svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ศบค.เผย อัตราเสียชีวิตหญิงตั้งครรภ์สูงกว่าคนทั่วไป 2.5 เท่า ควรฉีดวัคซีน

25 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศบค. เผย รายงานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ อัตราการเสียชีวิตหญิงตั้งครรภ์สูงกว่าคนทั่วไป 2.5 เท่า เหตุมดลูกขยาย หายใจลำบากมากขึ้น ส่วนผู้อายุเกิน 60 และกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง ดับถึงร้อยละ 92 ของยอดเสียชีวิตทั้งหมด พรุ่งนี้ศบค.ชุดเล็ก ถกคลายล็อกธุรกิจ ก่อนชงชุดใหญ่ เคาะ 27 ส.ค.

วันนี้ (25 ส.ค.) แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ภายในประเทศประจำวัน พุธที่ 25 สิงหาคม 2564 ประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 32 ของโลก พบผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 18,417 ราย แบ่งเป็นติดเชื้อภายในประเทศ 18,261 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 10 รายและจากเรือนจำหรือสถานที่ต้องขัง 146 ราย รักษาตัวอยู่ 189,268 ราย แบ่งเป็นรักษาตัวในโรงพยาบาลหลัก 27,691 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาลสนามและสถานที่อื่นๆ 161,577 ราย หายป่วย 21,186 ราย หายป่วยสะสม 875,579 ราย อาการหนัก 5,189 รายและใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,096 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 297 ราย รวมเสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 63 รวม 10,085 ราย

ศบค.เผย อัตราเสียชีวิตหญิงตั้งครรภ์สูงกว่าคนทั่วไป 2.5 เท่า ควรฉีดวัคซีน

ขณะที่รายงานการฉีดวัคซีนสะสม 28,197,659 โดส ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 สะสมจำนวน 21,231,498 ราย ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 สะสมจำนวน 6,405,537 ราย และฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 สะสมจำนวน 560,624 ราย

 

ขณะที่การตรวจแบบชุดตรวจเร็ว Antigen Rapid Test Kit หรือ  ATK พบมีผลบวกทั่วประเทศ 1,185 ราย ค่าเฉลี่ย 7 วันย้อนหลังพบผลบวก 2,307 ราย และค่าเฉลี่ย 14 วันย้อนหลัง พบผลบวก 2,697 ราย โดยผู้ป่วยที่พบเป็นผลบวก แยกกักตัวที่บ้านจะไม่จำเป็นต้องตรวจ PCR ยืนยันว่าเป็นผู้ติดเชื้อ เพราะฉะนั้นกลุ่มนี้จะไม่ได้นำมาบวกรวมในกลุ่มการรายงานยอดรวมของทั้งประเทศ รวมไปถึงผู้ป่วยที่ไม่สามารถแยกจากตัวที่บ้านได้จำเป็นต้องอยู่ศูนย์แยกกักตัวในชุมชนซึ่งจะต้องมีการตรวจ PCR ยืนยัน ซึ่งจะนำมารวมกับยอดการติดเชื้อในวันถัดไป

 

โดยรายงานผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ 10 ราย แบ่งเป็นลาว 1 ราย กัมพูชา 4 ราย มาเลเซีย ช่องทางธรรมชาติ 1 ราย เมียนมาผ่านทางช่องทางธรรมชาติ 1 ราย เนเธอร์แลนด์ 1 ราย อิสราเอล 1 ราย และสหราชอาณาจักร 1 ราย

 

ผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวน 297 ราย แต่งเป็นชาย 151 ราย หญิง 146 ราย สัญชาติไทย 291 ราย เมียนมา 5 ราย และจีน 1 ราย อายุระหว่าง 17 - 104 ปี โดยผู้เสียชีวิตมีอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 204 ราย อายุต่ำกว่า 60 ปีมีโรคเรื้อรัง 67 รายไม่มีโรคเรื้อรัง 25 ราย เป็นหญิงตั้งครรภ์ 1 ราย อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้มีรายงานผู้เสียชีวิตที่บ้านหรือระหว่างนำส่งจำนวน 2 ราย ที่จังหวัดปทุมธานี

หากแบ่งผู้เสียชีวิตเป็นรายจังหวัดจะพบว่าในพื้นที่กรุงเทพฯเสียชีวิตจำนวน 99 ราย โดยมี 79 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไปคิดเป็นร้อยละ 80 ของผู้เสียชีวิตในพื้นที่ สมุทรปราการ 41 ราย พระนครศรีอยุธยา 16 ราย สมุทรสาคร 15 ราย ชลบุรี 11 ราย ปทุมธานี 10 ราย ปัตตานี และสมุทรสงครามจังหวัดละ 7 ราย นครปฐม ร้อยเอ็ด ฉะเชิงเทรา ระยองจังหวัดละ 6 ราย ตากแ ละปราจีนบุรี จังหวัดละ 5 ราย ขอนแก่น อุบลราชธานี นครสวรรค์ และนครนายกจังหวัดละ 4 ราย กาญจนบุรี ราชบุรี อ่างทองจังหวัดละ 3 ราย นนทบุรี พัทลุง ชุมพร นครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร เพชรบูรณ์ จันทบุรี และสระแก้วจังหวัดละ 2 ราย นครศรีธรรมราช ยะลา ระนอง สุราษฎร์ธานี บึงกาฬ หนองบัวลำภู หนองคาย ศรีสะเกษ ชัยภูมิ แม่ฮ่องสอน ชัยนาท สุโขทัย อุตรดิตถ์ และประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดละ 1 ราย

ศบค.เผย อัตราเสียชีวิตหญิงตั้งครรภ์สูงกว่าคนทั่วไป 2.5 เท่า ควรฉีดวัคซีน

ในที่ประชุม ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศปก.ศบค. มีความเป็นห่วง ในจำนวนผู้เสียชีวิต 297 ราย จะพบว่ากลุ่มผู้เสียชีวิตอายุเกิน 60 ปีมีมากถึง 204 ราย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 69 รวมไปถึงมีโรคประจำตัวถึง 67 ราย คิดเป็นร้อยละ 23 ซึ่งหากนำตัวเลขมารวมกันระหว่างผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ที่มีโรคเรื้อรังหรือเรียกว่ากลุ่ม 608 จะพบการเสียชีวิตถึงร้อยละ 92 หน่วยการรายงานทางสถิติของกรมควบคุมโรคพบว่า หญิงตั้งครรภ์มีการรับวัคซีน ในกลุ่มเป้าหมาย 500,000 ราย ทั่วประเทศ รับวัคซีนไปแล้ว 1 เข็ม 27,519 รายคิดเป็นร้อยละ 5.5 ครบ 2 เข็มเพียง 2,078 ราย คิดเป็น ร้อยละ 0.4 ซึ่งราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ แสดงความเป็นห่วงจากอัตราการติดเชื้อและการเสียชีวิตของหญิงมีครรภ์

ศบค.เผย อัตราเสียชีวิตหญิงตั้งครรภ์สูงกว่าคนทั่วไป 2.5 เท่า ควรฉีดวัคซีน

โดยจากการศึกษาของกรมควบคุมโรคพบว่าหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์มีความหลากหลายตั้งแต่ 12 สัปดาห์เป็นต้นไป จนถึง 42 สัปดาห์ ติดเชื้อรวม ร้อยละ 57 ซึ่งมีความสมบูรณ์พร้อมคลอด จะพบว่ามีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิดอายุครรภ์อยู่ในช่วง 14-28 สัปดาห์มากถึงร้อยละ 27 อายุครรภ์ 29 สัปดาห์ ถึง 42 สัปดาห์ คิดเป็นร้อยละ 30  โดยอัตราการเสียชีวิต ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 14 สัปดาห์ถึง 28 สัปดาห์เสียชีวิตถึงร้อยละ 41 และ 29 สัปดาห์ถึง 42 สัปดาห์ เสียชีวิตถึงร้อยละ 55 โดยราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ พยายามเน้นย้ำว่า อัตราการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ที่เก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ธันวาคม 2563 จนถึง 13 สิงหาคม 2564 พบว่า มีอัตราการเสียชีวิตเป็น 2.5 เท่าของคนทั่วไป ส่วนหนึ่งเพราะสรีระของหญิงตั้งครรภ์มีมดลูกขยายขึ้น ทำให้การหายใจมีภาวะที่ยากลำบาก เมื่อมีการติดเชื้อทำให้มีความเสี่ยงและเสียชีวิตในที่สุด จึงมีหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศว่าหญิงตั้งครรภ์อายุ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เนื่องจากมีอวัยวะที่สมบูรณ์ ทุกกลุ่มอายุของแม่สามารถฉีดวัคซีนได้อย่างปลอดภัยและจะยังส่งภูมิคุ้มกันไปยังลูกในครรภ์ได้ด้วย

 

ขณะที่ในวันพรุ่งนี้จะมีการประชุมศปก.ศบค. เพื่อทบทวนมาตรการ และกำหนดมาตรการการผ่อนคลายต่างๆโดยใช้ข้อมูล การติดเชื้อและเสียชีวิตเพื่อร่วมกันพิจารณา และจะนำไปสู่การประชุมในชุดศบค.ชุดใหญ่ในวันศุกร์ที่ 27 สิงหาคมนี้ ในเวลา 09.00 น

แพทย์หญิงอภิสมัย ยังระบุอีกว่า สิ่งสำคัญที่ประชาชนจะเห็นภาพเสมอคือ การร่วมแรงร่วมใจของกลาโหมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศปม. ระดมความช่วยเหลือ ทั้งทรัพยากรทางทหารและกำลังพล เครื่องมือสนับสนุนภาครัฐอย่างดีเยี่ยมมาโดยตลอด โดยในส่วนของโรงพยาบาลทหาร ทุกเหล่าทัพ ได้มีการขยายขีดความสามารถในส่วนของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหมจัดเป็นเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ตั้งแต่เริ่มต้นปีที่ผ่านมา มีการปรับห้องแยกกักโรค พัฒนาหอผู้ป่วยความดันลบ สามารถรองรับผู้ป่วยได้หลายร้อยเตียง และยังคงทำงานอย่างเข้มงวดและเข้มข้นมาโดยตลอด นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ทั้งปตอ. 1  มทบ. 11 แจ้งวัฒนะ โดยโรงพยาบาลสนามของกลาโหมสามารถรองรับผู้ป่วยในระดับสีเหลืองและสีแดงได้ด้วย นอกจากนี้ในหน่วยทหารทั่วประเทศจำนวน 31 จังหวัด มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เตียงที่รองรับทั่วประเทศจำนวน 7 พันกว่าเตียง และขยายอย่างต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้แพทย์หญิงอภิสมัย ยังชี้แจงถึงกรณีการจัดสรรวัคซีน ว่าจะเป็นไปตามเป้าหรือไม่ ว่า นโยบายของรัฐบาลกำหนดให้ 2564 จะมีการฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดส ซึ่งใน 100 ล้านโดส จะคิดตามอัตราส่วนของประชากรที่ 50 ล้านราย หากคิดโดยคร่าวอัตราการฉีดอยู่ที่ 15 ล้านโดสต่อเดือน และจะต้องฉีดให้ได้ 500,000 โดสต่อวัน โดยการติดตามอัตราการฉีดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเกิน 500,000 โดสต่อวัน ซึ่งเป็นไปตามแผนการจัดการฉีดวัคซีน จะต้องมีการจัดหาวัคซีนให้พอดีกับการฉีดด้วยเช่นกัน โดยเดือนกันยายนจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง จากการที่มีการเริ่มฉีดเข็มแรกให้กับคนจำนวนมาก เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน โดยจะครบกำหนดเข็ม 2 ในช่วงเดือนกันยายน เพราะฉะนั้นการจัดหาวัคซีนเดือนสิงหาคม จะอยู่ที่ 13.8 ล้านโดส ในจำนวนนี้เป็นซิโนแวค 6.5 ล้านโดส astrazeneca 5.8 ล้านโดส ไฟเซอร์ จากยอดบริจาค 1.5 ล้านโดส และซิโนฟาร์มอีก 1 ล้านโดส โดยในเดือนสิงหาคมเป็นไปตามแผน

 

โดยจากเดือนกันยายนจะมีวัคซีนบางส่วนที่มาถึงแล้วและบางส่วนทยอยมารวมแล้วอยู่ที่ 15 ล้านโดส แบ่งเป็นซิโนแวค 6 ล้านโดส astrazeneca 7 ล้านโดส ไฟเซอร์ 2 ล้านโดส ส่วนในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน จะจัดสรรวัคซีนอยู่ที่ประมาณ 17 ล้านโดส แบ่งเป็นซิโนแวค 6 ล้านโดส astrazeneca 7 ล้านโดส เป็นอย่างน้อย  เดือนตุลาคม 8 ล้านโดส พฤศจิกายน และธันวาคมเดือนละ 10 ล้านโดส

 

ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขเป็นห่วงเรื่องของผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรค เนื่องจากหลายคนมีความไม่มั่นใจวัคซีนซิโนแวค โดยอยากจะสะท้อนให้เห็นตัวเลขของการรายงานตัวโรงเรียนแพทย์ ที่ใช้วัคซีนไขว้ ฉีดเข็ม 1 ซิโนแวค และอีก 3 สัปดาห์ตามกระตุ้นด้วยวัคซีน astrazeneca จะช่วยให้มีภูมิคุ้มกันสูงและสามารถป้องกันโรคและอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

logoline