svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ฝ่ายค้านตั้งฉายา นายกฯ"บิดาเหลื่อมล้ำ-ผู้นำก่อหนี้"

01 กรกฎาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เพื่อไทย"ให้ฉายานายกรัฐมนตรี "บิดาแห่งความเหลื่อมล้ำ-ผู้นำแห่งการก่อหนี้" ติงจัดงบ 64 ไม่ช่วยฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 หวั่นสร้างหนี้สาธารณะเต็มเพดาน จนไม่สามารถกู้ได้อีก

(1 กรกฎาคม 2563) น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีมาหลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งไหนที่น่าห่วงใยและกังวลมากเท่าครั้งนี้ เนื่องจากโครงสร้างของงบประมาณรายจ่าย จำนวนไม่เกิน 3.3 ล้านล้านบาท แบ่งออกได้เป็น 3 รายการใหญ่ๆ 1.รายจ่ายประจำ 2.526 ล้านล้านบาท คิดเป็น 76.5% 2.รายจ่ายลงทุน 6.74 แสนล้านบาท คิดเป็น 20.5% และ 3.รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 99,000 ล้านบาท คิดเป็น 3%
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณารายจ่ายประจำและรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ ซึ่งรวมแล้วเป็นเงินจำนวน 2.625 ล้านล้านบาท ในขณะที่รายได้ที่มาจากการจัดเก็บภาษีประมาณไว้ 2.677 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้กันหากการจัดเก็บภาษีเป็นไปตามประมาณการ แต่หากการจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าประมาณการ ไม่มีเงินเหลือที่จะพัฒนาปรับปรุงหรือลงทุนเพื่อเพิ่มรายได้ยกเว้นจะต้องไปกู้มาเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม ซึ่งเชื่อว่าไม่สามารถเก็บได้ตามเป้า ขณะที่รายจ่ายประจำสูงขึ้นเรื่อยๆ ปีนี้ขึ้นเป็น 2.526 ล้านล้านบาท เฉลี่ยโตขึ้น 2.22 เท่า ในขณะที่รายจ่ายลงทุนปี 6.74 แสนล้านบาท หรือโตขึ้นแค่ 1.8 เท่า เพราะรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ สร้างรัฐราชการ จึงทำให้มีรายจ่ายประจำสูงขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่าง กองทัพไทยมีหน่วยงานซ้ำซ้อน ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงภารกิจด้านการป้องกันประเทศที่ภัยคุกคามเปลี่ยนแปลงรูปแบบเป็นการก่อการร้าย การรบกันด้วยกำลังพลที่มาก เหมือนสมัยสงครามโลกจะไม่มีอีกแล้ว

ฝ่ายค้านตั้งฉายา นายกฯ"บิดาเหลื่อมล้ำ-ผู้นำก่อหนี้"


"การที่มีกำลังพลมากเกินความจำเป็น จึงเป็นภาระกับงบประมาณของประเทศ และยังเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น ภารกิจแรกที่รัฐบาลจะต้องทำ คือ ลดจำนวนข้าราชการลง เพื่อลดรายจ่ายประจำที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้มากที่สุด และทำให้กลายเป็นรัฐของประชาชน จะสามารถทำให้เก็บภาษีได้มากขึ้นและนำเงินก้อนนั้นมาพัฒนาประเทศต่อไป แต่ตรงกันข้ามแทนที่จะลดกำลังพลที่ไม่จำเป็น แต่กลับให้วันเวลาทวีคูณกับทหารตำรวจตำแหน่งนายพลทั่วประเทศ หรือการให้สองขั้นกับพวกที่มาช่วยงาน คสช. งบประมาณเกือบแสนล้านบาท"น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยกำลังจะเสียฐานภาษีสำคัญ ซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศมีกฎหมายและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อจูงใจให้มีการลงทุนในประเทศ มูลค่าการส่งออกโดยเฉพาะรถยนต์ รวมเครื่องใช้ไฟฟ้า รวม 15% ของจีดีพี ประเทศ แต่เมื่อสองเดือนที่ผ่านมา หลายบริษัทกำลังจะปิดตัวในไทย และย้ายฐานการผลิตไปเพื่อนบ้าน แต่รัฐบาลได้เตรียมฐานการผลิตภาษีใหม่มาแทนแล้วหรือไม่ เพราะหากยังปีหน้าจะกลายเป็นหายนะอีกเช่นกัน
ขณะเดียวกัน ตนพิจารณางบประมาณที่เพิ่มขึ้น งบกลางเพื่อแก้โควิด 40,325 ล้านบาท ซ้ำซ้อนกับ พ.ร.ก.กู้เงิน และไม่ก่อให้เกิดการผลิตที่จะนำมาซึ่งภาษี กระทรวงการคลังเพิ่มขึ้น 21,075 ล้านบาท เป็นรายการใช้จ่ายเพื่อชำระหนี้และดอกเบี้ยซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดการผลิต กระทรวงคมนาคมโดยกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท เพิ่มขึ้น 16,687 ล้านบาท และกระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกรองท้องถิ่นและกรมโยธาธิการและผังเมือง เพิ่มขึ้น 12,773 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณที่เพิ่มขึ้น คือ การสร้างถนน เป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานแบบเก่า ไม่ตอบโจทย์ของโลกหลังโควิด-19 เช่น อุตสาหกรรมอาหารปลอดภัย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ และอุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข เป็นต้น
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวต่อว่า ฐานะการคลังของรัฐบาลมีความเปราะบางและสุ่มเสี่ยงต่อการล้มละลาย รัฐบาลกู้เองโดยตรง และหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันทั้งสิ้น 6.98 ล้านล้านบาท คิดเป็น 43.8% ของจีดีพี หน้าเป็นห่วงว่าถ้าการประมาณการรายได้ผิดและไม่สามารถเก็บภาษีได้ตามเป้า นั่นหมายความปีงบประมาณต่อไปเหลือให้กู้ได้ไม่เกิน 60% ของจีดีพี จะเต็มเพดานและไม่สามารถกู้เงินมาพัฒนาเศรษฐกิจได้อีก
"จากสถิติก็เห็นได้ชัดเจนว่ารัฐบาลจัดเก็บรายได้ต่ำไว้กว่าที่ประเมินมา 6 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2557 ถึงตอนนี้ แปลว่าประชาชนขาดกำลังซื้อ จึงทำให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้น้อยลง แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มตกต่ำมาตั้งแต่การยึดอำนาจ เฉลี่ยตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2562 รวม 5 ปีชำระหนี้เงินต้นไปจำนวน 220,875 ล้านบาท เฉลี่ยแล้วชำระคืนต้นเงินกู้ประมาณปีละ 44,000 ล้านบาท หากรวมหนี้ที่กู้มาชดเชยการขาดดุลงบประมาณรวม 2.791 ล้านล้านบาท จะต้องใช้เวลาชำระคืนถึง 64 ปี" เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าว
นอกจากนี้ ยังไม่นับรวมหนี้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1.1 ล้านล้านบาท หรือหนี้ที่จะต้องกู้ในปีงบประมาณ 2565 ถ้ายังสามารถกู้ได้ซึ่งอาจต้องใช้เวลาเกือบ 100 ปีจึงจะชำระหมด ตอนนี้รัฐบาลจะก่อหนี้ได้ไม่เกิน 2.4 ล้านล้านบาท ที่เป็นยอดเต็มเพดานการก่อหนี้เมื่อรวมเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน และที่ต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2564 จึงเหลือวงเงินที่จะก่อนหนี้ได้ภายในปี 2564 อีกประมาณ 750,000 ล้านบาท และหากมีเหตุอันไม่คาดฝันเกิดขึ้นจะทำให้ยอดหนี้สาธารณะสูงจนกู้เงินไม่ได้อีก

"วันนี้นายกรัฐมนตรีจึงกลายเป็นผู้นำของไทยที่กลายเป็นบิดาแห่งความเหลื่อมล้ำ ผู้นำแห่งการก่อหนี้ ซึ่งหากอนาคตหนี้เต็มเพดานและรัฐบาลก่อหนี้ไม่ได้อีก จะเป็นปัญหากับการพัฒนาประเทศ ตอนนี้ประชาชนไม่มีรายได้ แต่หนี้สูง โจทย์คือรัฐบาลจะเพิ่มกำลังซื้อในประเทศได้อย่างไร การเยียวยาที่จะจบในเดือนนี้ ก็ยิ่งจะทำให้สถานการณ์แย่ลงอีก ตัวเลขคนตกงานจะพุ่งนี้เป็น 7-10 ล้านคน รัฐได้เตรียมอะไรไว้บ้าง นอกจากการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่สิ่งที่น่าผิดหวังคือการจัดทำงบประมาณในปีนี้ กลับไม่ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับความจำเป็นตอนนี้ แถมยังมีข้อมูลหลายส่วนส่อไปในทางทุจริต ฮั๊วประมูล ล็อกสเปก รัฐบาลกลายเป็นพ่อค้าหาบเร่ขายงบประมาณให้กลุ่มทุน"น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุ

ฝ่ายค้านตั้งฉายา นายกฯ"บิดาเหลื่อมล้ำ-ผู้นำก่อหนี้"



ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ชี้แจงว่า การจัดงบประมาณเป็นการวางโครงการไว้ในอนาคต เพราะโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ถนน ยังไม่เพียงพอ และเตรียมสำหรับการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษในอนาคต ซึ่งตนพูดแล้วก็ทำ ไม่เหมือนหลายรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่เคยทำแบบนี้ได้ ส่วนตัวเห็นว่าทุกคนมีผลกระทบ อาจจะมีการลดค่าแรงไปบ้าง แต่ข้อสำคัญคือภาคเอกชนจ้างงานต่อ
ส่วนการจัดเก็บงบประมาณไม่พอเพียง เนื่องจากบางปีมีการประมูลของ กสทช. หรือบางปีประชาชนเดือดร้อน ก็จะเก็บไม่ได้เท่าที่ตั้งไว้ แต่ตอนนี้กำลังใช้ระบบออนไลน์มาตรวจสอบการจัดเก็บภาษีเพื่อชัดเจนมากขึ้น จึงเป็นช่วงของการพื้นฟูและการส่งต่อ แต่ต้องใช้เวลา การแจกเงินก็ไม่ใช่เพื่อการเมืองคือหว่านให้ทุกคน แต่ต้องเลือกกลุ่มให้ถึงคนเดือดร้อนจริงๆ ส่วนการใช้หนี้สาธารณะ หลายประเทศมีหนี้จำนวนมาก แต่มีหน่วยงานสำหรับการใช้หนี้อยู่แล้ว
"หลายข้อเสนอบอกว่าอยากให้ประเทศไทยเป็นแหล่งอาหารโลก ส่งเสริมการเกษตร แต่ต้องคิดถึงอุปสงค์และอุปทาน แต่ต้องคิดถึงการลดต้นทุนด้วย ไม่ใช่ผลิตมากๆ แล้วต้นทุนสูงก็ไปสู้เขาไม่ได้ ทำอะไรต้องคิดให้ครบทั้งวงจร นี่คือสิ่งที่ยากและทำมาหลายปีกันแล้วก็ทำไม่ได้"นายกฯ กล่าว
ส่วนการย้ายฐานการผลิต ตนไปตรวจสอบเป็นเพียงฐานการผลิตชิ้นเล็กๆ น้อยๆ ส่วนของไทยจะเพิ่มการผลิตสินค้าใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งตนสอบถามมานานแล้ว และยืนยันว่าทหารไทยกับทหารต่างประเทศ มีภารกิจต่างกัน ทหารไทยต้องดูแลประเทศ ดูแลชายแดน อยากให้ดูกฎหมายทุกตัว ไม่ใช่ดูแค่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วถ้าไม่ทำอย่างนั้นมาแล้ว วันนี้ (1ก.ค.) จะมานั่งประชุมสบายๆ แบบนี้ได้หรือไม่
ส่วนฉายาที่ฝ่ายค้านให้นั้น นายกรัฐมนตรี ได้แต่หัวเราะ แล้วตอบกลับว่า "ไม่อยากไปให้ฉายาท่านกลับเหมือนกัน"

logoline