svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิดพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ คุมโควิดต่อหลังปลดล็อก100%

23 มิถุนายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กฎหมายฉบับหลักที่จะนำมาใช้ควบคุมสถานการณ์ "โควิด" หากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จริงๆ ก็คือ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 คำถามคือกฎหมายฉบับนี้จะ "เอาอยู่" หรือไม่

พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นกฎหมายฉบับใหม่ที่ยกร่างขึ้นมาทดแทนฉบับเดิม และเพิ่งมีการประกาศใช้ในยุครัฐบาล คสช. ปี 58 ที่ผ่านมานี้เอง
ไล่ดูเนื้อหา 60 มาตราของ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เห็นได้ชัดว่ามาตรการหลักๆ ที่ใช้ควบคุมการระบาดของโควิด-19 ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา ล้วนมาจาก พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เกือบทั้งสิ้น เช่น กักกันตัวกลุ่มเสี่ยงหรือผู้สัมผัสโรค (มาตรา 34) ห้ามเข้าหรือออกจากสถานที่หรือยานพาหนะ (มาตรา 34-35) สั่งปิดตลาด สถานที่ชุมชน โรงมหรสพ โรงเรียน (มาตรา 35) มาตรการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังป้องกันโรคติดต่อระหว่างประเทศ และการตั้งด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ (มาตรา 39-40)
นอกจากนั้นยังมีคณะกรรมการโรคติดต่อตั้งแต่ระดับชาติ ระดับจังหวัด และกทม. (มาตรา 11, 20 และ 26) ซึ่งถูกวางโครงสร้างการทำงานตามหลักการกระจายอำนาจ คือให้แต่ละจังหวัดสามารถกำหนดมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่ของตนเองได้ เพื่อความยืดหยุ่น ไม่จำเป็นต้องบังคับเหมือนกันทั่วทั้งประเทศ (ผลด้านหนึ่งทำให้เศรษฐกิจบางส่วนสามารถขับเคลื่อนไปได้ ไม่ต้องหยุดนิ่งหรือถูกแช่แข็งเหมือนกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแบบครอบคลุมทั้งประเทศ)

อำนาจที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯไม่มีในสถานการณ์ป้องกันการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา มีเพียง "เคอร์ฟิว" กับ "ปิดน่านฟ้า" เท่านั้น ซึ่งในส่วนของการปิดน่านฟ้าเป็นอำนาจของสำนักงานการบินพลเรือนฯ ตาม พ.ร.บ.เดินอากาศฯ ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังถกเถียงกันอยู่ว่า การประกาศปิดน่านฟ้าเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จของสำนักงานการบินพลเรือนฯ หรือใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯกันแน่
และสุดท้ายคือ "เคอร์ฟิว" ที่เป็นเหตุผลหลักในการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ครั้งก่อนหน้านี้ แต่ปัจจุบันเคอร์ฟิวก็ถูกยกเลิกไปแล้ว และหากจะกลับมาประกาศเคอร์ฟิวอีก ก็ยังสามารถใช้กฎหมายที่มีดีกรีการลิดรอนสิทธิ์อ่อนกว่ามาทดแทนได้ เช่น พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ (มาตรา 18) ซึ่งก็ให้อำนาจสั่งห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนดเหมือนกัน รวมไปถึงการตั้งด่านปิดการคมนาคมด้วย

ส่วนมาตรการห้ามชุมนุมมั่วสุม น่าจะปรับใช้จาก พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ได้เหมือนกัน เพราะเป็นการทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด

logoline