svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

อาหารควรกิน อาหารควรเลี่ยง ถ้าไม่อยากเสี่ยงเป็น “มะเร็งเต้านม”

12 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แค่เลือกอาหารเป็น ก็ช่วยลดปัญหาหนักอกได้ เปิดเทคนิคการเลือกอาหารที่ควรกิน และอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ถ้าไม่อยากเสี่ยงเป็น "โรคมะเร็งเต้านม" มะเร็งที่คร่าชีวิตผู้หญิงทั่วโลกเป็นอันดับ 1

“มะเร็ง” โรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนมากมายโดยเฉพาะ “โรคมะเร็งเต้านม” ภัยร้ายสำหรับผู้หญิง พบบ่อยในช่วงอายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งจริงๆ แล้วนอกจากความเสี่ยงที่มีผลมาจากพันธุกรรมและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตแล้ว “อาหาร” นี่แหละที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ทั้งกินเพื่อให้มีส่วนป้องกัน กินเพื่อช่วยต้านโรค หรือกินเพื่อบำรุงขณะที่เป็นมะเร็งเต้านม

อาหารควรกิน ถ้าไม่อยากเสี่ยงเป็น “มะเร็งเต้านม”

อาหารควรกิน ถ้าไม่อยากเสี่ยงเป็น “มะเร็งเต้านม”

เน้นกินอาหารจากพืช การรับประทานอาหารจากพืชส่วนใหญ่จะให้พลังงานที่ไม่สูงมาก ทำให้สามารถควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม โดยควรรับประทานผักผลไม้เป็นประจำวันละ 5-9 ทัพพี (ผัก 4-7 ทัพพี และผลไม้ 2-4 กำมือ) อาหารจากพืชที่แนะนำ ได้แก่ ธัญพืชไม่ขัดสี ผัก ผลไม้ ถั่วต่างๆ อาหารเหล่านี้ประกอบด้วย ไฟเบอร์ วิตามิน แร่ธาตุ สารต้านอนุมูลอิสระ และสารพฤกษเคมี (phytochemicals) ที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมได้ 

ผักตระกูลครูซิเฟอรัส เช่น บร็อคโคลี คะน้า ผักกวางตุ้ง แขนง ดอกกะหล่ำ และกะหล่ำปลี มีสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินเอ ซีและอีสูง นอกจากนี้ ยังมีซัลโฟราเฟน และอินโดล-3- คาร์บินอล (Indole-3-carbinol) ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ในการต้านมะเร็ง

ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เช่น สตรอเบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ แบล็กเบอร์รี่ มีสารแอนโทไซยานิน ใยอาหาร วิตามินซีสูง ที่ช่วยป้องกันมะเร็ง

ผลไม้ตระกูลส้ม มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน และมีสารลิโมนอยด์ (Limonoid) ช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็ง

เลือกอาหารประเภทถั่วเหลืองพอประมาณ โดยควรบริโภคถั่วเหลืองไม่เกิน 2-3 ส่วน/วัน (ถั่วเหลือง 1 ส่วน เท่ากับ เต้าหู้ ½ ถ้วยตวง, โปรตีนเกษตรหรือถั่วเหลืองสุก ½ ถ้วยตวง, นมถั่วเหลือง 240 มิลลิลิตร) และหลีกเลี่ยงอาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์ที่สกัดจากถั่วเหลืองทีมีความเข้มข้นสูงที่ใช้ทดแทนฮอร์โมน

อาหารที่มีใยอาหารสูง ศูนย์มะเร็ง The Ida & Joseph Friend มีการแนะนำให้ผู้ป่วยกินอาหารที่มีเส้นใยประมาณ 30-45 กรัมต่อวัน เนื่องจากว่าใยอาหารช่วยให้ร่างกายขจัดฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดเซลล์มะเร็งเต้านม

อาหารที่เป็นไขมันดี จากการศึกษาพบว่ากรดไขมันโอเมก้า 3 ที่อุดมอยู่ในปลาแซลมอน ช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านมได้ ทั้งนี้ อาจเพราะโอเมก้า 3 มีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบปัจจัยที่นำไปสู่มะเร็งเต้านม

แคโรทีน สารอาหารนี้มักพบในผักหลายชนิด รวมไปถึงแครอท ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาพบว่าเบต้าแคโรทีนช่วยลดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้

ชาเขียว ไม่เพียงมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ยังช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านม

ขมิ้น สมุนไพรสารพัดประโยชน์ที่มีส่วนช่วยลดการอักเสบ และยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งได้

อาหารควรเลี่ยง ถ้าไม่อยากเสี่ยงเป็น “มะเร็งเต้านม”

อาหารควรเลี่ยง ถ้าไม่อยากเสี่ยงเป็น “มะเร็งเต้านม”

เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เนื้อสัตว์ติดมัน ไขมันสัตว์ ของทอด เช่น ไก่ทอด หมูทอด ข้าวมันไก่ หนังไก่ กุนเชียง หมูยอ ไส้กรอก อาหารที่มีไขมันทรานส์ เช่น เบเกอรี่ ปาท่องโก๋ มันฝรั่งทอด กล้วยแขก เลือกทานไขมันดี จาก น้ำมันมะกอก, น้ำมันรำข้าว, อะโวคาโด, ถั่วเปลือกแข็ง, เมล็ดแฟลกซ์, ปลาทะเล หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูป และจำกัดการบริโภคเนื้อแดง ให้น้อยกว่า 500 กรัมต่อสัปดาห์

แอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิด รวมไปถึงมะเร็งเต้านม

เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิด รวมไปถึงมะเร็งเต้านม โดยควรจำกัดปริมาณการดื่ม ในผู้หญิงไม่ควรเกิน 1 ดริ๊งค์ ในผู้ชายไม่ควรเกิน 2 ดริ๊งค์ (1 ดริ๊งค์ เท่ากับ เบียร์ 1 กระป๋อง 330 ml, ไวน์ 1 แก้ว 150 ml, วิสกี้ 45 ml)

จากผลรายงานวิจัยเว็บไซต์ Breastcancer.org ระบุว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนของผู้หญิงเพิ่มสูงขึ้น ทั้งยังทำให้เซลล์ DNA เกิดความเสียหายอีกด้วย

น้ำตาล ผลวิจัยจากศูนย์มะเร็งของมหาวิทยาลัยในเท็กซัส พบว่า หนูที่กินอาหารที่มีน้ำตาลมาก มีแนวโน้มต่อการพัฒนาของเนื้องอกบริเวณเต้านม รวมไปถึงการการแพร่กระจายของเชื้อมะเร็ง

ไขมันทรานส์ ในขณะที่ไขมันดีช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม แต่ไขมันทรานส์ที่พบได้ในอาหารแปรรูป อย่าง แครกเกอร์ โดนัท คุกกี้ หรือขนมอบกรอบ กลับ “เพิ่ม” ความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านม!

เนื้อแดง มีผลงานการวิจัยบางชิ้นค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างเนื้อแดงกับโอกาสในการเป็นมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะในเนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง และมีสารกันบูดปะปนอยู่มาก

 

นอกจากนี้ โรคมะเร็งเต้านม ยังสามารถป้องกันได้โดยการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิต ด้วยการดูแลน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ทั้งนี้ น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 10% จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม เนื่องจากเซลล์ไขมันจะกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ส่งผลให้เกิดมะเร็งเต้านม ควรเพิ่มวิตามิน D ให้ร่างกายด้วยการรับแสงแดดยามเช้า เพราะวิตามิน D มีคุณสมบัติช่วยควบคุมการแพร่กระจายของมะเร็ง รวมทั้งตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพราะยิ่งรู้เร็วโอกาสหายขาดยิ่งมากขึ้นอย่างแน่นอน

logoline