svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ภาคปชช.จี้รัฐบาลให้ความสำคัญช่วยเหลือกลุ่มเด็กกำพร้าจากโควิด

07 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โควิด-19 ทำเด็กกำพร้าเพิ่มรายวัน "กรมกิจการเด็ก-กสศ.-กรมสุขภาพจิต-ยูนิเซฟ" จี้รัฐให้ความสำคัญ เพื่อช่วยเหลือ

7 กันยายน 2564 ศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19  โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กรมสุขภาพจิต และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าวเรื่อง "สถานการณ์เด็กติดเชื้อ เด็กกำพร้า ผลกระทบจากโควิด-19 และการเยียวยาฟื้นฟู" เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่ผ่านมา 

 

โดยนางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบในวงกว้าง กลุ่มเด็กยังคงจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 พบมีเด็กติดเชื้อสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 4 ก.ย. 2564 จำนวน 142,870 คน แบ่งเป็น กทม. 31,111 คน และภูมิภาค 111,759 คน โดยยังคงติดเชื้อรายวันมากกว่า 2,000 ราย

 

นอกจากนี้ ที่สำคัญผู้เสียชีวิตเฉลี่ยรายวัน ยังคงขึ้นลงมากกว่า 200 รายต่อวัน ซึ่งหากผู้เสียชีวิตเป็นพ่อแม่หรือผู้ปกครองของเด็ก ก็จะส่งผลให้มีเด็กกำพร้าเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวง พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 ได้ช่วยเหลือเด็กได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 4 ก.ย. 2564 จำนวนทั้งสิ้น 9,565 คน

 

สำหรับกลุ่มเด็กกำพร้า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใย ได้มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สำรวจข้อมูลตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค. - 4 ก.ย. 2564 พบเด็กกำพร้า จำนวน 369 คน โดยกำพร้าบิดามากที่สุด 180 คน กำพร้ามารดา 151 คน กำพร้าทั้งบิดาและมารดา 3 คน และกำพร้าผู้ปกครอง 35 คน ภาคใต้พบเด็กกำพร้ามากที่สุด 131 ราย คิดเป็นร้อยละ 71.54 อยู่ในช่วงอายุ 6 - 18 ปี และร้อยละ 33.06 เป็นเด็กที่เรียนชั้นประถมศึกษา 

ทั้งนี้ ปัจจุบันเด็กกำพร้า 369 คน ได้รับการดูแลในรูปแบบครอบครัว 367 คน โดยอยู่กับพ่อหรือแม่ 231 คน อยู่กับครอบครัวเครือญาติ 133 คน และอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์อาสาสมัคร 3 คน และอยู่ในบ้านพักเด็กและครอบครัว สถานสงเคราะห์เพื่อจัดหาครอบครัวทดแทน 2 คน โดยได้รับการช่วยเหลือแล้ว ซึ่ง ข้อมูลเด็กกำพร้า จะถูกบันทึกลงในระบบสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองเด็ก CPIS เพื่อใช้ในการวางแผนการดูแลและการจัดบริการให้แก่เด็กทั้งระยะสั้นและระยะยาว

 

"ในปีงบประมาณ 2565 กระทรวง พม. เตรียมรองรับการจัดสวัสดิการให้กับเด็กและครอบครัว โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนคุ้มครองเด็กให้ความสำคัญในการช่วยเหลือเด็กรายบุคคลโดยการสนับสนุนครอบครัวและครอบครัวอุปถัมภ์ให้ได้รับบริการเพื่อสนับสนุนการดูแลเด็ก โดยจะมีเด็กได้รับความช่วยเหลือประมาณ 1,600 คน นอกจากนี้มีเงินอุดหนุนการให้บริการสวัสดิการเด็กในครอบครัวยากจน" อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าว

 

 

ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม กสศ. กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ที่ผ่านมา พบว่าเด็กส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบร้อยละ 80 คือ เด็กยากจนด้อยโอกาสในชุมชนแออัด ที่นอกจากเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจฐานะแล้ว ยังเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา โดยวันที่เด็กเหล่านี้กลับบ้าน จะพบเห็นคลื่นปัญหาที่ต้องเผชิญต่อไป คือ ความยากจน เพราะพ่อแม่ที่ป่วยไข้ก็ตกงาน ไม่ได้กลับไปทำงาน ถูกเลิกจ้าง ไม่มีเงินซื้ออาหาร ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน ไม่นับเรื่องการเรียนออนไลน์ไม่มีอุปกรณ์ไม่มีความพร้อมใดๆ และมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้กลับมาเรียนอีก  ภารกิจจากนี้คือ การติดตาม เยียวยาป้องกันไม่ให้เด็กกลุ่มนี้หลุดจากระบบการศึกษา โดยกสศ.มีโครงการนำร่องช่วยเหลือเด็กที่ประสบวิกฤติทางการศึกษา และการฟื้นฟูทักษะอาชีพให้แก่พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว

 

"สำหรับเด็กกำพร้า เสนอให้รัฐบาล ออกมาตราการเรียนฟรีจนถึงระดับอุมศึกษา ครอบคลุมทั้งกลุ่มที่สูญเสียพ่อแม่เพราะการติดเชื้อโควิด-19 หรือเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายจากวิกฤติเศรษฐกิจ  นอกจากนี้ต้องให้คำแนะนำแก่ครูและโรงเรียน ในการเตรียมความพร้อมเพื่อดูแลเด็กนักเรียนที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักหรือสมาชิกครอบครัวจากวิกฤตโควิด-19 โดยแม้เด็กจะกลับมาเข้าห้องเรียนได้ แต่สภาพจิตใจอาจยังไม่พร้อมสมบูรณ์" ศ.ดร.สมพงษ์ ระบุ

 

ขณะที่ ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากจำนวนเด็กที่ป่วยในช่วงแรก 997 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 6 ต่อมาได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนถึง 1.4 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ของผู้ติดเชื้อ และติดเชื้อจากที่บ้านเพราะโรงเรียนยังไม่เปิด เด็กที่ป่วยแล้วเสียชีวิต จำนวน 20 คน เป็นเด็กมีโรคประจำตัวมาก่อนแล้ว โดยกลุ่มเด็กติดเชื้อสูงสุด คือ 12-18 ปี หรือร้อย 38 รองลงมา 6-12 ปี ร้อยละ 32 และอายุต่ำว่า 6 ปี ประมาณร้อยละ 5 ซึ่งเด็กอายุ 6-12 ปี ยังไม่พบการเสียชีวิต และเด็กเสียชีวิตน้อยกว่าผู้ใหญ่ เพราะมีภูมิคุ้มกันต่อสู้กับเชื้อใหม่ดีกว่า

 

"ตอนนี้มีปัญหาถกเถียงกันว่าจะเปิดโรงเรียนได้ไหม ซึ่งในประเทศญี่ปุ่น ล็อกดาวน์ทั้งหมดยกเว้นโรงเรียน สิงคโปร์ อเมริกา ก็บอกว่าต้องเปิด ที่เด็กไม่ได้ฉีดวัคซีน เพราะไม่มีวัคซีนสำหรับเด็ก วัคซีนที่ขึ้นทะเบียนใช้กับเด็กได้ มีตัวเดียวคือไฟเซอร์ อายุ 12 ปี ขึ้นไป เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็ก จะบอกว่าผู้ใหญ่ฉีดได้เด็กก็ฉีดได้เหมือนกัน เพราะการตอบสนองและภูมิคุ้มกันไม่เหมือนกัน อเมริกา ทดสอบไป 3 พันคน ไม่มีปัญหา แต่พอฉีดเป็นแสนคน พบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลายคน ทำให้เราต้องรอบคอบ" ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว  

 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการที่เด็กไม่ไปโรงเรียนเสียหายมาก ทั้งการเรียนรู้ การออกกำลังกายและการเข้าสังคม และสุดท้ายสร้างปัญหาเด็กลาออกจากโรงเรียน สร้างความเหลื่อมล้ำมาก สิ่งที่ต้องดำเนินการคือการหามาตรการรับมือเปิดเทอมโดยแนวการป้องกัน คือ 

 

1.ฉีดวัคซีนให้คนฉีดได้ ผู้ปครอง  ครู คนในบ้าน เพราะหากผู้ใหญ่ไม่ติดเชื้อเด็กก็ไม่ติดเชื้อ เพราะการฉีดวัคซีนให้เด็กอาจต้องรอบคอบ ในอนาคตจะมีมีวัคซีนที่ปลอดภัย แต่ตอนนี้ยังเป็นแค่การใช้ฉุกเฉิน ถ้าไม่ฉุกเฉินรออีกสักพักก็อาจมีวัคซีนที่ปลอดภัยกว่าปัจจุบันออกมาต้นปีนี้  

 

2.เน้นการใส่หน้ากากทั้งที่บ้าน และโรงเรียน รวมทั้งการเว้นระยะห่าง ล้างมือ ใครป่วยหรือมีประวัติสัมผัสต้องหยุดอยู่บ้าน ทำความสะอาดห้อง และควรมีการทดสอบเด็กเป็นระยะ ในช่วงที่มีระบาดหนัก ส่วนที่ไม่ระบาดหนักอาจตรวจเฉพาะคนที่มีอาการไม่จำเป็นต้องใช้สูตรเดียวทั้งประเทศขึ้นอยู่กับพื้นที่ เช่น นักเรียนติดคนเดียวก็ไม่จำเป็นต้องปิดทั้งโรงเรียนที่สร้างความเสียหายมาก อาจะให้หยุดกับคนที่สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยง 

 

รศ.พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ กุมารแพทย์ประจำสถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชินี  กล่าวว่า จากผลวิจัยล่าสุดของประเทศอังกฤษในการติดตามระยะเวลาของการเจ็บป่วยในเด็กวัยเรียนอายุ 5-17 ปี พบว่า อาการ Long Covid จะมีผลต่อเด็กโตมากกว่าเด็กเล็กๆ และส่วนใหญ่จะมีระยะเวลาอยู่ที่ 6-12 สัปดาห์

 

โดยงานวิจัยระบุว่า อาการ Long Covid ในเด็กที่ถือว่ายาวนาน คือ 1 เดือน หรือ 4 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งในเด็กพบที่ร้อยละ 4.4 แต่ข้อน่าสนใจ คือ ข้อมูลที่เปรียบเทียบกับเด็กติดเชื้อทางเดินหายใจ ซึ่งยืนยันว่าโควิด-19 ก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาวได้จริง โดยค่ามัธยฐานของผู้ป่วยเด็กจะมีอาการจากโควิด-19 ประมาณ 6 วัน ขณะที่ติดเชื้อทางเดินหายใจที่ประมาณ 3 วัน

 

นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบเด็กเล็กกับเด็กโต พบว่าเด็กเล็กจะป่วยเฉลี่ยที่ประมาณ 5 วัน ซึ่งเด็กโตจะนานกว่าคือประมาณ 7 วัน และความเสี่ยงของภาวะ Long Covid ในเด็กโตก็มีมากกว่า คือ ร้อยละ 5.1 ส่วนเด็กเล็กอยู่ที่ร้อยละ 3.1 อาการที่สำคัญ คือ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ซึ่งอาจต่อเนื่องไปถึง 28 วัน

 

พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เด็กๆที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์สูญเสียชีวิตของผู้ดูแลหลัก หากไม่ได้รับการฟื้นฟูเยียวยาจิตใจที่เหมาะสม จะกลายเป็นปัญหาต่อเนื่องทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว จึงได้เตรียมมาตรการสร้างพื้นที่พักพิงทางจิตใจและสังคม (Psychosocial Care) ร่วมกัน

 

โดยระยะสั้น คือ การปฐมพยาบาลทางจิตใจสำหรับเด็กที่มีความเข้มแข็งทางใจอยู่แล้วให้ฟื้นคืน อาจไม่จำเป็นต้องพบนักจิตวิทยาเด็ก ระยะกลาง คือ เด็กที่มีปัญหาเดิมอยู่แล้ว เมื่อมาเจอกับความสูญเสีย กลุ่มนี้ต้องนำสู่กระบวนการรักษาเต็มรูปแบบทันที ส่วนในระยะยาวหมายถึงการฟื้นฟูทางสังคมและจิตใจร่วมกัน ด้วยการติดตามจากเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเด็กในการปรับตัวและเป็นที่ปรึกษาให้กับครอบครัวอุปถัมภ์

 

ขณะที่ น.ส.นิโคล่า บลั้น รักษาการหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก หรือ UNCRC ระบุไว้ว่า เด็กมีสิทธิที่จะเติบโตในครอบครัวตัวเอง ดังนั้น ในความช่วยเหลือเด็กที่สูญเสียผู้ดูแลจากสถานการณ์โควิด-19 จำเป็นต้องมองไปยังสมาชิกครอบครัวที่เหลืออยู่ก่อน หรือใช้การดูแลทดแทนในระยะสั้น การแยกเด็กออกมากอยู่ในสถานสงเคราะห์หรือครอบครัวอุปถัมภ์ ควรเป็นทางเลือกสุดท้าย

 

"รัฐจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการสร้างระบบการช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลกระทบ โดยสนับสนุนทั้งสิ่งของ งบประมาณ และจิตใจให้กับเด็กและครอบครัว รวมถึงผลักดันให้เข้าถึงงานสังคมสงเคราะห์ บริการสาธารณสุข มีสวัสดิการและความคุ้มครองทางสังคมรองรับ โดยจัดทำฐานข้อมูลและระบบบริหารจัดการที่ช่วยชี้เป้าและติดตามครอบครัวของเด็กกลุ่มเสี่ยงได้ อาทิ ครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว เด็กที่อยู่กับปู่ ย่า ตายาย ลำพัง รวมไปถึงข้อมูลของเด็กกลุ่มเปราะบางทั้งหมด โดยทุกการตัดสินใจเด็กต้องได้มีส่วนร่วม มีสิทธิในการเลือกอนาคตของตนเอง ไม่ใช่การวางแผนโดยหน่วยงานหรือผู้ใหญ่โดยที่เด็กไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย"

 

น.ส.นิโคล่า กล่าวว่า การจัดการที่รัฐทำ ได้ผ่านเครื่องมือและกลไก และต้องมีการทำงานที่ประสานความร่วมมือหลายภาคส่วน มององค์รวมของปัญหาที่ต้องลึกลงไปในหลายมิติแง่มุมของมนุษย์

logoline