svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

อะไรทำให้ลูกหลานไม่มีโอกาสกลับไปหาอาม่า

07 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

‘หลานม่า’ คือภาพยนตร์เรื่องใหม่ของ GDH ที่ยกประเด็นการมีเวลาให้กันระหว่างลูกหลานและผู้สูงวัยขึ้นมาอย่างน่าสนใจ เมื่ออากงอาม่าอยากเจอหน้าลูกหลาน ส่วนลูกหลานที่แม้จะอยากไปเยี่ยมเยียนหาบ่อยๆ แต่ก็ต้องเจอกับอุปสรรคไม่น้อยในชีวิต

“รู้ปะ สิ่งที่คนแก่เขาต้องการ แต่ไม่มีลูกหลานคนไหนให้ได้คืออะไร?”

“เวลา”

คำพูดดังกล่าวนับเป็นแก่นสำคัญของภาพยนตร์เรื่อง ‘หลานม่า’ หนังแนวดราม่าครอบครัวเรื่องล่าสุดจากค่าย GDH ที่ว่าด้วยเรื่องของ เอ็ม (บิวกิ้น—พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล) เด็กหนุ่มที่ตัดสินใจดรอปเรียนปี 4 เพื่อมาเอาดีด้านแคสต์เกมแทน จนวันหนึ่งเขาพบกับ มุ่ย (ตู—ตะวัน ตันติเวชกุล) ที่พึ่งได้กลายเป็นทายาทมรดกเพียงคนเดียวของอากงที่เธอไปดูแลจนถึงวาระสุดท้าย นั่นจึงทำให้ เอ็ม อาสาที่จะไปดูแล อาม่า (แต๋ว—อุษา เสมคำ) ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งและน่าจะมีชีวิตอีกไม่นาน เพื่อหวังจะได้รับมรดกของอาม่า 

แม้เวลาที่อาม่ากับเอ็มได้มาอยู่ด้วยกันจะมีการต่อปากต่อคำกันบ้างตามประสาคนต่างวัย แต่นั่นก็ทำให้อาม่าหลงลืมความเหงาที่เฝ้ารอลูกๆ ที่ต่างก็มาหาแค่ช่วงเทศกาลสำคัญ

หลานม่า (2024). ภาพจาก GDH
 

เมื่อลูกหลานเดินทางไปเยี่ยมผู้สูงอายุแค่วันสำคัญที่นานทีมีครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นวันหยุดยาวเช่นวันปีใหม่หรือสงกรานต์ จึงเข้าใจได้เลยว่า ทำไม ‘เวลา’ ถึงเป็นสิ่งที่มีค่าและสำคัญมากสำหรับผู้สูงวัย 

อย่างไรก็ตามการที่ลูกหลานไม่มีเวลานั้นมาจากหลายปัจจัย ซึ่งนั่นรวมถึงปัจจัยทางสังคม เช่น ความจำเป็นที่ต้องเข้ามาทำงานในเมือง การเดินทางไกล และค่าใช้จ่ายในยุคสมัยที่รายได้โตตามไม่ทัน นำไปสู่อีกหนึ่งปัญหาของสังคมสูงวัยที่อากงอาม่าได้เห็นหน้าตาลูกหลานน้อยลง
 

งานและความฝันของลูกหลาน

สาเหตุหลักของการที่ลูกหลานไม่มีเวลาให้กับผู้สูงวัยที่บ้านส่วนใหญ่มักสัมพันธ์กับเรื่อง ‘งาน’ ซึ่งในแง่หนึ่งก็ถือว่าเป็นความจริง ลูกหลานทุกคนต่างก็มีบทบาทและหน้าที่ ตลอดจนค่าใช้จ่ายมากมายที่ต้องรับผิดชอบ นอกจากนี้การทำงานยังพ่วงมาด้วยความฝันและเป้าหมายในชีวิตที่แต่ละคนตั้งใจจะทำมันให้ได้

ทว่าหากมองให้ลึกลงไป งานอาจไม่ใช่ปัจจัยเพียงอย่างเดียวที่ทำให้เราไม่มีเวลาให้กับผู้สูงวัย แต่ปัจจัยทางสังคมเองก็มีส่วนทำให้เวลาที่มีค่าเหล่านี้ค่อยๆ หายไปด้วยเช่นกัน

หลานม่า (2024). ภาพจาก GDH

การกระจุกตัวของงานในเมืองใหญ่

กระบวนการทำให้เป็นเมือง (urbanization) คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกหลานต่างต้องเดินทางเข้ามาทำงานในเมือง ในประเทศไทยเราจะเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนระหว่างเมืองและท้องถิ่น ความแตกต่างดังกล่าวส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการกระจุกตัวของงานในเมืองใหญ่ ส่งผลให้หลายคนมุ่งเข้ามาทำงานในเมือง

ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดคือ ‘กรุงเทพมหานคร’ กล่าวคือ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ได้รับการพัฒนาสูงเกินไปเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ในประเทศ จนทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองโตเดี่ยว (primate city) ตำแหน่งงานสำคัญๆ จึงมักกระจุกตัวอยู่แต่ในกรุงเทพฯ จากการสำรวจกรุงเทพฯ ในปี 2566 มหานครแห่งนี้มีจำนวนประชากรมากถึง 5,471,588 คน มากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ คิดเป็น 7.57% ของประชากรทั่วประเทศ  

และยิ่งคนอพยพเข้ามาในเมืองใหญ่มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้จำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน นำไปสู่ปัญหาการที่ภาครัฐโฟกัสแต่การพัฒนาเมืองใหญ่ ทำให้ท้องถิ่นถูกละเลย และผู้คนในพื้นที่อื่นที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ ก็ถูกละเลยเช่นกัน

 

กว่าหลานจะเดินทางไปหาอาม่า

ปัญหาระบบขนส่งสาธารณะคืออีกหนึ่งผลพวงจากเมืองโตเดี่ยว ระบบขนส่งสาธารณะมักกระจุกตัวอยู่แค่กรุงเทพฯ และปริมณฑลบางพื้นที่ ทำให้คนในเมืองมีทั้งทางเลือกและปริมาณระบบขนส่งให้เลือกใช้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน รถประจำทาง แท็กซี่

ยิ่งไปกว่านั้นหากต้องการจะเดินทางข้ามจังหวัด วิธีที่สะดวกสบายที่สุดสำหรับหลายคนคือรถยนต์ส่วนตัว ซึ่งก็ต้องพ่วงมาด้วยราคาน้ำมันที่สูง ในอีกด้านหนึ่งถ้าเราเลือกที่จะหันหน้าพึ่งพาระบบขนส่งสาธารณะข้ามจังหวัด เราก็อาจต้องพบกับตัวเลือกของขนส่งที่มีไม่เยอะและจำนวนที่ไม่มากพอจะรองรับให้ทุกคนหันมาใช้ และถ้ายิ่งไปดูในพื้นที่ต่างจังหวัดบางพื้นที่ จะพบว่าการเดินทางทั้งภายในพื้นที่และข้ามพื้นที่ล้วนเป็นเรื่องที่ยากลำบาก การเดินทางกลับไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ในต่างจังหวัดจึงไม่ง่ายและต้องอาศัยการวางแผน

หลานม่า (2024). ภาพจาก GDH

เมืองใหญ่กับค่าใช้จ่ายสูง

“อยู่เมืองแล้วจะสบาย มีเงินเก็บเยอะแยะ” คำนี้อาจไม่จริงเสมอไป เพราะยิ่งเราอยู่ในเมืองใหญ่ ค่าใช้จ่ายก็ยิ่งเยอะขึ้นตามไปด้วย จากการสำรวจตัวเลขค่าครองชีพของเว็บไซต์ Numbeo จากเมืองต่างๆ ทั่วโลกในปี 2023 ที่ผ่านมาพบว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีดัชนีค่าครองชีพสูงมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน โดยค่าใช้จ่ายรายบุคคลอยู่ที่ราว 2.19 หมื่นบาท/เดือน โดยที่ตัวเลขดังกล่าวไม่รวมค่าเช่าบ้าน ส่วนค่าอาหารในร้านอาหารเฉลี่ยต่อมื้ออยู่ที่ 120 บาท แต่ค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพอยู่ที่เพียง 353 บาท/วันเท่านั้น

จากตัวเลขข้างต้นจะเห็นว่าการเข้ามาอยู่อาศัยในเมืองนั้นต้องแลกมาด้วยกับค่าใช้จ่ายที่สูง จนอาจทำให้ลูกหลานไม่มีเงินเหลือมากพอจะกลับบ้าน เพราะการเดินทางกลับบ้านในแต่ละครั้งย่อมต้องเสียค่าใช้จ่าย และอาจใช้เวลาเก็บเงินหลายเดือน บวกกับระบบขนส่งที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินทาง

 

หลานม่าในสังคมสูงวัย

สิ่งที่สำคัญควบคู่กับการมองปัจจัยทางสังคมที่ฉุดรั้งให้ลูกหลานไม่สามารถกลับมาหาหรือดูแลผู้สูงวัยได้อย่างเต็มที่แล้ว เราอาจต้องมาดูถึงสวัสดิการและระบบการจัดการผู้สูงวัยของไทยด้วยเช่นกันว่าดีพอให้ผู้สูงวัยสามารถพึ่งพาตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน

ปัจจุบันแม้ว่าไทยจะมีโครงการหรือหน่วยงานที่ช่วยดูแลผู้สูงวัย โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาทักษะสำหรับการสร้างรายได้ในกลุ่มผู้สูงวัย รวมถึงสิทธิการคุ้มครองให้กับผู้สูงวัยในหลายด้าน แต่ก็ต้องยอมรับว่าสิ่งอำนวยความสะดวกและบุคลากรที่ดูแลผู้สูงอายุโดยตรงนั้นยังมีไม่เพียงพอและไม่ทันต่อปริมาณผู้สูงวัยที่เพิ่มมากขึ้นในทุกวันนี้ โดยประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย (aging society) มาตั้งแต่ปี 2017 และมีแนวโน้มจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในไม่ช้า

ในขณะเดียวกันหากลูกหลานอย่างเราๆ ไม่มีเวลามากพอที่จะกลับบ้านไปเยี่ยมผู้สูงวัย เราอาจมองหาวิธีที่จะช่วยทำให้ต่างฝ่ายต่างก็หายคิดถึงกัน ในปัจจุบันเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญที่จะช่วยร่นระยะทางที่ห่างไกลหรือพอจะแก้ปัญหาเรื่องการไม่มีเวลาให้กันได้บ้าง เช่น การแชตหา การโทรคุยกัน ตลอดจนการวิดีโอคอล แม้วิธีเหล่านี้อาจไม่ได้ทำให้หายคิดถึงเทียบเท่ากับการเจอหน้ากันจริงๆ แต่ก็ช่วยให้ความเหงาถูกเยียวยาลงไปไม่น้อย

อะไรทำให้ลูกหลานไม่มีโอกาสกลับไปหาอาม่า

อย่างไรก็ดี ปัจจัยสังคมที่กล่าวข้างต้นยังคงเป็นปัญหาสำคัญในยุคปัจจุบันที่มองข้ามไปไม่ได้ รวมถึงการเข้ามาสนใจผู้สูงวัยอย่างจริงจังมากขึ้นคือภารกิจสำคัญที่ภาครัฐและภาคเอกชนควรเข้ามามีส่วนร่วมและแก้ไขปัญหา เพื่อที่ในท้ายที่สุดปัญหาเรื่องเวลาระหว่างลูกหลานและผู้สูงวัยจะค่อยๆ คลี่คลายลง และหวังว่าหลานกับอาม่าคงจะได้เจอกันบ่อยขึ้น

 

ข้อมูลอ้างอิง

logoline