svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"จุรินทร์"ไม่ขอคาดเดาส.ว.เทคะแนนแก้ไขรัฐธรรมนูญ

09 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“จุรินทร์” เมินคาดเดา ส.ว. จะโหวตผ่านวาระ 3 แก้ไขรัฐธรรมนูญให้หรือไม่ ชี้ทุกกติกามีได้และเสีย แนะให้ยึดหลักเพื่อนำไปสู่ความเข้มแข็งของประชาธิปไตยระยะยาว

9 กันยายน 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวเรื่องความเห็นชอบของ ส.ว. ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ว่า จะผ่านหรือไม่นั้น ก็เกินกำลังสำหรับพรรคที่จะไปกำหนด หรือดำเนินการอะไรให้ครบถ้วนทั้งหมดได้ แต่อย่างน้อยที่สุดในส่วนของพรรค ยืนยันในการทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ และในการประชุม ส.ส. เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่ผ่านมา ก็ได้ข้อยุติแล้ว ซึ่งทุกคนมีความเห็นร่วมกันจะลงมติไปในทางเดียวกัน คือรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3

 

เรื่องการประเมินเสียงของส.ว. ยอมรับว่ายังไม่สามารถประเมินได้ เพราะยังไม่ทราบว่าสุดท้ายแล้วผลออกมาอย่างไร ขณะนี้เท่าที่ทราบและได้ติดตามมาตลอด คือ วาระที่ 1 สามารถผ่านมาได้ เพราะมีเสียงทั้งซีกรัฐบาล ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา เป็นไปตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ และวาระที่ 2 ก็ยังเป็นไปตามนั้น ส่วนวาระที่ 3 ไม่สามารถตอบล่วงหน้าได้ ก็ต้องติดตามต่อไป หากใครติดตามอย่างไรก็คงจะต้องเป็นผู้อธิบายเหตุผลว่าทำไมจึงตัดสินใจไปอย่างนั้น

 

ทั้งนี้ หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่สำเร็จนั้น ก็ถือว่าเกินกำลังในส่วนของพรรคที่จะไปสั่งการให้พรรคการเมืองใด หรือวุฒิสมาชิกดำเนินการตามความประสงค์ของพรรคประชาธิปัตย์ได้ แต่อย่างน้อยที่สุด คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นประเด็นที่ได้พูดคุยกันไว้กับพรรคพลังประชารัฐในตอนร่วมรัฐบาล ซึ่งก็เป็นข้อเท็จจริงที่เป็นที่ทราบดีกันอยู่แล้ว 

 

 

อย่างไรก็ตาม แม้เป็นนโยบายหลักของพรรค แต่ถ้าไม่ทำหน้าที่ อันนั้นอย่างน้อยก็กระทบว่าพรรคไม่ได้ทำในสิ่งที่พูดไป แต่ถ้าทำหน้าที่สุดความสามารถแล้ว จะผ่านไม่นั้น คิดว่ามันก็เป็นอย่างพูดไป ว่าไม่สามารถไปสั่งให้คนอื่นให้ปฏิบัติตามแนวทางของประชาธิปัตย์ได้ครบถ้วน 100% 

 

"สิ่งหนึ่งที่ขอเรียนให้ทราบได้ก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเที่ยวนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของการที่จะใส่พานไปให้กับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง เพราะถ้าดูประโยชน์ของพรรคการเมือง มันก็มีได้มีเสียกันทุกพรรคนะครับว่า ถ้าแก้แบบนี้พรรคนั้นก็อาจจะได้ ถ้าแก้แบบนี้ พรรคนี้ก็อาจจะเสีย เพราะฉะนั้นถ้าเอาประโยชน์พรรคการเมืองเป็นที่ตั้ง ก็คงแก้ไม่ได้เลย เพราะมันมีได้มีเสียกันทั้งหมด แต่เราก็ต้องถือหลักการ ว่าหลักการที่ควรจะเป็น มันควรจะเป็นอย่างไร การแก้รัฐธรรมนูญนำไปสู่ความเข้มแข็งของระบบพรรคการเมืองระยะยาวหรือไม่ นำไปสู่ความเข้มแข็งของประชาธิปไตยระยะยาวหรือไม่ อันนั้นคือสิ่งที่เราต้องคำนึง คือประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ใช่ดูประโยชน์ส่วนพรรค เพราะว่าถ้าดูประโยชน์ส่วนพรรค มันไม่จบหรอกครับ" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว

ส่วนกรณีที่ ส.ว. มองว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้จะเกิดประโยชน์กับพรรคการเมืองนั้น ส่วนตัวไม่ขอวิจารณ์ ไม่ขอก้าวล่วงไปถึงส่วนอื่น ขอพูดในส่วนเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ แต่รัฐธรรมนูญจะผ่านได้นั้น ก็ต้องอาศัยความร่วมมือของทั้ง 3 ส่วน เพราะรัฐธรรมนูญบังคับไว้ คือ 1.ต้องมีเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง 2.ต้องมีเสียงฝ่ายค้านไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และ 3.ต้องมีเสียง ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ถ้าขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปรัฐธรรมนูญก็ไม่ผ่าน ฉะนั้นทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วม แล้วต้องร่วมมือกันรัฐธรรมนูญจึงจะผ่านได้

 

สำหรับประเด็นมีบางพรรคการเมืองมองว่าการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ อาจจะเป็นการกินรวบนั้น ส่วนตัวได้เรียนแล้วว่า มันไม่มีที่ยุติเพราะว่าทุกระบบก็มีทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง ด้วยกันทั้งสิ้น บัตร 2 ใบก็วิจารณ์ได้ บัตรใบเดียวมันก็มีจุดอ่อนจุดแข็ง ก็เห็นกันอยู่ สุดท้ายผลออกมาก็เบี้ยหัวแตก แล้วมันก็มีข้อวิจารณ์อีกได้เช่นเดียวกันว่าเขียนมาเพื่อใคร ฉะนั้นมันมีจุดอ่อนจุดแข็งทั้งสิ้น ถ้าเอาจุดอ่อนจุดแข็งมาพูดกัน ก็เถียงกันไม่จบ แต่ถ้าเอาหลักดีกว่า เป็นประโยชน์การจะสร้างพรรคการเมืองในอนาคตให้เข้มแข็งหรือไม่ เพราะมันเป็นรากฐานสำคัญของพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยระยะยาว

 

logoline