svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สปุตนิก วี วัคซีนนำร่อง กลาโหม ปิดประตูไฟเซอร์ หมอบุญ

05 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แม้ ‘โรงงานเภสัชกรรมทหาร’ ของกลาโหม จะสามารถนำเข้าวัคซีนได้ แต่เกรงจะซ้ำซ้อนกับหน่วยงานรัฐอื่นๆและไม่มีแผนร่วมงานเอกชน แต่พร้อมให้ความร่วมมือผลิต ยาฟาวิพิราเวียร์ หากได้รับการร้องขอ

‘กลาโหม’ กลายเป็นทางเลือกหนึ่งที่ นพ.บุญ วนาสิน หรือ ‘หมอบุญ’ ประธานกรรมการ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) เล็งไว้เพื่อขอให้เป็นตัวกลางนำเข้าวัคซีนทางเลือกที่ใช้เทคโนโลยี mRNA อย่างไฟเซอร์ 20 ล้านโดส นำมาบริการประชาชนและลูกค้าโรงพยาบาลในเครือธนบุรี

หลังมีการชี้เป้าว่าไม่เพียงแต่ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ฯ องค์การเภสัชกรรม กรมควบคุมโรค สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และสภากาชาดไทยเท่านั้น ที่สามารถนำเข้ายาและเวชภัณฑ์จากต่างประเทศในนามหน่วยงานของรัฐบาลไทยได้ แต่ยังมี “โรงงานเภสัชกรรมทหาร” สังกัดกระทรวงกลาโหม ก็มีใบอนุญาตเช่นกัน

 

สปุตนิก วี วัคซีนนำร่อง กลาโหม ปิดประตูไฟเซอร์ หมอบุญ

งานนี้ ทำเอาผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายออกอาการงุนงง หลัง ‘หมอบุญ’ ให้ข้อมูลว่าภายในสัปดาห์นี้เตรียมเซ็นสัญญากับ ‘กระทรวงกลาโหม’ เพื่อให้เป็นหน่วยงานนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ เพราะการดำเนินการดังกล่าวมีหลักเกณฑ์ชัดเจนว่าจะต้องไม่เป็นเชิงพาณิชย์ อีกทั้งต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาล

 

แม้ต่อมา หมอบุญ จะออกมาปฏิเสธ หลังจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งให้ชี้แจง เนื่องจากอาจมีผลต่อหุ้น บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ซึ่ง หมอบุญ ก็อ้างว่าข้อมูลดังกล่าวไม่ได้ออกมาจากปากตนเอง และได้แจ้งให้สำนักข่าวที่สัมภาษณ์แก้ไขเนื้อหาแล้ว

 

กรณี หมอบุญและธุรกิจโรงพยาบาล ก็ว่ากันไป ทว่า ในส่วนของกระทรวงกลาโหมที่ถูกโยงประเด็นในเรื่องนี้ ก็ถูกโฟกัสว่า กระทรวงด้านความมั่นคง มีภารกิจเกี่ยวข้องได้อย่างไร

จึงต้องมาทำความรู้จักกับ ‘โรงงานเภสัชกรรมทหาร’ ที่ก่อตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหาขาดแคลนยาและเวชภัณฑ์ในยามสงคราม และเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความชำนาญให้กับบุคลากรในยามปกติ และเป็นคลังสำรองระดมยาและเวชภัณฑ์ยามฉุกเฉิน ซึ่ง “เป็นหลักประกันหนึ่งของความมั่นคงแห่งชาติด้านยา”

 

โดยภารกิจหลัก มีหน้าที่ ดำเนินการ ศึกษาค้นคว้า วิจัยพัฒนา เตรียมการผลิตยาและเวชภัณฑ์ทางการทหารที่จำเป็นในภาวะฉุกเฉินและผลิต รับจ้างผลิต จำหน่าย จัดหา วิจัย วิเคราะห์ยาและเวชภัณฑ์สนับสนุนกองทัพ และส่วนราชการสังกัดกระทรวงกลาโหม หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สปุตนิก วี วัคซีนนำร่อง กลาโหม ปิดประตูไฟเซอร์ หมอบุญ

แม้ ‘โรงงานเภสัชกรรมทหาร’ ถือเป็นส่วนราชการหนึ่งของรัฐ สามารถนำเข้าวัคซีน หากปฏิบัติตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)แต่ ‘กลาโหม’ มองว่าจะเกิดความซ้ำซ้อน และเหมือนไปแย่ง 4 หน่วยงานรัฐที่ดำเนินการอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนความร่วมมือกับภาคเอกชนในการนำเข้าวัคซีนเชิงพาณิชย์ไม่มีแน่นอน

 

แหล่งข่าวกระทรวงกลาโหม ระบุว่า โรงงานเภสัชกรรมทหาร ไม่เพียงแต่สามารถนำเข้าวัคซีนได้เช่นกับส่วนราชการอื่นของรัฐ แต่ยังมีศักยภาพผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ ที่ขณะนี้อยู่ในสภาวะขาดแคลน หลังยอดผู้ติดเชื้อรายงานเพิ่มสูงต่อเนื่อง หากได้ รับการร้องขอองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ก็พร้อมดำเนินการทุกเมื่อ แต่สำหรับนำเข้าวัคซีนเกรงว่าจะซ้ำซ้อน

 

ตามข้อเท็จจริงแล้ว 'กลาโหม’ มีแนวคิดนำเข้า ‘วัคซีน’ รูปแบบ ‘บริจาค’ โดยใช้กลไกความร่วมมือของ ‘ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน’ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย หลังปีที่แล้วได้ประสานความร่วมมือกับกลาโหมมิตรประเทศ และกลาโหมจีน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและถอดบทเรียนเหตุการณ์อู่ฮั่น เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรทางการแพทย์ และการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ร่วมกัน

สปุตนิก วี วัคซีนนำร่อง กลาโหม ปิดประตูไฟเซอร์ หมอบุญ

ปีนี้ ‘โควิด-19’ ระบาดหนักโดยเฉพาะประเทศอาเซียน ‘กลาโหมไทย’ จึงเห็นควรยกระดับ‘ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน’ ให้มีการขับเคลื่อนเพื่อสานต่อภารกิจเมื่อปีที่แล้วกับกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง คือเรื่องการขาดแคลนวัคซีน หยุดการแพร่ระบาดของโรค

 

ทั้งนี้ ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนถูกริเริ่มและก่อตั้งขึ้นในประเทศไทย ถือเป็นความร่วมมือระหว่างกลาโหมอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และกระทรวงกลาโหมสหพันธรัฐรัสเซีย หวังมีบทบาทในการส่งเสริมกิจการแพทย์ทหารในภูมิภาค และบทบาทในการสนับสนุนความร่วมมือทางทหารอื่น ๆ ในกรอบประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ADMM) และประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา (ADMM - Plus) สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและลดความหวาดระแวงระหว่างต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก

 

วัคซีน “สปุตนิก วี” ของประเทศรัสเซีย คือ เป้าหมายที่ ‘กลาโหมไทย’ หวังใช้ความสัมพันธ์ที่ดีกับ ‘กลาโหมรัสเซีย’ ด้วยการขอรับบริจาคนำมากระจายแบ่งสัดส่วนให้กับกลุ่ม 10 ประเทศอาเซียน ตามเงื่อนไขที่อาจจะมีการระบุเอาไว้เช่น ฉีดให้ทหารหน้าด่าน หรือ พื้นที่เสี่ยง และอาจครอบคลุมไปถึงประชาชนทั่วไป

“เป็นแนวคิดของกระทรวงกลาโหม คาดการณ์กันว่าจะเริ่มจากประเทศรัสเซีย เป็นประเทศนำร่อง ส่วนหนึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์  ความร่วมมือทางทหารระหว่างรัสเซีย และประเทศอาเซียนใกล้ชิดมากขึ้น จากนั้นเชื่อว่าก็จะมีประเทศอื่นๆ ที่ผลิตวัคซีนได้ทั้ง สหรัฐฯ อังกฤษ จีน ทยอยเข้ามา ” แหล่งข่าวกระทรวงกลาโหม ระบุ

 

ทั้งนี้ ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน ถูกจัดตั้งขึ้นภายใต้การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน เมื่อปี 2559 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือของประเทศสมาชิก 10 อาเซียน ในด้านการแพทย์ทหาร และเป็นศูนย์กลางของกิจการแพทย์ทหารในภูมิภาค ผ่านความร่วมมือกับองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ภายใต้สโลแกน ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’

 

ขอขอบคุณ : กรุงเทพธุรกิจ 

logoline