svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"ณัฐพล" แย้มอาจมีมติไม่ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยุบแปรสภาพ ศบค.รับมือโควิด

06 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เลขาฯ สมช." ระบุอาจไม่ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีกแล้ว พร้อมจบภารกิจ ศบค.และแปรสภาพเป็นระบบอื่น ที่มีกฎหมายใหม่รองรับ

วันนี้ (6 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช.ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศปก.ศบค.กล่าวถึงกระแสข่าวพิจารณายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่า ทุกอย่างเป็นการเตรียมการไว้ล่วงหน้า ซึ่งนโยบายของนายกรัฐมนตรีและ ศบค.ให้มีการเตรียมการไว้อยู่แล้ว ซึ่งทราบดีว่าสังคมไม่สบายใจกับเรื่องนี้ ซึ่งจะเห็นว่าห้วงเวลาที่ผ่านมา เราอยู่กับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แทบจะไม่รู้สึกด้วยซ้ำ เพราะใช้เฉพาะมาตราการควบคุมโรคติดต่อเท่านั้น ซึ่งก็ต้องมีวันสิ้นสุด เป็นการเตรียมการไว้ ส่วนจะให้สิ้นสุดเมื่อใด ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลและ ศบค.

 

เบื้องต้นมีกฎหมายอื่น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขพยายามปรับปรุง และพัฒนา พ.ร.บ.โรคติดต่อ ให้ตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโรคได้ หากกฎหมายนี้เสร็จสิ้น ก็พร้อมที่จะมาแทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ และพร้อมที่จะปรับไปใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไข

 

ส่วนจะไม่มีการต่อขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จะสิ้นสุดในสิ้นเดือน ก.ย.นี้หรือไม่ มีความเป็นไปได้ที่จะไม่ต่อ หากสถานการณ์ยังทรงอยู่ในลักษณะนี้ เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนดีพอสมควร และประชาชนเองก็มีความเข้าใจ แม้จะมีประชาชนส่วนหนึ่งไม่ปฏิบัติตามมาตรการ แต่ก็อยู่ในเกณฑ์ที่รับได้

หากไม่มีการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทาง ศบค.ก็ต้องจบภารกิจไป แต่ไม่ใช่จบหายไปจากวงจร อาจแปรสภาพเป็นระบบอื่นที่มีกฎหมายใหม่รองรับได้ เพราะฉะนั้นกฏหมายใหม่ รัฐบาลกำลังพิจารณาอยู่ ซึ่งตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันได้ โดยกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้นำเสนอ

 

“ขณะนี้กฎหมายใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ หากระงับการบังคับใช้ พ.ร.ก.ในช่วงนี้ กฎหมายเก่าที่มีอยู่ไม่เพียงพอ แต่กฎหมายใหม่นั้น สามารถรองรับสถานการณ์ได้ จากประสบการณ์ในห้วงเวลาที่ผ่านมา ผมคิดว่าเพียงพอ และบางทีดีกว่าด้วยซ้ำ เนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีแต่ความเข้ม และเราใช้ในทุกกรณี แต่ไม่ตอบโจทย์ในทุกกรณี”

 

อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงสิ้นเดือนนี้ แล้วกฎหมายใหม่ยังไม่เสร็จ ก็ต้องมาพิจารณากันอีกครั้ง ซึ่งทางรัฐบาลเองก็ยังเร่งรัดอยู่ เพราะฉะนั้นทันทีที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ฉบับแก้ไขแล้วเสร็จ ก็สามารถบังคับใช้ได้ทันที เหลือเพียงแค่ ศบค.นั้นแปรสภาพ ส่วนจะแปรสภาพอย่างไร ก็คงแล้วแต่กระทรวงสาธารณสุข และทีมงานของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่า จะใช้รูปแบบ ศบค.ปัจจุบันไปประยุกต์ใช้ หรือจะใช้แบบอื่นเลย

logoline