svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

เกือบสุดทางปฏิรูปตำรวจ ความหวังเดียว “นักการเมือง”

31 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นักวิชาการสังคมวิทยาฯ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในกรรมการปฏิรูปตำรวจ เผย วัฒนธรรมองค์กร อุปสรรคใหญ่ ยกข้อเสนออัยการร่วมทำสำนวน เป็นประเด็นร้อนแรง หัวชนฝา หมดโอกาสถ่วงดุลสอบสวน ขาดสำนึกปกป้องประชาชน ความหวังเดียวอยู่ที่นักการเมือง แก้ ร่างพ.ร.บ.ตำรวจ ความก้าวหน้าสุดท้าย

นายอมร วาณิชวิวัฒน์ หนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม(ตำรวจ) ที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานคณะกรรมการฯ เผยถึงงานปฏิรูปของคณะกรรมการชุดของตนว่า เป็นไปด้วยความยากลำบาก ด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่เอื้ออำนวย ยกตัวอย่าง การสำรวจความเห็นของประชาชนในงานวิจัย เรื่องจริยธรรมตำรวจ สมัยศึกษาปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ชี้ชัดว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่อยากมาเป็นตำรวจ โดยไม่ได้คำนึงการเข้ามาทำหน้าที่ สร้างความปลอดภัย การปกป้องภัยอันตราย แต่อ้างว่าเป็นตำรวจแล้วมีคนเกรงใจบางคนเมื่อเป็นนายตำรวจ ต้องมีตู้แดง หรือติดป้ายชื่อติดยศกำกับไว้หน้าบ้านเหมือนให้เพื่อนบ้านรู้สึกเกรงใจเป็นแนวคิดเดิมๆ ที่ต้องการยกฐานะครอบครัว ปกป้องเครือญาติ พวกพ้อง

 

รวมถึงกรรมการปฏิรูปฯ บางคน ซึ่งมีสายสัมพันธ์และอาจได้ประโยชน์จากอำนาจของตำรวจ มีทัศนคติที่เป็นอุปสรคต่องานปฏิรูป เช่น เขาอาจเกรงว่าหากการปฎิรูปที่ตนมีส่วนร่วมไปลดทอนอำนาจสำคัญของตำรวจ อาจมองหน้ารุ่นพี่รุ่นน้องได้ไม่สนิทใจหรืออาจเกรงกระทบคะแนนความนิยมที่เขาอาจหวังจะไปได้ตำแหน่งอะไรเพิ่มหลังเกษียณซึ่งต้องอาศัยเสียงของตำรวจ เลยดูเหมือนจะคัดค้านทุกอย่างที่ไปกระทบสิทธิประโยชน์ของตำรวจกระทั่งการขับเคลื่อนการปฎิรูปดูจะเป็นไปได้ยาก

เกือบสุดทางปฏิรูปตำรวจ ความหวังเดียว “นักการเมือง”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจชุดนี้ ส่งรายงานสรุปกรอบการปฏิรูป 3 เรื่อง ประกอบด้วย การบริหารบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้าย อำนาจหน้าที่และภารกิจตำรวจ และการบังคับใช้กฎหมายและการสอบสวนคดีอาญาซึ่งพบว่าล้วนเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับ ร่างพ.ร.บ ตำรวจแห่งชาติ อันเป็นที่มาของการส่งต่อให้กรรมการชุดต่อๆ มา ช่วยสานต่อเรื่องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ยังค้างการพิจารณาอยู่ในขณะนี้

 

โดย นายอมร กล่าวว่า สาระสำคัญของรายงานฉบับนี้ คือ การสร้างความเป็นธรรม ทั้งการเลื่อนขั้น การโยกย้าย ค่าตอบแทน ที่ต้องวางรูปแบบ หลักเกณฑ์ที่ชัดเจน รัดกุม และเอื้อให้การปฏิบัติงานของตำรวจ สามารถอำนวจความยุติธรรมปกป้องชีวิตทรัพย์สินสวัสดิภาพของประชาชน และยังสร้างมาตรฐานคุณภาพชีวิตของผู้ทำหน้าที่ไปพร้อมๆ กันด้วย เช่น เงินเดือน แม้ว่า จำนวนเงิน ไม่มีผลให้ตำรวจเป็นคนดีได้ แต่ก็เพื่อให้พวกเขาพออยู่ได้อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี ไม่ต้องกังวลเรื่องรายได้กระทั่งกระทบต่อการทำงาน หรือต้องออกมามองหาช่องทางหารายได้ ด้วยวิธีการผิดๆ

เกือบสุดทางปฏิรูปตำรวจ ความหวังเดียว “นักการเมือง”

ที่ยากมาก อย่างประเด็น อัยการ ร่วมกระบวนการทำสำนวน เพื่อให้เกิดการถ่วงดุล ในการประชุมหลายครั้ง ที่มีการนำเสนอประเด็นนี้ ก็จะมีการคัดค้านกันหัวชนฝา กรรมการบางท่านถึงกับเสนอว่า หากอัยการมาร่วมอำนวยการจราจรหรือทำงานอารักขาบุคคลสำคัญระดับสูงเช่นเดียวกับตำรวจได้ ก็จะยอมให้ร่วมปฎิบัติการสอบสวน วัฒนธรรมของตำรวจที่มักมองเป็นเรื่องปกติ อาจด้วยการต้องรู้จักชุมชนพื้นที่ที่ตนดูแล จึงมีโอกาสเข้าไปสร้างสายสัมพันธ์กับผู้มีอิทธิพล พ่อค้า นักธุรกิจนักการเมืองเคยถามนักการเมืองว่าทำไมต้องการตำรวจเป็นผู้ติดตาม ได้รับคำตอบง่ายๆ ว่า ตำรวจพกอาวุธปืนได้ถูกกฎหมาย และสามารถเคลียร์กับฝ่ายต่างๆ ได้ง่าย เหมือนทำอะไรจบได้ในคนคนเดียว

 

นายอมร กล่าวถึงความสำเร็จของการปฏิรูปตำรวจว่า สิ่งแรกที่ขอเสนอคือ จากนี้เราไม่ควรตั้งคณะทำงานชุดใดๆ ขึ้นมาเพื่อศึกษาแนวทางปฏิรูปตำรวจอีกแล้ว เพราะรัฐบาลทุกยุค ทุกสมัยต่างก็มีผลศึกษามาแล้วหลายฉบับ หรืออาจจะยึด สภาปฏิรูปสุดท้ายที่สรุปผลรายงานไว้ ทั้งการแยกงานสืบสวน งานสอบสวน การให้อัยการร่วมทำสำนวน การกำหนดภารกิจ ขอบเขตอำนาจ หน้าที่ ที่น่าจะรวมอยู่ในร่าง พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.... ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในสภา และจะมีผลให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ซึ่งจะทำให้งานปฏิรูปตำรวจมีความก้าวหน้าขึ้นไปอีก สุดท้ายก็ขึ้นกับ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา

เกือบสุดทางปฏิรูปตำรวจ ความหวังเดียว “นักการเมือง”

logoline