svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

เพราะเหตุใด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึงเป็นตัวการก่อโรคมะเร็ง?

08 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เหล้าเกี่ยวกับมะเร็งอย่างไร? รู้โทษพิษสุราก่อมะเร็งร้ายทำลาย “ตับ” ในผู้ชาย ทำลาย “เต้านม” ในผู้หญิง ทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญในการเกิด “โรคมะเร็ง” อื่นๆ เช่น มะเร็งศีรษะและลำคอ มะเร็งช่องปาก มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง

“มะเร็ง” คือกลุ่มของโรคที่เกิดจากเซลล์ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกายที่มีความผิดปกติของดีเอ็นเอ (DNA) หรือสารทางพันธุกรรม โดยเซลล์จะแบ่งตัวอย่างควบคุมไม่ได้ ทำให้มีการเจริญเติบโตผิดปกติเกิดเป็นก้อนเนื้อ ที่มีการลุกลามไปอวัยวะข้างเคียง หรือกระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) หรือ Centre for Alcohol Studies : CAS ซึ่งได้นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับ ภาระโรคที่เกิดจากมะเร็งที่สัมพันธ์กับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วโลกในปี 2563 ซึ่งเป็นข้อมูลจาก องค์กรนานาชาติเพื่อการวิจัยด้านมะเร็ง (International Agency for Research on Cancer (IARC) เปิดเผยผลการศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ The Lancet Oncology พบว่า ผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ในปี 2563 ประมาณ 741,000 คนทั่วโลก มีสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการดื่มสุรา พบว่าจำนวน 3 ใน 4 ส่วนเป็นเพศชาย

เพราะเหตุใด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึงเป็นตัวการก่อโรคมะเร็ง?

เหล้าเกี่ยวกับมะเร็งอย่างไร?

ในปัจจุบันพฤติกรรมการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เป็นสาเหตุปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งของการเสียชีวิต จากสถิติขององค์การอนามัยโลก รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกด้วยโรคและการบาดเจ็บจากการดื่มสุรา ประมาณ 3 ล้านคนต่อปี อีกทั้งการดื่มสุรายังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จากข้อมูลรายงานว่า การดื่มสุราเป็นเหตุให้เกิดโรคในร่างกายมากกว่า 200 โรค รวมถึงความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งชนิดต่างๆ

สาเหตุสำคัญของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เกี่ยวข้องกับสารเคมี 2 ชนิด ที่สามารถทำลายดีเอ็นเอภายในเซลล์ นั่นก็คือ “เอทานอล” ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดย เอทานอล หรือแอซีทาลดีไฮด์ (Acetaldehyde) เป็นแอลดีไฮด์ที่มีคาร์บอน 2 อะตอม หรือ “สารก่อให้เกิดมะเร็ง” ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากการย่อยสลายของสารเอทานอลในร่างกาย ส่งผลให้เกิดการทำลาย DNA ภายในเซลล์ทำให้เซลล์ในร่างกายอ่อนแอลง 

นอกจากนี้ การดื่มแอลกอฮอล์ ยังอาจลดความสามารถของร่างกายในการดูดซึมสารอาหารที่สำคัญ ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินดี วิตามินอี โฟเลต แคโรทีนอยด์

รู้หรือไม่! มีหลายโรคมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งศีรษะและลำคอ มะเร็งช่องปาก มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งเต้านม

เพราะเหตุใด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึงเป็นตัวการก่อโรคมะเร็ง?

มะเร็งตับ

พิษสุราก่อมะเร็งร้ายทำลาย “ตับ” ในผู้ชาย

เมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากและต่อเนื่องจะส่งผลต่อการเกิดโรคตับ โดยระยะแรกเกิดภาวะไขมันพอกตับจากแอลกอฮอล์ (Alcoholic fatty liver disease) ซึ่งระยะนี้มักไม่มีอาการ และถ้าหยุดดื่มตับสามารถกลับมาปกติได้ใน 4-6 สัปดาห์ ถ้ายังดื่มต่อเนื่อง ร้อยละ 20-40 ของผู้ป่วยจะเกิดตับอักเสบเรื้อรัง (Alcoholic steatohepatitis) และพังผืด (fibrosis) ในเนื้อตับและร้อยละ 20 เข้าสู่ภาวะตับแข็ง (Alcoholic cirrhosis) ในเวลาประมาณ 10 ปี

ในระยะตับแข็งเริ่มต้น (compenstaed cirrhosis) ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย พยาธิสภาพในตับมีพังผืดเกิดขึ้นในเนื้อตับปริมาณมากขึ้นทำให้ตับมีลักษณะรูปร่างเปลี่ยนแปลงและการทำงานลดลงเข้าสู่ตับแข็งระยะท้าย (decompensated cirrhosis) จะมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ดีซ่าน ท้องมาน (ascites) ขาบวม ขาดสารอาหาร ซึมสับสน (hepatic encephalopathy) อาเจียนเป็นเลือดจากเส้นเลือดขอดในทางเดินอาหาร ไตวาย ติดเชื้อง่ายและเสียชีวิตในที่สุด มีการศึกษาติดตามผู้ป่วยตับแข็งจากแอลกอฮอล์นาน 5, 10, 15 ปีพบว่าอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 71,84 และ 90 ตามลำดับ

ผู้ป่วยในระยะตับแข็งจะมีความเสี่ยงต่อการเกิด “มะเร็งตับ” ผู้ป่วยตับแข็งในระยะเริ่มต้นนาน 5 ปี จะมีอัตราการเกิดมะเร็งตับร้อยละ 2.6 ต่อปี และจาก meta-analysis พบว่าถ้าหยุดดื่มแอลกอฮอล์โอกาสเป็นมะเร็งตับลดลงถึงร้อยละ 6-7

มีอีกภาวะที่อาจเกิดขึ้นในผู้ที่ดื่มต่อเนื่อง คือภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน (Alcoholic hepatitis) พบประมาณร้อยละ 20-40 ที่มักจะเกิดขึ้นในคนที่ดื่มประจำอยู่แล้วและมาดื่มหนักๆ ในช่วงสั้นเช่นวันหยุดและเทศกาลต่างๆ หรือมีภาวะติดเชื้อร่วมด้วย อาการมีตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงตับวาย (acute-on-chronic liver failure หรือ ACLF) อาการที่พบได้แก่ อาการไข้ ปวดท้อง ตับโต คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ดีซ่าน น้ำหนักลด ท้องบวม ขาบวม สับสน อาเจียนเป็นเลือด ติดเชื้อง่าย ไตวายเฉียบพลัน และในคนที่มีอาการรุนแรงตับวายมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 10-72

เพราะเหตุใด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึงเป็นตัวการก่อโรคมะเร็ง?

มะเร็งเต้านม

พิษสุราก่อมะเร็งร้ายทำลาย “เต้านม” ในผู้หญิง

ข้อมูลจากกองทุนวิจัยมะเร็งโลก (World Cancer Research Fund ) ระบุว่าการดื่มแอลกอฮอล์เพียงวันละนิด เช่น ดื่มไวน์วันละครึ่งแก้ว หรือดื่มเบียร์วันละหนึ่งแก้วเล็กเป็นประจำทุกวัน สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมในสตรีให้สูงขึ้นได้อีก 9% โดยเพิ่มจากระดับความเสี่ยงที่มีอยู่เดิมอันเนื่องมาจากปัจจัยก่อมะเร็งอื่นๆ

รายงานดังกล่าวมาจากการศึกษาวิเคราะห์ผลงานวิจัยกว่า 100 ชิ้น ซึ่งตรวจสอบประวัติการรักษาพยาบาลและสุขภาพของผู้หญิง 12 ล้านคน โดยพบหลักฐานที่บ่งชี้ว่า การบริโภคแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นเพียงวันละ 10 กรัม จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมในวัยหลังหมดประจำเดือนถึงเกือบสิบเปอร์เซ็นต์

สถิติโดยเฉลี่ยชี้ว่า ในกลุ่มผู้หญิงทั่วไป 100 คน จะมีผู้ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมราว 13 คน แต่หากผู้หญิงในกลุ่มนี้เพิ่มการบริโภคแอลกอฮอล์ขึ้นแม้เพียงวันละเล็กน้อย ก็มีโอกาสที่จะพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเป็นจำนวนเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ รายงานของกองทุนวิจัยมะเร็งโลกยังพบว่า การออกกำลังกายที่มีความหนักหน่วงเพียงพอเป็นประจำ เช่น การวิ่งหรือปั่นจักรยาน จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมในวัยหลังหมดประจำเดือนลง 10% เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้หญิงที่ไม่สู้เคลื่อนไหวออกแรงมากนัก นอกจากนี้ การให้นมบุตรยังช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเต้านมลงได้ทั้งช่วงก่อนและหลังหมดประจำเดือนอีกด้วย

ผู้เชี่ยวชาญของสถาบันวิจัยมะเร็งแห่งสหราชอาณาจักรให้คำแนะนำว่า เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งชนิดอื่นๆ ไม่ควรเพิ่มปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำอยู่เป็นประจำให้มากขึ้น และควรจัดให้มีวันที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เลยราว 2-3 วันต่อสัปดาห์

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุสาเหตุเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เสี่ยงมะเร็งว่า นาย Chin-Yo Lin นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Houston’s Center for Nuclear Receptors and Cell Signaling ได้ให้ข้อมูลว่า แอลกอฮอล์นั้นจะถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นอะเซทัลดีไฮด์ (Acetaldehyde) ซึ่งทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในหน่วยพันธุกรรม หรือ DNA ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งในที่สุด และการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ยังพบว่ามีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของปริมาณของฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน (estrogen) ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของมะเร็งเต้านม

นอกจากนี้ ข้อมูลจากงานวิจัยในปี 2015 จาก Journal PLOS ONE ซึ่งพบว่าแอลกอฮอล์สามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมได้ โดยผ่านทางอิทธิพลของยีนที่ชื่อว่า BRAF เขายังให้ข้อคิดเห็นอีกว่า จากงานวิจัยที่ว่าการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณเล็กน้อยสามารถป้องกันการเกิดโรคหัวใจได้ แต่อย่างไรก็ตาม คงจะต้องมาชั่งน้ำหนักกับความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมที่เพิ่มขึ้น

 

 

logoline