร 2 ใบ" เคยเป็นต้นตอให้เกิด "เผด็จการรัฐสภา" ฝ่ายบริหารมีอำนาจมาก และใช้อำนาจตามอำเภอใจ จนเป็นที่มาของวิกฤติการเมือง และต้องแก้ไขกติกากันมาแล้วหลายครั้ง

4.การลงมติวาระ 3 ไม่ผูกพันวาระ 1-2 

 

สำหรับข้อกังวลที่ว่า การโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 3 จะย้อนแย้งกับที่สมาชิกบางคน เคยรับหลักการวาระ 1 ไปแล้วหรือไม่นั้น

 

ประเด็นนี้ ต้องดูที่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ซึ่งบัญญัติให้เว้นระยะเวลาหลังจบวาระสอง 15 วัน จึงจะโหวตวาระ 3 ได้ แสดงว่ามีเจตนาให้สมาชิกรัฐสภา ใช้เวลาคิดทบทวนให้รอบคอบ ฉะนั้นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญชัดเจน ไม่จำเป็นต้องโหวตเหมือนวาระ 1-2

 

เปิด 4 เหตุผลวุฒิสภาโหวตคว่ำ“บัตร 2 ใบ”
 

จับตาโหวตล้างแค้น - ขัดแย้ง ภท. - ปชป. อยู่ยาก

 

ดูจากความเคลื่อนไหวของ ส.ว.หลายคน หลายกลุ่มที่ออกมาแสดงท่าทีค้านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำให้คาดการณ์ได้ว่า โอกาสที่ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านวาระ 3 เป็นไปได้ค่อนข้างยาก ซึ่งหากรัฐธรรมนูญถูกคว่ำ จะเกิดปัญหาตามมา โดยเฉพาะในพรรคร่วมรัฐบาล คือ

 

1.พรรคใหญ่จะขัดแย้งกันเองหรือไม่ โดยเฉพาะ พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย เพราะโหวตกันไปคนละทาง

 

2.พรรคที่เสียประโยชน์อย่างประชาธิปัตย์ ในฐานะเจ้าของร่าง จะแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองอย่างไร เมื่อไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ตามที่เคยประกาศไว้ว่า เป็นเงื่อนไขข้อสำคัญในการเข้าร่วมรัฐบาล ตกลงว่าประชาธิปัตย์จะถอนตัวหรือไม่ ถ้าไม่ถอน จะถูกกดดันจากสังคมหรือไม่

 

3.ปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐที่มีอยู่เดิมจากเกมโหวตล้มนายกฯ อาจทำให้พลังประชารัฐเสียงแตก และมีการแก้แค้นเอาคืนด้วยการโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่

 

นี่คือปัญหาการเมืองที่จะเกิดตามมา และยังไม่รู้ว่าใครจะเป็นคนถอดสลักความขัดแย้ง

logoline