svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เด็กไทย "ท้องไม่พร้อม" เกินมาตรฐานโลก

29 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"คนท้องไม่พร้อม" ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นประเทศไทยมากถึงร้อยละ 15 เกินกว่าค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไม่เกินร้อยละ 10 ส่งผลต่ออนาคตของเด็กและเยาวชนที่เกิดมาในหลายมิติ ขณะที่"คนพร้อมไม่ท้อง"ผู้ที่มีความพร้อมทั้งวัยวุฒิและฐานะ มักไม่ค่อยมีบุตร

เมื่อราว 40-45 ปีก่อน ภาครัฐมีการรณรงค์ให้คนไทยมีลูกน้อยลง พร้อมคำขวัญ "มีลูกมากจะยากจน" แต่ในวันนี้ กลับกลายเป็นการรณรงค์ "มีลูกเพื่อชาติ" เนื่องจากจำนวนเด็กแรกเกิดที่ลดลงทุกปี กระทั่งในปี 2561 สถิติอยู่ที่ 666,109 คนทำให้เกิดความกังวลต่อภาวะพึ่งพิงสูงจากการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยในอนาคต
ปัญหาเด็กเกิดลดลงไม่ได้มีแค่ในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นหลายประเทศ จนภาครัฐต้องมีนโยบายดึงดูดใจให้คนมีลูกมากขึ้น เช่น สิงคโปร์ มอบเงินโบนัสก้อนหนึ่งทันที โดยลูกคนที่ 1 และ 2 ได้รับคนละ 6,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ คนที่ 3 และ 4 ได้รับคนละ 8,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ โดยแบ่งจ่าย 3 งวด ภายใน 1 ปีหลังจากเด็กเกิด นอกจากนี้ พ่อแม่ยังสามารถเปิดบัญชีเงินฝากเพื่อการพัฒนาเด็ก และรับเงินสมทบอื่นๆ อีกมากมาย
อย่างไรก็ตาม นโยบายกระตุ้นดังกล่าวกลับไม่เป็นผล เนื่องจากกลุ่มคนที่ได้ชื่อว่า มีวุฒิภาวะ และ มีฐานะมั่นคงหลายครอบครัวมองว่าการมีลูก "คือ ภาระ" และ "เงิน" ไม่ใช้สิ่งดึงดูดใจมากมายขนาดนั้น เกิดภาวะ เมื่อคนพร้อมไม่ท้อง แต่ "คนท้อง" กลับ "ไม่พร้อม"
ศ.นพ.สุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล นายกสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สวท.) กล่าวในงานแถลงข่าว "Power of Optionsอนาคตที่เราเลือกได้"จัดโดยสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย ร่วมกับ สวท. และบริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด เนื่องในวันคุมกำเนิดโลก 2562 (World Contraception Day 2019) ภายใต้แนวคิด "Power of Optionsอนาคตที่เราเลือกได้" เพื่อสร้างความตระหนักให้วัยรุ่นเห็นความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการคุมกำเนิด เพื่อวางแผนอนาคตและสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ เมื่อวันที่ 26 กันยายน ว่าปัญหาด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ของประเทศไทยส่งผลกระทบเชิงสังคมที่รุนแรงต่อเนื่อง
ดังที่เราได้รับรู้จากสื่อต่างๆ ว่า "คนท้องไม่พร้อม" ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา โดยปัจจุบัน ประเทศไทยมีวัยรุ่นท้องไม่พร้อมมากถึงร้อยละ 15 เกินกว่าค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ คือ ไม่เกินร้อยละ 10 ซึ่งจะส่งผลต่ออนาคตของเด็กและเยาวชนที่เกิดมาในหลายมิติ กลายเป็นประเด็นที่น่าห่วงโดยเฉพาะคุณแม่วัยใสที่ขาดความรู้ในการคุมกำเนิดอย่างถูกต้องเมื่อตั้งครรภ์
สำหรับอีกประเด็นปัญหาในปัจจุบันก็ คือ "คนพร้อมไม่ท้อง" ผู้ที่มีความพร้อมทั้งวัยวุฒิและฐานะ มักไม่ค่อยมีบุตร นโยบายของกระทรวงสาธารณสุข คือ ทุกการเกิด...ต้องเกิดอย่างมีคุณภาพ หากพ่อแม่ไม่มีคุณภาพ การเกิดก็จะไม่มีคุณภาพตามมา
ทั้งนี้ข้อมูลของกรมอนามัยปี 2561 พบว่า การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นโดยเฉพาะเพศหญิงอายุ 10-19 ปี คลอดบุตรรวมทั้งสิ้น 72,566 คนหรือเฉลี่ย 199 คนต่อวัน ลดลงจากในปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 84,578 คน หรือเฉลี่ย 232 คนต่อวัน ส่วนการคลอดซ้ำของหญิงอายุ 10-19 ปีในปี 2561 มีจำนวน 6,543 คน หรือร้อยละ 9 ลดลงจากปี 2560 ที่มีการคลอดซ้ำจำนวน 9,093 คน หรือร้อยละ 10.8 หากพิจารณาเฉพาะวัยรุ่นในช่วงอายุ 10-14 ปี พบมีการคลอดบุตร 2,385 คน ลดลงจากปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 2,559 คน หรือเฉลี่ยเท่ากันที่ วันละ 7 คน
นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า แม้ตัวเลขจะลดลงแต่เรายังพบปัญหาทอดทิ้ง ทำร้ายเด็ก และทำแท้ง ดังนั้น ควรคุมกำเนิด ด้วยวิธีที่ถูกต้อง หลักมีด้วยกัน 2 วิธี คือ "ผู้ชาย" การใช้ถุงยางอนามัย และ "ผู้หญิง" การใช้ฮอร์โมน ตั้งแต่การทานยาเม็ดคุมกำเนิด, ยาฉีดคุมกำเนิด, ยาฝังคุมกำเนิด, ห่วงอนามัย และแผ่นแปะ โดยทุกวิธีที่ว่ามาประสิทธิภาพมากกว่า 99.99% เพียงแต่ว่าต้องใช้อย่างถูกวิธี โดยเฉพาะยาเม็ดคุมกำเนิด ปัญหาที่พบคือ การกินไม่ตรงเวลา ลืมกิน
ส่วน "ยาคุมฉุกเฉิน" ใช้สำหรับกรณีฉุกเฉินกรณีมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันมาก่อน หรือโดนล่วงละเมิดทางเพศ แต่อย่างไรก็ตาม มีประสิทธิภาพเพียงแค่ 75% ปัจจุบัน พบการใช้ผิดวัตถุประสงค์ คือ ใช้ประจำเพราะไม่อยากทานยาคุมปกติ ซึ่งไม่ถูกต้อง เนื่องจากยาคุมฉุกเฉินมีฮอร์โมนค่อนข้างสูง อาจทำให้เกิดปัญหาการตกเลือด คลื่นไส้ อาเจียน ฯลฯ ดังนั้น เดือนหนึ่งควรใช้ไม่เกิน 2 ชุด
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักและเข้าใจในเรื่องการคุมกำเนิดแก่เด็ก วัยรุ่น และวัยเจริญพันธ์ สวท. ได้เปิดช่องทาง Line : @HAPPY FAMILY By PPAT ให้ปรึกษา พูดคุย แบบส่วนตัวโดยผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงจัดกิจกรรมร่วมกับภาครัฐและเอกชน อาทิ ร่วมกับกรมอนามัย และ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด ทำคู่มือรอบรู้เรื่องยาเม็ดฮอร์โมนรวมภายใน 3 นาที สำหรับเภสัชกร เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับผู้ที่มารับบริการ
รวมถึง ยังจัดทำสื่อวิดีโอออนไลน์ผ่านทาง เฟซบุ๊คแฟนเพจ "Young Love รักเป็น ปลอดภัย รวมถึงกิจกรรมต่างๆ อาทิ การเปิดช่องทางความรู้ Line@YoungLove และให้คำปรึกษาในมหาวิทยาลัย และในโรงงานอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 ในปีนี้ มีแผนจัดกิจกรรมทั้งสิ้น 60 ครั้ง แบ่งเป็น ในสถานศึกษา 24 ครั้ง และโรงงาน 36 ครั้ง โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 4 หมื่นคน

logoline