svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

ควรทำ IF ต่อหรือพอแค่นี้! เมื่องานวิจัยชี้การทำ IF เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ

25 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิด 4 ข้อค้นพบจากงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าการทำ IF แบบ 16:8 โยงความเสี่ยงการเสียชีวิตจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้น พร้อมหลากความคิดเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก่อนตัดสินใจว่าเราควรทำ IF ต่อหรือพอแค่นี้!!

กลายเป็นข่าวช็อกวงการการลดน้ำหนักในช่วงหลายวันที่ผ่านมา กับการเผยแพร่งานวิจัยที่ว่ามีชื่อเต็มว่า ความสัมพันธ์ระหว่างการจำกัดเวลาบริโภคอาหาร 8 ชั่วโมง กับอัตราตายจากทุกสาเหตุและอัตราตายเฉพาะโรค หรือ Association of 8-Hour Time-Restricted Eating with All-Cause and Cause-Specific Mortality ของมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ เจียวทง ในงานประชุมวิชาการของสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (AHA) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้บรรณาธิการจะระบุหมายเหตุว่า “เป็นผลการศึกษาเบื้องต้น จนกว่าจะได้รับการตีพิมพ์ในวารสารที่มีกระบวนการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ” แต่หลายคนที่กำลังทำ IF หรือ Intermittent Fasting แบบ 16:8 อยู่ ก็เกิดความลังเลในว่าควรทำ Intermittent Fasting ต่อไปหรือจะยุติการทำ IF ไปเลย

ก่อนจะตัดสินใจว่าเราควรทำ IF ต่อหรือพอแค่นี้!! Nation Story ได้รวบรวมบทสรุปของงานวิจัยข้างต้น พร้อมค้นหาแนวคิดของแพทย์ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญหลายคน เพื่อประกอบการตัดสินใจในครั้งนี้ ส่วนจะมีเรื่องราวน่าสนใจอะไรบ้าง มาดูกัน

ควรทำ IF ต่อหรือพอแค่นี้! เมื่องานวิจัยชี้การทำ IF เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ

เปิดบทสรุป 4 ข้อจากงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าการทำ IF แบบ 16:8 อาจไม่ดีต่อสุขภาพอีกแล้ว

ดร.วิกเตอร์ จง จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ เจียวถง นักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพของผู้ใหญ่ชาวอเมริกันราว 20,000 คน ที่มีอายุเฉลี่ย 49 ปี โดยได้ติดตามผลลัพธ์ทางสุขภาพจากการอดอาหารเป็นระยะ หรือที่เรียกว่าการทำ IF ในแผน 16:8 คือ จำกัดเวลาการกินแค่ 8 ชั่วโมงต่อวัน มีข้อค้นพบหลายอย่าง ได้แก่ 

1. คนทั่วไปหากจำกัดการรับประทานอาหารให้เหลือ 8 ชั่วโมงต่อวัน มีแนวโน้มร้อยละ 91 ที่จะเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ มากกว่าผู้ที่รับประทานอาหารตลอด 12-16 ชั่วโมงต่อวัน 

2. ในกรณีคนที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดอยู่ก่อนแล้ว และหากทำ IF ในแผน 16:8 ร่วมด้วย ก็จะยิ่งมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมอง สูงขึ้นร้อยละ 66

3. ผู้ที่เป็นโรคมะเร็ง และหากได้รับประทานอาหารมากกว่า 16 ชั่วโมงต่อวัน ก็มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคนี้น้อยลง ในทางตรงข้าม ถ้าลดเวลาการกินอาหารลงแค่ 8 ชั่วโมงต่อวันก็อาจจะยิ่งเสี่ยงเสียชีวิตจากมะเร็งมากขึ้น 

4. การรับประทานอาหารแบบจำกัดเวลา 16:8 ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงโดยรวมของการเสียชีวิตจากสาเหตุใดๆ ก็ตาม

แสดงว่าการทำ IF ที่เข้มข้นกว่าสูตร 16:8 หรือกินน้อยกว่า 8 ชั่วโมง มีความเสี่ยงที่จะตายจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้น ทั้งในคนทั่วไปและผู้ป่วยโรคหัวใจหรือมะเร็ง และเมื่ออ่านตารางผลการศึกษาการตายจากโรคหัวใจในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด พบว่าการกินน้อยกว่า 8 ชั่วโมงมีความเสี่ยง Hazard Ratio เท่ากับ 1.91 (ช่วงความเชื่อมั่น 95% 1.20-3.03) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-Value = 0.006) ส่วนการกิน 8-10 ชั่วโมงมี Hazard Ratio เท่ากับ 1.25 (ช่วงความเชื่อมั่น 95% 0.92-1.71) ไม่ถือว่ามีนัยสำคัญทางสถิติ แสดงว่าในคนทั่วไปการทำ IF แบบ 16:8  กิน 8-10 ชั่วโมง ไม่มีความเสี่ยงที่จะตายจากโรคหัวใจ

ทั้งนี้ ทีมวิจัยใช้ชุดข้อมูลจาก การสำรวจสุขภาพและโภชนาการแห่งชาติสหรัฐระหว่างปี 2546-2561 และเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2546-2562

ข้อจำกัดของงานวิจัยชิ้นนี้ ที่ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

นักวิจัยยอมรับว่า การศึกษาวิจัยนี้ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากอาศัยข้อมูลจากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับเวลาการกินอาหารของพวกเขาเท่านั้น และไม่ได้ควบคุมปัจจัยอื่นๆ ที่อาจมีบทบาทต่อสุขภาพของผู้เข้าร่วม เช่น อาหารที่กิน หรือสุขภาพพื้นฐานของกลุ่มตัวอย่าง

ควรทำ IF ต่อหรือพอแค่นี้! เมื่องานวิจัยชี้การทำ IF เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ

รวมแนวคิดของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องนี้

ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ ชี้การจำกัดเวลากินอาหาร 8 ชั่วโมงต่อวัน อาจให้ประโยชน์ในระยะสั้น แต่ส่งผลเสียในระยะยาว

หนึ่งในแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ออกมาวิเคราะห์เรื่องนี้ คือ ดร.คริสโตเฟอร์ ดี การ์ดเนอร์ ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ Rehnborg Farquhar แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัย ได้ออกมาให้ความเห็นว่าโดยรวมแล้ว การศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าการจำกัดเวลากินอาหาร 8 ชั่วโมงต่อวัน อาจให้ประโยชน์ในระยะสั้น แต่ส่งผลเสียในระยะยาว หากมีการศึกษาเชิงลึกเพิ่มเติมและนำเสนอการศึกษาอย่างครบถ้วน จะน่าสนใจและเป็นประโยชน์กว่านี้ 

 

นักโภชนาการให้ความเห็น การทำ IF แบบ 16:8 อาจนำไปสู่การบริโภคมากเกินไปในเวลาอันจำกัด จึงเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากขึ้น

ทริสต้า เบส นักโภชนาการที่มีใบรับรองจากสถาบัน Balance One Nutrition แสดงความคิดเห็นต่องานวิจัยนี้ ว่า สาเหตุที่ผลวิจัยออกมาว่าคนที่ทำ IF 16:8 เสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มมากขึ้นนั้น อาจเนื่องมาจากพฤติกรรมการเลือกกินที่ผิดวิธี 

“การกำหนดให้กินอาหารได้แค่ 8 ชั่วโมงต่อวัน อาจนำไปสู่การบริโภคมากเกินไปในช่วงระยะเวลาอันจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบางคนจะรู้สึกว่า ยิ่งมีเวลากินน้อยลง ก็ต้องกินชดเชยให้มากขึ้นด้วยการกินอาหารมื้อใหญ่ขึ้น หรือกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ สิ่งนี้อาจส่งผลต่อความผิดปกติของระบบเผาผลาญ รวมถึงการดื้อต่ออินซูลิน ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้น และการอักเสบที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ”

นอกจากนี้ ข้อสังเกตอีกอย่างคือ การอดอาหาร 16 ชั่วโมงต่อวันอาจ หมายถึงการอดอาหารเป็นเวลานาน ซึ่งมันสามารถกระตุ้นการตอบสนองต่อความเครียดในร่างกาย จนปล่อยฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมามากขึ้น และส่งผลต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดตามไปด้วย 

ทั้งนี้ ในมุมมองของนักโภชนาการ ทริสต้าแนะนำว่า การลดน้ำหนักอย่างสุขภาพดี อาจไม่ได้หมายถึงการอดอาหารหลายชั่วโมง เพราะนั่นอาจนำไปสู่การขาดสารอาหารหรือความไม่สมดุลในร่างกายได้ ดังนั้น แม้ว่าการทำ IF 16:8 จะให้ประโยชน์จริง เช่น ช่วยลดน้ำหนักและทำให้การเผาผลาญที่ดีขึ้น แต่ก็ต้องทำอย่างเหมาะสมและมีสติ ที่สุดแล้วก็ควรเลือกกินอาหารที่มีคุณภาพ (โปรตีนสูง ไขมันต่ำ โลว์คาร์บ เน้นผักผลไม้ธัญพืช) และดูแลปัจจัยการดำเนินชีวิตให้ดีต่อสุขภาพโดยรวมด้วย

แพทย์ศิริราช อธิบายเพิ่มเติม อย่าด่วนสรุปว่า IF แย่

ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยข้อมูลผ่านทาง X  ระบุว่านับเป็นข่าวช็อกวงการลดน้ำหนัก พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า

  • การศึกษานี้เก็บข้อมูลจาก NHANES ซึ่งเป็น dataset ขนาดใหญ่และใช้กันมานาน ข้อมูลจาก dataset นี้ใช้ตอบคำถามวิจัยมากมายมายาวนาน ทีมเก็บข้อมูลและวิเคราะห์มีประสบการณ์และฝีมือดี
  • ข้อมูลนี้มีจุดด้อยคือเป็นการสำรวจวิธีการทำ IF 16:8 แบบ self assessment ด้วย questionnaire ของปีแรกที่เก็บข้อมูล ไม่สามารถยืนยันว่าทุกคนทำ IF 16:8 สูตรนี้สม่ำเสมอหรือไม่
  • จุดแข็งของการศึกษานี้คือ dataset ขนาดใหญ่เกือบ 2 หมื่นคน และตามข้อมูลนานเฉลี่ย 8 ปี และตามนานสุดถึง 17 ปี ในขณะที่ผลดีรายงานก่อนหน้านี้ล้วนเป็นผลระยะสั้น ไม่เคยมีข้อมูลยาวขนาดนี้
  • ข้อสังเกตอีกอันคืออายุเฉลี่ย 49 ปี (วัยกลางคน)
  • มีข้อมูลกลุ่มที่อดอาหารน้อยกว่านี้ด้วยคือมีระยะเวลากิน 8-10 ชม และมีโรคหัวใจร่วมด้วยพบว่าเสี่ยงเสียชีวิตเพิ่ม 66% ด้วย ตรงกันข้ามในคนไข้มะเร็งการไม่ทำ IF อัตราตายก็น้อยกว่า สอดคล้องกับข้อมูลข้างต้นไปในทางเดียวกันหมด
  • ภาพรวมการทำ IF ไม่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
  • การศึกษานี้เป็นระบาดวิทยา พบว่ามันสัมพันธ์กันแบบนี้จริง แต่การจะหาคำอธิบายหรือกลไกก็ต้องศึกษาใหม่ เก็บข้อมูลและวิเคราะห์แบบอื่น

ดังนั้น โดยสรุป ขอให้ aware ในข้อมูล และระมัดระวังในกลุ่มวัยกลางคนขึ้นไปและมีโรคร่วม อย่าไปเหมาหมดว่า IF แย่ และอย่าไปอวยแบบเหมาเช่นกันว่าดีเลิศ ควรพิจารณากันเป็นรายคน

 

logoline