svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

จากนักร้องดังสู่เบื้องหลังแดนชวนฝัน โลกทัศน์เกาหลีใต้กับการค้าประเวณี

13 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ยืดเยื้ออยู่สองปี ในที่สุด “ซึงรี” อดีตนักร้องดังวง BIGBANG ที่ออกจากวงการเพราะตกเป็นผู้ต้องสงสัยในธุรกิจผิดกฎหมาย ถูกศาลเกาหลีใต้ตัดสินโทษจำคุก 3 ปี และปรับ 1,150 ล้านวอน (ราว 33 ล้านบาท) จากความผิดหลายข้อหา รวมถึงการจัดให้มีการค้าประเวณีและลักลอบเล่นการพนัน

ถือเป็นคดีที่อื้อฉาวที่สุดครั้งหนึ่งของแดนโสม กับการเปิดเผยข้อมูลของซึงรี นักร้องดังผู้ดำเนินธุรกิจไนท์คลับ “เบิร์นนิ่ง ซัน” เรื่องนี้ถูกเปิดเผยออกมาในปี 2019 ด้วยสำเนาข้อความสนทนาบนแอปพลิเคชั่น KakaoTalk โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดหาผู้หญิงขายบริการให้นักลงทุนต่างชาติ


เหตุการณ์ดังกล่าวได้สั่นสะเทือนวงการบันเทิงทำให้ตำรวจต้องเร่งเปิดการสืบสวน ด้วยคนมีส่วนเกี่ยวข้องและเป็นผู้ต้องหาคือบุคคลที่อยู่ในความสนใจของสังคม และเมื่อสืบสวนลึกไปกว่านั้นจึงได้พบว่า นอกจากมีเอี่ยวในการจัดหาผู้หญิงเพื่อเงินและผลประโยชน์ทางธุรกิจแล้ว ยังมีเรื่องการยักยอกเงิน, บันทึกคลิปวีดีโอขณะข่มขืนกระทำชำเรา รวมถึงกลุ่มสนทนาลับที่ประกอบด้วยเพื่อนร่วมวงการที่ทั้งรู้เห็นและเป็นผู้ร่วมกระทำผิดอีกหลายคน


โดยที่ผ่านมาศาลได้ตัดสินโทษของคนในวงการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่าง “ชเวจงฮุน” อดีตนักร้องวง  F.T. Island ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 5 ปี และ “จองจุนยอง” อดีตดีเจผู้ถูกตัดสินจำคุก 6 ปี หลังถูกเปิดโปงว่าเขาคือหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มสนทนา และมีวีดีโอหลักฐานบันทึกว่าข่มขืนกระทำชำเรา, แอบบันทึกภาพโดยไม่เต็มใจ และเผยแพร่คลิปอนาจารสู่ระบบอินเตอร์เน็ต 


ผลการตัดสินของศาลจบลงด้วยการสั่งจำคุก ซึงรี 3 ปี และปรับเงิน 1,150 ล้านวอน (ราว 33 ล้านบาท) สร้างความไม่พอใจกับอัยการผู้สั่งฟ้อง จนออกมากล่าวว่า “ผู้ต้องหาไม่แสดงออกถึงท่าทีสำนึกผิด และให้การโยนความผิดให้คนอื่น ทั้งที่เขาเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากอาชญากรรมในครั้งนี้” รวมถึงความเห็นของผู้คนที่ค่อนข้างตรงกันว่าโทษของเขาดูจะน้อยเกินไป


การตัดสินโทษคราวนี้ไม่ได้เป็นตอนจบของคดีความทั้งหมด ยังมีความเกี่ยวพันกับคนในสังคมอยู่หลายกลุ่ม อีกทั้งการค้าประเวณีในสังคมเกาหลีใต้ก็ใช่จะหมดลง หรืออาจกล่าวได้ว่าธุรกิจนี้ได้ฝังรากลึกเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมานาน ไม่ว่าจะสำหรับคนเกาหลีหรือคนต่างประเทศก็ตาม

 

ธุรกิจค้าประเวณีในเกาหลีใต้ เบื้องหลังอันดำมืดที่พยายามกลบฝัง
การค้าประเวณีถือเป็นธุรกิจมืดในเกาหลีใต้มายาวนาน นี่คืออาชีพที่ไม่ถูกรองรับด้วยกฎหมาย มีความพยายามยับยั้งปราบปรามออกจากประเทศให้หมดสิ้น แต่ธุรกิจทางเพศในเกาหลีใต้เองก็มีมูลค่ามหาศาล รายงานในปี 2007 กล่าวว่าเม็ดเงินไหลเวียนภายในธุรกิจนี้น่าจะไม่ต่ำกว่า 14 ล้านล้านวอน คิดเป็นจำนวนถึง 1.6% ของจีดีพีทั้งประเทศในขณะนั้น


ด้วยจำนวนเม็ดเงินที่ไหลเวียนเข้ามาทำให้ถึงแม้เป็นธุรกิจผิดกฎหมาย มีความเสี่ยงและไม่มั่นคง แต่ผู้คนมากมายก็พร้อมจะเข้ามาโลดแล่น นี่คือปัญหาเรื้อรังอย่างหนึ่งของเกาหลีใต้ยากจะขจัดออกไปหมด สถาบันพัฒนาคุณภาพชีวิตสตรีในเกาหลีใต้ประมาณการณ์ตัวเลขว่า น่าจะมีผู้หญิงนับล้านที่เคยเกี่ยวข้องหรือผ่านงานบริการทางเพศมาก่อน 


ส่วนหนึ่งมาจากสภาพสังคมภายในเกาหลีเอง ด้วยแนวคิด "ชายเป็นใหญ่" ฝังลึกและเป็นปัญหามายาวนาน ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว อีกทั้งแนวคิดเก่าแก่ให้รักนวลสงวนตัว และเทความผิดในชีวิตครอบครัวเอนเอียงไปทางฝ่ายหญิง ทำให้ผู้หญิงในสังคมเกาหลีจำนวนมากถูกทำร้ายจากในครอบครัว หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศแต่ไม่กล้าไปแจ้งความ กลายเป็นชนวนผลักดันพวกเธอออกจากสังคมมุ่งสู่ธุรกิจอโคจรได้ง่ายขึ้น


ปัญหาเรื่องธุรกิจค้าประเวณีจึงกลายเป็นปัญหาสังคมและข้อถกเถียงระดับชาติ ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ปัญหาแต่หลายส่วนไม่ค่อยตรงจุด เห็นได้จากแรงงานในประเทศเองที่ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายลงโทษแรงงานค้าประเวณีในปี 2016 แต่ท่าทีของรัฐบาลยังคงแข็งกร้าว ยืนยันว่าอาชีพนี้บ่อนทำลายประเทศ จำเป็นต้องถูกขจัดไปจากสังคม ให้แรงงานในธุรกิจนี้หางานอื่นเลี้ยงชีพ แต่ก็มีข้อโต้แย้งจากนักเคลื่อนไหวว่ารัฐบาลขาดการสนับสนุนส่วนนี้อย่างเพียงพอ

 

มีเพียงความพยายามในการปราบปรามเข้มข้นดังที่ได้เห็น นอกจากดารานักร้องดัง จากการสืบสวนยังสาวไปถึงผู้มีอิทธิพลเบื้องหลัง รวมถึงนายตำรวจและข้าราชการระดับสูงเพิ่มเติม การเข้ามาควบคุมเข้มข้นจนแรงงานกลุ่มนี้เริ่มลดลง ทำให้แรงงานต่างประเทศหลั่งไหลสู่ธุรกิจนี้มากขึ้น จนบางส่วนยกระดับเป็น “การค้ามนุษย์”

 

ผีน้อยกับชะตากรรมอันน่าหดหู่
“ผีน้อย” คือชื่อเรียกกลุ่มคนไทยที่ลักลอบทำงานในเกาหลีโดยไม่มีใบอนุญาต โดยอาศัยฟรีวีซ่าอ้างว่าไปท่องเที่ยวแต่กลับอาศัยอยู่เกินเวลาหรือลักลอบเข้าประเทศ ถือเป็นการกระทำผิดและไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานไทยระบุว่าปี 2019 จำนวนแรงงานไทยในเกาหลีมีมากกว่า 160,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผีน้อยถึง 140,000 คนเลยทีเดียว


โดยมากผีน้อยจะเข้าสู่ภาคธุรกิจใช้แรงงานหนัก ตั้งแต่ด้านการเกษตร, อุตสาหกรรมยานยนต์ ไปจนถึงร้านนวด ด้วยค่าแรงค่อนข้างสูงสร้างเงินได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ต้องแลกกับความเป็นอยู่ที่ไม่ถูกสุขลักษณะจากความแออัดของที่พัก, ชีวิตขาดความมั่นคงเพราะไม่มีกฎหมายคุ้มครอง, ต้องใช้ชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ จากเจ้าหน้าที่รัฐ อีกทั้งถูกทำร้ายและเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างมากมาย แต่หลายคนยังคิดว่ามันคุ้มค่าด้วยทำให้พวกเขามีโอกาสได้ค่าแรงมากกว่าการทำงานภายในประเทศ


จำนวนผีน้อยที่ผันตัวเข้าไปอยู่ในธุรกิจค้าประเวณีไม่อาจทราบตัวเลขแน่ชัด มีทั้งคนเต็มใจทำงานโดยรู้อยู่แล้วว่าต้องเผชิญกับอะไรและมีการตกลงค่าแรงไว้ล่วงหน้า คนกลุ่มนี้จะถูกจัดหากันผ่านนายหน้าและจ่ายเงินเป็นจำนวนมากก่อนเข้ามาทำงาน


แต่บางส่วนก็ถูกล่อลวงไปด้วยอาชีพนวด โดยระบุว่าไม่มีการเสียตัวและรายได้ค่อนข้างสูง แต่นี่เป็นอาชีพที่สงวนไว้ให้คนพิการในเกาหลีใต้ ดังนั้นแท้จริงคือการหลอกพาไปค้าบริการ ดังที่เคยมีแมสเสจขอความช่วยเหลือผ่านไลน์หรือส่งข้อความหาพนักงานร้านสะดวกซื้อของสาวไทยในเกาหลีใต้ช่วงปี 2017

 
อีกกรณีคือสาวชาวบราซิลที่ถูกล่อลวงว่า พวกเธอจะได้รับการเปิดตัวในวงการบันเทิงเกาหลี ได้รับการจัดสรรทั้งค่าตั๋วเครื่องบิน, ที่พัก และอาการการกินให้ แต่กลับถูกกักขังและบังคับให้ค้าบริการจนต้องหนีออกมาขอความช่วยเหลือ บางส่วนยังถูกนำไปเกี่ยวข้องธุรกิจยาเสพติดอีกด้วย


ปัจจุบันปัญหาเหล่านี้เริ่มลดลงทั้งจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด ทำให้ทางการเกาหลีใต้เข้ามาควบคุมปราบปรามแหล่งมั่วสุมเหล่านี้อย่างเข้มงวด แต่นั่นคงเป็นเรื่องชั่วคราวเมื่อผู้คนที่นั่นเองบางส่วนยังให้การสนับสนุน ทั้งผีน้อยและการค้าประเวณีมีเครือข่ายแจ้งเตือนการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ จนทางเกาหลีใต้เองต้องเปิดโอกาสให้เข้าถึงการรักษาพยาบาล ทั้งการตรวจหาเชื้อโควิด หรือการมีประกันเฉพาะสำหรับคนกลุ่มนี้อีกด้วย


นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งอีกทั้งหยิบยกมาพูดถึงแค่ในส่วนของผีน้อยไทยที่มีความเกี่ยวข้องในงานนี้ ซึ่งจริงๆแล้วยังมีชาติอื่นที่เกี่ยวพันในธุรกิจอีกมาก รวมถึงภายในเกาหลีเอง นั่นทำให้ธุรกิจมืดชนิดนี้ยังคงดำเนินต่อไม่มีวันจบสิ้น

logoline