svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

สาเหตุของ "โรคหัวใจ" ในคนอายุน้อย และอาการที่เป็นสัญญาณเตือนให้ระวัง!

08 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เพราะเหตุใด “โรคหัวใจ” ที่เคยคร่าชีวิตคนสูงวัยจึงหันมาคุกคามคนที่อายุน้อยลง ทำความเข้าใจใครบ้างที่มีความเสี่ยง พร้อมวิธีการดูแลตัวเองให้ห่างไกลโรคนี้

ข่าวการจากไปของ “เบียร์-สรณัฐ มัสยวานิช” น้องชาย “ฟลุค เกริกพล” ที่เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย ด้วยอายุในวัยหนุ่มเพียง 37 ปี ทำให้วัยรุ่นและวัยทำงานหันมาตระหนักถึงเรื่องสุขภาพอีกครั้ง หลังคนส่วนใหญ่ชอบคิดว่า “โรคหัวใจ” เป็นภัยสำหรับผู้สูงอายุเท่านั้น

“โรคหัวใจ” ไม่เลือกวัย อายุน้อยก็เสี่ยงได้

ข้อมูลโดย รศ. นพ.ทศพล ลิ้มพิจารณ์กิจ สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า “โรคหัวใจ” คือโรคยอดฮิตอันดับต้นๆ ที่คร่าชีวิตของคนทั่วโลกมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งโรคหัวใจที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเยอะที่สุดทั่วโลกคือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน ซึ่งพบได้มากในผู้สูงอายุ ตามมาด้วยโรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคกล้ามเนื้อหัวใจ แม้ในอดีตโรคหัวใจจะเป็นโรคที่พบเจอได้บ่อยในผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันกลับพบว่าคนที่อายุยังน้อยหรือวัยรุ่นก็มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้มากเช่นกัน

สาเหตุของโรคหัวใจในคนอายุน้อย

โรคหัวใจนั้นมีปัจจัยเลี่ยงหลายอย่าง แต่คนอายุน้อยมักจะเป็นโรคหัวใจที่เกิดจากความผิดปกติที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด หรือเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่พบมากที่สุดก็คือการสูบบุหรี่ บางคนอายุแค่ 30–35 ปี ก็เป็นโรคหัวใจแล้ว หรือแม้แต่คนที่ร่างกายแข็งแรง เป็นนักกีฬาก็มีความเสี่ยงในการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติได้ โดยเฉพาะนักกีฬาอาชีพหรือผู้ที่ใช้ร่างกายหนักๆ ควรจะต้องตรวจเช็กสุขภาพหัวใจก่อนทุกครั้งเพื่อดูว่าสามารถเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมที่หักโหมได้หรือไม่

อาการของโรคหัวใจ

  • อาการเหนื่อยง่าย เบื้องต้นสามารถสังเกตอาการตัวเองได้จากพฤติกรรมเดิม ๆ ที่เคยทำได้ เช่น จากที่เคยขึ้นบันไดได้สองสามชั้นแบบสบายๆ ตอนนี้ขึ้นแค่ชั้นเดียวก็รู้สึกเหนื่อยแล้ว แสดงว่าร่างกายของคุณเริ่มผิดปกติแนะนำให้รีบไปเช็กด่วน เพราะนอกจากโรคหัวใจแล้วยังมีโรคอื่นๆ ที่มีอาการคล้ายกันอีกด้วย
  • อาการเจ็บแน่นหน้าอก โดยเฉพาะเวลาที่ออกแรงมักจะเจ็บบริเวณหน้าอกด้านซ้าย หายใจไม่ออก อึดอัดเหมือนมีของหนักมาทับที่หน้าอก บ่งบอกว่าอาจจะเป็นสัญญาณของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้
  • อาการหน้ามืด เป็นลม หมดสติ เนื่องจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งจะวินิจฉัยได้ถูกต้องก็ต่อเมื่อได้รับการตรวจที่โรงพยาบาลเท่านั้น

สาเหตุของ \"โรคหัวใจ\" ในคนอายุน้อย และอาการที่เป็นสัญญาณเตือนให้ระวัง!

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาในต่างประเทศเผยสาเหตุโรคหัวใจและปัจจัยที่ทำให้เป็นโรคหัวใจ อาทิ ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐฯ หรือ Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ระบุว่า โรคหัวใจ เกิดกับคนวัยหนุ่มสาวมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนหนุ่มสาวมากมีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น ทั้งนี้ อัตราการเป็นโรคอ้วนที่สูงและความดันโลหิตสูงในคนวัยหนุ่มตั้งแต่ 35–64 ปี ทำให้พวกเขามีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจตั้งแต่อายุยังน้อย นอกจากนี้ เกือบครึ่งของชาวอเมริกัน มักจะมีปัจจัยเสี่ยงอย่างน้อยอย่างจากปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจ อันได้แก่ ความดันโลหิตสูง คลอเรสเตอรอลสูง และการสูบบุหรี่

ในขณะที่สหราชอาณาจักร มีงานวิจัยขององค์กรการกุศลเกี่ยวกับความเสี่ยงโรคหัวใจในคนหนุ่มสาวที่ชื่อว่า Cardiac Risk in the Young พบว่าคนอายุต่ำกว่า 35 ปีในสหราชอาณาจักร 12 คน เสียชีวิตในแต่ละสัปดาห์ ด้วยสาเหตุเกี่ยวกับหัวใจที่ไม่สามารถวินิจฉัยได้

"โรคหัวใจ" ใครบ้างที่มีความเสี่ยง

โรคหัวใจเป็นอาการที่ส่งผลต่อหัวใจและระบบหลอดเลือด มีหลายปัจจัยที่ทำให้คนมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ

ปัจจัยที่มีต่อพันธุกรรม : ความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจอาจมีการถ่ายทอดผ่านพันธุกรรม หากมีคนในครอบครัวที่เคยเป็นโรคหัวใจ ก็อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคหัวใจได้เช่นกัน

สภาพแวดล้อมและพฤติกรรม : การรับประทานอาหารที่มีปริมาณไขมันสูง น้ำตาลมาก และเกลือสูง สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์มาก ไม่ออกกำลังกาย และมีน้ำหนักเกินตัว เป็นต้น เป็นปัจจัยที่เสี่ยงที่จะทำให้คนมีโอกาสเป็นโรคหัวใจ

โรคร่วมอื่นๆ : คนที่มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคไขมันในเลือดสูง มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเป็นโรคหัวใจ

อายุ : ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อคุณมีอายุมากขึ้น ผู้สูงอายุมักมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจสูงขึ้น

เพศ : ผู้ชายมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจสูง กว่าผู้หญิง แต่ผู้หญิงหลายคนก็สามารถมีโรคหัวใจได้

ความเครียดและภาวะสุขภาพจิต : ภาวะเครียดที่เกิดจากการที่ความเครียดทางจิตใจ อาจมีผลต่อสุขภาพหัวใจ

สภาพของร่างกาย : การที่มีน้ำหนักตัวเกิน  ความอ้วน อาจทำให้เสี่ยงเพิ่มขึ้นกว่าคนที่มีร่างกายสมส่วน

ดูเเลตัวเองอย่างไรให้ห่างไกลโรคหัวใจ

ออกกำลังกายเป็นประจำ : การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างระบบหัวใจและหลอดเลือดเป็นสิ่งที่สำคัญ ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวันหรือ 150 นาทีต่อสัปดาห์ เช่น เดินเร็ว วิ่ง ว่ายน้ำ หรือเล่นกีฬาต่าง ๆ

รักษาน้ำหนักตัวที่เหมาะสม: การรักษาน้ำหนักตัวที่เหมาะสมช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ หากคุณมีน้ำหนักเกินมาก การลดน้ำหนักอาจช่วยลดความดันเลือดและระดับไขมันในเลือด

รับประทานอาหารที่เหมาะสม : ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อหัวใจ เช่น ผัก ผลไม้ และอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัว เช่น ไข่ไก่ ปลา ถั่ว และเมล็ดพืช

ลดการบริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูง: การลดการบริโภคเกลือจะช่วยลดความดันโลหิต ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคหัวใจ

หลีกเลี่ยงสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ : สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ

การจัดการกับความเครียด : การมีความเครียดอยู่เป็นเวลานานสามารถส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจ การปฏิบัติตัวในสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียด หรือการเรียนรู้เทคนิคการผ่อนคลายอาจช่วยลดความเครียด

ตรวจสุขภาพประจำ : การตรวจสุขภาพประจำจะช่วยตรวจพบปัญหาหรือความผิดปกติทางสุขภาพก่อนที่จะเกิดอันตรายต่อหัวใจ

กินยาตามคำสั่งของแพทย์ : หากคุณมีปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ คำแนะนำจากแพทย์และการกินยาตามคำสั่งเป็นสิ่งสำคัญ

นอนพักผ่อนเพียงพอ : การนอนพักผ่อนเพียงพอช่วยลดความเครียด ปรับสมดุลของฮอร์โมน และรักษาระบบหัวใจและหลอดเลือดในสภาพที่ดี

 

logoline