svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"สิริพรรณ" จี้ กกต.แก้ระเบียบหยุมหยิมเลือก สว. ให้คนมีส่วนร่วมง่ายขึ้น

"สิริพรรณ นกสวน สวัสดี" หวัง กกต. ผ่อนปรนแก้หยุมหยิมในระเบียบแนะนำตัว สว. เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมง่ายขึ้น เชื่อสภาสูงชุดใหม่หน้าตาดีกว่าที่ คสช. แต่งตั้ง แต่ได้แค่ "คนเด่น-คนดัง" ส่วน "คนดี" ยังไม่ถึง

16 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ได้จัดเสวนา "ประชาชนจะสังเกตการณ์การเลือก สว.67 ได้อย่างไร" 

โดย "ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี" อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา กกต. มีการแก้ไขระเบียบบางส่วน ซึ่งเป็นผลมาจากการเรียกร้อง สะท้อนให้เห็นว่าการเมืองในยุคปัจจุบันไม่ใช่ไพร่ฟ้าหน้าใส ที่จะยอมรับอะไรก็ได้ ที่เป็นระเบียบอันไม่สมเหตุสมผล แต่ทุกเรื่องประชาชนขอมีเอี่ยวได้

ดังนั้น การเสวนาวันนี้ (16พ.ค.) กกต. ก็คงรับฟัง เพราะที่ผ่านมาระเบียบเดิมสร้างบรรยากาศความกลัว คือ คนกลัวว่าจะทำผิดระเบียบ อาจทำให้เกิดการกลั่นแกล้งได้ง่ายจนถูกร้องเรียน โทษที่ได้รับก็ไม่สมเหตุสมผล เพราะบางครั้งการกระทำไม่ได้ตั้งใจ แต่มันรุนแรงเกินไป 

 

"วันนี้ได้ยินมาว่าจะมีผู้สมัครบางคนอารยะขัดขืน เพราะการจะได้มาซึ่ง สว. ครั้งนี้ คงอยู่ที่ดวง หรือ เป็น สว. กล่องสุ่ม ถ้า กกต. ฟังอยู่คิดว่า สามารถแก้ระเบียบให้ผ่อนคลายบรรยากาศความกลัวได้ โดยวิธีการที่เลือกกันเองตามระเบียบที่เขียนไว้ กกต. ก็สามารถทำให้ระเบียบนั้นเอื้อให้ประชาชนเข้ามาอยู่ในกระบวนการได้" ศ.ดร.สิริพรรณ กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญและคนออกแบบระบบนี้ ต้องการตัดทอนพรรคการเมืองออกจากการเข้าสู่กระดานแห่งอำนาจ จึงไม่ให้พรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่การโฆษณาตัวเอง แสดงจุดยืนตัวเอง หรือประชาสัมพันธ์ตัวเอง ทำไม่ได้ ก็เป็นการตัดประชาชนออกจากกระบวนการสังเกตการณ์ ดังนั้น กกต. สามารถทำให้กระบวนการเหล่านี้เอื้อให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้ โดยไม่ผิดรัฐธรรมนูญ ด้วยการปรับระเบียบให้เหนือรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้ผิดรัฐธรรมนูญ 

 

"ผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้คิดเอง หรือเป็นประเทศแรก เพราะที่ฮ่องกงก็มีแบบนี้ ซึ่งเขาอยู่ภายใต้อังกฤษและจีน ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเต็มร้อย แต่ก็มีกลุ่มอาชีพเยอะ เพราะเป็นเกาะที่มีการแลกเปลี่ยนการค้า ซึ่งมีถึง 30 กลุ่มอาชีพ คนในกลุ่มอาชีพนั้นเขาเลือก และองค์กรอาชีพนั้นเป็นคนเลือก เพราะฉะนั้นผู้เลือกในแต่ละกลุ่มอาชีพ จะมีเป็นแสน และไม่ใช่ต้องจ่ายเงิน 2,500 บาท ถึงได้เลือก" ศ.ดร.สิริพรรณ กล่าว

 

นอกจากนี้ อีกเรื่องคือขณะนี้มีคนมารับใบสมัครแค่ 17,000 คน จากที่คิดว่ามีเป็นหลักแสน ก็เข้าใจว่ามีเรื่องของสิทธิการรับสมัคร ที่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่รัฐธรรมนูญ 2560 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งทั้ง สส. และ สว. 2560 มีการระบุว่าถ้าไม่ใช้สิทธิเลือกตั้ง ต่อให้เมื่อเลือกไปแล้ว สิทธินั้นยังไม่กลับมา โดยยังถูกตัดสิทธิ 2 ปี ถือเป็นการลิดรอนการมีส่วนร่วมของประชาชน และลงโทษประชาชนอย่างมาก

 

"ประเด็นนี้ต้องฝากไว้ ถ้ามีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ต้องแก้เรื่องนี้ให้ทำง่ายขึ้น เพราะเป็นเรื่องหยุมหยิมที่จะจำกัดสิทธิ ทั้งที่อยากจะบอกว่า democracy need you ก็คือ ประชาธิปไตยต้องการคุณ ก็อยากให้มาสมัคร สว. กัน" ศ.ดร.สิริพรรณ ระบุ

ขณะเดียวกัน เชื่อว่า สว.ชุดใหม่ หน้าตาจะดีกว่า สว. ชุดที่ คสช. แต่งตั้ง ถึงแม้ว่าต้องเผชิญกับระบบการได้มาที่รันทดก็ตาม แต่จะดีแค่ไหนขึ้นอยู่กับจำนวนผู้สมัคร อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ  รัฐธรรมนูญออกแบบมาเพื่อให้ได้ สว. ดี-เด่น-ดัง แต่ในที่สุดเชื่อว่าจะได้ สว. ที่เด่นและดัง เพราะในระดับอำเภอ จังหวัด ก็จะมีบ้านใหญ่

ส่วนระดับประเทศเมื่อเลือกกันเองตามกลุ่มอาชีพ และเลือกไขว้แล้ว ถ้าไม่เปิดโอกาสให้มีการแสดงตัวตน หรือจุดยืนทางการเมือง ถ้าเป็นคนที่ไม่รู้จัก ก็จะถูกเลือกยาก เพราะฉะนั้น ในใบแนะนำตัว กกต. ควรให้แสดงจุดยืนทางการเมืองได้ เช่น เรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญ , จุดยืนการได้มาซึ่งองค์กรอิสระ , เสรีภาพการสื่อสาร การแสดงออก จะได้กลายเป็น สว. บนฐานคิดที่มีเหตุและผล

สำหรับการสัมภาษณ์ของสื่อ ส่วนใหญ่ก็ต้องเชิญคนที่มีชื่อเสียงมาพูดคุย แต่คนที่เป็นคนเล็ก คนน้อย กลุ่มเกษตรกร หรือผู้ใช้แรงงาน คนพิการ ถือเป็นคนกลุ่มน้อย สัดส่วนรวมแล้ว 50 ต่อ 200 ก็ถือว่าไม่เป็นธรรมในแง่ของกระบวนการแนะนำตัวเอง ถ้าจะเรียกร้องไปที่ กกต. ว่าในระดับประเทศ ขอให้มีการเผยแพร่จุดยืนต่างๆ

 

"หรือ ถ้า กกต. ทำให้เป็นธรรม ให้แต่ละคนออกมาแนะนำตัวเองผ่านสื่อได้หรือไม่ เพื่อทุกคนจะได้รู้จัก ผู้สมัครกันเองก็จะได้รู้จัก และตามไปตรวจสอบได้ ตอนนี้ กกต. ยอมผ่อนปรนให้สื่อและกลุ่มต่างๆ เข้าไปสังเกตการณ์ได้ ก็อยากให้รักษาคำพูดตรงนี้ไว้" ศ.ดร.สิริพรรณ กล่าว

 

สำหรับบทบาท สว. ชุดใหม่ที่จะเข้ามา ก็จะเจอเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป รวมถึงการรับรององค์กรอิสระทั้งหลาย แต่อำนาจ สว. ไม่มีเลือกนายกฯ แล้ว เพราะบทเฉพาะกาลเขียนขึ้นให้ใช้แค่ 5 ปีก่อน แต่เมื่อ สว. รับเงินเดือนจากภาษีประชาชน ก็จึงเป็นเหตุผลเบื้องต้นว่า ทำไม ถึงต้องจับตามอง สว.  แม้จะไม่ได้มาจากประชาชนเลือกโดยตรง แต่ก็ถือเป็นตัวแทนประชาชน ซึ่งก็ไม่ต่างจาก สส. แต่มีอำนาจน้อยกว่า