svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

“จีน-อินเดีย-บาห์เรน” ขุมทรัพย์ส่งออกเอสเอ็มอีไทย

26 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“จีน-อินเดีย-บาห์เรน” ตลาดศัยกภาพสูง โอกาสใหม่ของการส่งออกสินค้าไทย สร้างรายได้ในระยะยาว สสว.- ส.อ.ท. ร่วมกันจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจเปิดประตูให้เอสเอ็มอีไทยเจาะตลาดการค้าในต่างประเทศ

26 สิงหาคม 2564 นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จึงได้ร่วมกันจัดโครงการพัฒนาศักยภาพและช่องทางการตลาดเชิงลึกสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี  เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าสู่ตลาดจีน อินเดีย และบาห์เรน โดยได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของตลาดทั้ง 3 ประเทศนี้ โดยมีเป้าหมายในการช่วยเหลือเสริมความแข็งแกร่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในยุค New Normal ด้วยหาช่องทางการเปิดตลาดใหม่ๆ ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ผ่านพ้นวิกฤตทางการค้า และส่งผลดีต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในระยะยาว รวมถึงสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ 


ภายโครงการนี้ได้จัดกิจกรรมเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการแบบเข้มข้นใน 3 แนวทางเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการตลาดระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 ได้แก่ การจัดสัมมนา-เวิร์คช็อป, กิจกรรมให้คำปรึกษาปรับปรุงภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์, กิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (ออนไลน์แมชชิ่ง) กับคู่ค้าในแต่ละประเทศ ได้แก่ กิจกรรมจับคู่ธุรกิจ ตลาดอินเดีย ตลาดจีน ส่วนตลาดบาร์เรน จะแบบเป็น 2 กิจกรรม คือ 1.เจรจาจับคู่ธุรกิจ และ2.การทดลองจัดแสดงสินค้าที่ห้าง Thai Mart ประเทศบาห์เรน (Mini Showcase) ซึ่งผู้ประกอบการจะได้ทดลองจำหน่ายสินค้าจริงในประเทศเป้าหมาย 


การจัดโครงการฯ ในครั้งนี้ มีผู้ประกอบการเข้าร่วมทั้งหมดจำนวน 100 ราย แบ่งเป็นกลุ่มสินค้าประเภทต่างๆ ได้แก่  1. อาหาร-เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูป 2. ของที่ระลึก 3. ผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม 4. อัญมณีและเครื่องประดับ โดยคาดการณ์จะมีมูลค่าการเจรจาจับคู่ธุรกิจที่จะเกิดขึ้นจากการจัดโครงการฯ ครั้งนี้ จำนวน 200 ล้านบาท

ทั้งนี้ สสว. และ ส.อ.ท. มีความเห็นตรงกันว่าตลาดประเทศจีน อินเดีย และบาห์เรน จะมีความสำคัญต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอนาคต เนื่องจากประเทศจีนเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ยังเป็นประเทศที่มีการฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ได้รวดเร็วที่สุด ทำให้ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าการเติบโตของจีดีพีของจีนจะสูงถึง 8.5% ต่อปีในปี 2564 ส่งผลให้ยอดการส่งออกของไทยไปจีนในรอบครึ่งปีแรก (มกราคม – มิถุนายน 2564) มีมูลค่ากว่า 600,000 ล้านบาท ขยายตัวสูงถึง 24.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 รวมทั้งยังมีโอกาสขยายการค้าได้อีกมากโดยเฉพาะในกลุ่มของผลไม้ พืชผัก ผลิตภัณฑ์ยางไปจนถึงเครื่องจักรต่าง ๆ 


นอกจากนี้ การเปิดเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากเมืองคุนหมิง ในภูมิภาคจีนตอนใต้ มาถึงเมืองเวียนจันทร์ สปป.ลาว ที่จะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคมปีนี้ ก็จะเพิ่มยอดการส่งออกสินค้าจากไทยไปจีนได้อีกมาก โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตร เนื่องจากเส้นทางรถไฟสายนี้ที่กรุงเวียงจันทน์ อยู่ใกล้กับชายแดนไทยจังหวัดหนองคาย จะช่วยย่นระยะเวลาการขนส่งไปจีนตอนใต้เหลือเพียง 1 วัน และลดค่าขนส่งได้มากกว่า 5 เท่าตัว ซึ่งจะเปิดโอการการส่งออกของเอสเอ็มอีไทยได้อีกมหาศาล


ในขณะที่ประเทศอินเดีย ก็เป็นตลาดที่มีอนาคตสูงของไทย เพราะมีประชากรกว่า 1,300ล้านคน และได้รับการคาดหมายว่าในปี 2050 จะกลายเป็นประเทศที่มี GDP สูงกว่า สหรัฐอเมริกา โดยในปัจจุบันอินเดียเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 10 ของไทย โดยยอดการส่งออกของไทยไปอินเดียในรอบครึ่งปีแรก (มกราคม – มิถุนายน 2564) มีมูลค่ากว่า 126,000 ล้านบาท ขยายตัวสูงถึง 54.8% 

จากศักยภาพทางเศรษฐกิจของอินเดีย ทำให้ถูกมองว่าในอนาคตจะเป็นตลาดส่งออกใหม่ของไทยที่จะมีความสำคัญเทียบเท่าจีน เนื่องจากปัจุบันสินค้าส่งออกของไทยไปอินเดียยังมีปริมาณน้อย ยังเป็นตลาดที่ผู้ส่งออกไม่คุ้นเคยจึงมีโอกาสที่จะเจาะตลาดได้อีกมาก และอินเดียมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูงทำให้มีความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้น แนวโน้มสินค้าส่งออกที่มีแววสดใสคือ อัญมณีและเครื่องประดับ เคมีภัณฑ์และอินทรีย์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก เครื่องสำอาง สบู่ ผลิตภัณฑ์รักษาผิว  และอุปกรณ์ทางการแพทย์


นอกจากนี้ อินเดียยังมีหลายรัฐทำให้มีความต้องการในการบริโภคที่หลากหลาย และยังเป็นประตูในการส่งออกสินค้าจากไทยไปสู่ประเทศข้างเคียง เช่น ศรีลังกา มัลดีฟส์ รวมทั้งไทยยังมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศอินเดีย ทำให้มีความได้เปรียบเหนือกว่าประเทศอื่น และที่สำคัญคนอินเดียมีทัศนคติที่ดีต่อสินค้าไทย สินค้าไทยถูกจัดเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูง และสามารถเข้าถึงได้ 


ส่วน ประเทศบาห์เรน เป็นตลาดที่สำคัญของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง เพราะเป็นประเทศที่ประชาชนมีกำลังซื้อในระดับสูง เนื่องจากเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ประเทศหนึ่ง นอกจากนี้ไทยยังมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-บาห์เรน จึงทำให้สินค้าไทยเสียภาษีในระดับต่ำสร้างความได้เปรียบมากกว่าประเทศคู่แข่ง และทำให้ผู้ประกอบการชาวไทยสามารถเข้าไปทำตลาดได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่ม อาหาร สุขภาพ และความงาม ที่ถือได้ว่ามีความต้องการอยู่ในระดับสูง


รวมทั้งบาห์เรนยังสามารถเป็นประตูการค้าและการลงทุนให้ไทยไปตะวันออกกลาง โดยเฉพาะประเทศในคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council:GCC) ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย , สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ , กาตาร์ , คูเวต , โอมาน และบาห์เรน รวมถึงแอฟริกาตอนเหนือ เอเชียใต้ และเอเชียกลาง


นอกจากนี้ สสว. และ ส.อ.ท. ยังจะมีการจัดงาน “ไทยทำไทยช้อปไทยใช้” Made in Thailand ผ่านทางเว็บไซต์ Shopee.com ระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม -15 กันยายน 2564 งานที่รวบรวมสินค้าจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 1,000 รายการ อาทิ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ของใช้ และของตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องเขียนและอุปกรณ์การเรียน สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม และของขวัญของที่ระลึก พร้อมแจกโค้ดส่วนลดร้านค้ากว่า 50,000 บาท ซึ่งทั้งหมดเป็นสินค้าที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand ทั้งสิ้น ผู้สนใจสามารถเลือกชม และซื้อสินค้าได้ที่ https://shopee.co.th/mitshopcampaign2021 
 

logoline