svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

กลั้นอุจจาระบ่อย เสี่ยงริดสีดวง-ลำไส้อุดตัน-มะเร็งลำไส้ ปรับพฤติกรรมด่วน

30 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อันตรายคนชอบอั้น! เตือนกลั้นอุจจาระบ่อยๆ สาเหตุสำคัญของ “ริดสีดวงทวารหนัก-ลำไส้อุดตัน-มะเร็งลำไส้“ ควรปรับนิสัยพฤติกรรมการขับถ่ายโดยด่วน!

ในทุกๆ เช้ามีนักเรียน คนทำงาน ที่เดินทางฝ่ารถติดแล้ว “ปวดอุจจาระ” แต่ต้องกลั้นเอาไว้ ในระหว่างวันมีบางอาชีพที่จำเป็นต้องอั้นการขับถ่าย ซึ่งการ “กลั้นอุจจาระบ่อย” อาจจะส่งผลกระทบต่อร่างกาย และทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา เริ่มจากท้องผูก ริดสีดวงทวาร ภาวะอุจจาระตกค้าง ลำไส้อุดตัน ร้ายแรงถึง “มะเร็งลำไส้” แต่หากเราฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา ปัญหาที่จะตามมาก็หมดไป

กลั้นอุจจาระบ่อย เสี่ยงริดสีดวง-ลำไส้อุดตัน-มะเร็งลำไส้ ปรับพฤติกรรมด่วน

กลั้นอุจจาระบ่อยๆ ส่งผลเสียเรื่องใดบ้าง?

1. กลั้นอุจจาระบ่อยส่งผลให้ระบบขับถ่ายแปรปรวน ขับถ่ายไม่เป็นเวลา เพราะเมื่อถึงเวลาอยากถ่ายแต่เรากลับกลั้นอุจจาระเอาไว้ ถ้าทำบ่อยๆ ระบบขับถ่ายอาจรวน เพราะร่างกายเกิดการเรียนรู้ว่าเมื่อไรที่ถึงเวลาต้องถ่าย เราจะไม่อยากถ่ายไม่ต้องกระตุ้นให้ปวด สุดท้ายเราจึงกลายเป็นคนขับถ่ายไม่เป็นเวลาหรือถ่ายยากขึ้น

2. กลั้นอุจจาระบ่อยส่งผลให้ท้องผูก เมื่อเราไม่ขับถ่ายเอากากของเสียออกไป อุจจาระจะสะสมในลำไส้มากขึ้น น้ำในอุจจาระก็ค่อยๆ ถูกร่างกายดูดไปเรื่อยๆ ทำให้อุจจาระแข็งและขับถ่ายยากกว่าเดิม ใครที่ชอบกลั้นอุจจาระบ่อยๆ อุจจาระก็จะยิ่งเข้าไปสะสมอัดแน่นที่ปลายลำไส้ กลายเป็นก้อนแข็ง ส่งผลให้ถ่ายลำบากมากขึ้นหรือที่เรียกว่า “ท้องผูก” อาการท้องผูกหากเป็นเรื้อรัง หรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น น้ำหนักลด ถ่ายเป็นเลือด ท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายอุจจาระลำเล็กลง อาจเป็นอาการนำของโรคที่ร้ายแรง

3. กลั้นอุจจาระบ่อยส่งผลให้ร่างกายสะสมสารพิษ เป็นสิ่งที่เกิดต่อเนื่องจากการที่ร่างกายดูดน้ำจากอุจจาระกลับไปใช้ ซึ่งไม่ต้องบอกก็คงพอจะเดาออกว่าน้ำที่ร่างกายดูดไปอุดมไปด้วยเชื้อโรคและสารพิษทั้งนั้น ยิ่งปล่อยให้ท้องผูกนานๆ ร่างกายก็ยิ่งเกิดการสะสมของเสียเหล่านี้ ซึ่งแพทย์บางท่านเคยบอกว่าอาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหากลิ่นปากและกลิ่นตัว

4. กลั้นอุจจาระบ่อยส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลีย รู้สึกไม่สดชื่น เพราะสารพิษและเชื้อโรคที่ถูกดูดกลับมาพร้อมน้ำจากอุจจาระก็กลับมาทำร้ายร่างกายของเราด้วย เริ่มจากรู้สึกเฉื่อยชาเพราะไม่สบายท้องจากการที่ร่างกายไม่ยอมขับถ่าย และจะเริ่มรู้สึกแย่ลงเรื่อยๆ ไม่สดชื่น สมองตื้อ รู้สึกคลื่นไส้ และอ่อนเพลียตามมา

5. กลั้นอุจจาระบ่อยส่งผลให้เกิดริดสีดวงทวาร สืบเนื่องจากการที่อุจจาระที่ตกค้างในลำไส้ถูกดูดซึมน้ำกลับมากขึ้น ทำให้มีลักษณะแข็ง ในการถ่ายแต่ละครั้งต้องใช้แรงเบ่ง ทำให้เส้นเลือดที่ทวารหนักมีการโป่งพอง ก่อให้เกิดโรคริดสีดวงทวารและอาการปวดได้ หากมีการโป่งพองมาก และถูกครูดด้วยอุจจาระที่แข็งก็อาจทำให้มีการแตกและมีเลือดออกได้ อาการของริดสีดวงทวาร อาจเริ่มตั้งแต่ไม่มีอาการ มีก้อน มีอาการปวด ไปจนถึงมีเลือดออกมากได้

6. กลั้นอุจจาระบ่อยส่งผลให้อุจจาระอุดตัน ภาวะอุจจาระอุดตัน (Chronic Constipation) หรือ “โรคขี้เต็มท้อง” คือภาวะอาการท้องผูกอย่างรุนแรง มีอุจจาระแห้งค้างอยู่ที่ลำไส้อยู่เป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อระบบขับถ่าย เนื่องจากอุจจาระส่วนต้นถูกดูดน้ำกลับมาที่ส่วนปลาย ก่อให้เกิดเป็นก้อน และเมื่ออุจจาระที่ค้างอยู่ที่ลำไส้เวลานานจนเกิดการแข็งตัว ก็จะทำให้ขับถ่ายไม่ออก หรือขับถ่ายออกได้ยาก เพราะว่าลำไส้มีการขยายออก แรงที่จะหดกลับไม่เพียงพอ จนไม่สามารถทำการเบ่งอุจจาระออกมาได้

7.กลั้นอุจจาระบ่อยส่งผลให้เป็นมะเร็งลำไส้ อันตรายร้ายแรงของอาการทั้งหมดที่กล่าวมา เมื่อมีพิษและเชื้อโรคสะสมในลำไส้ต่อเนื่องกันนานๆ ก็จะเกิดการอักเสบและติดเชื้อบ่อยขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้นั่นเอง

กลั้นอุจจาระบ่อย เสี่ยงริดสีดวง-ลำไส้อุดตัน-มะเร็งลำไส้ ปรับพฤติกรรมด่วน

ชวนปรับพฤติกรรมการขับถ่าย

จากผลเสียของการกลั้นอุจจาระดังที่กล่าวมาแล้ว แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการไม่กลั้นอุจจาระ และฝึกการขับถ่ายให้เป็นกิจวัตร โดยการปฏิบัติตัว ดังนี้

  • ฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลาทุกวัน อาจเป็นเวลาเช้าหลังตื่นนอน หรือหลังอาหารเช้า เนื่องจากร่างกายมีกลไกตามธรรมชาติที่กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ หลังจากได้รับอาหารมื้อแรก เราสามารถอาศัยกลไกตามธรรมชาตินี้ช่วยกระตุ้นการขับถ่ายได้ 
  • ท่านั่งในการถ่ายอุจจาระ หากนั่งบนชักโครก ควรโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย มีที่วางเท้าเพื่อช่วยเสริมให้เท้าถึงพื้นหรือเข่างอเล็กน้อย คล้ายท่านั่งยอง
  • รับประทานอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ หากมีอาการท้องผูก อาจเสริมอาหารที่มีโปรไบโอติก เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต ชาหมัก เป็นต้น
  • ดื่มน้ำให้พอเพียง การรับประทานน้ำในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการร่างกาย ช่วยลดความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือด การดื่มน้ำช่วยให้ผิวของเรามีความชุ่มชื้น สุขภาพดี และช่วยเรื่องระบบกระเพาะปัสสาวะ ระบบย่อยอาหาร กระตุ้นระบบการขับถ่ายป้องกันนิ่วและท้องผูก 
  • ออกกำลังกาย เมื่อเราออกกำลังกาย ขยับตัวเป็นประจำ จะช่วยให้ลำไส้เกิดการเคลื่อนไหว ระบบต่างๆ ในร่างกายเกิดการยืดหยุ่น สร้างความแข็งแรงต่อกล้ามเนื้อ ช่วยสร้างและรักษาภาวะสมดุลของร่างกาย ควบคุมน้ำหนัก 
  • ไม่กลั้นอุจจาระ เมื่อมีอาการปวดควรขับถ่ายตามเวลา ฝึกการเข้าห้องน้ำให้เป็นสุขนิสัยติดตัว เพื่อสุขภาพที่ดีของตนเองในระยะยาว 
  • หากมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการขับถ่าย ควรปรึกษาแพทย์ไม่ควรปล่อยไว้ จนอาการของโรคเรื้อรัง เพราะอาจจะส่งผลกระทบจนทำลายการใช้ชีวิตประจำวันได้ รวมถึงอาจจะเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ ตามมา 

 

เช็กความผิดปกติของตัวเองว่ามีปัญหาในเรื่องขับถ่ายหรือไม่?

  • ดูจากลักษณะของอุจจาระมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งสี ความแข็ง และกลิ่น
  • รู้สึกถ่ายไม่ออก ถ่ายไม่สุดนานติดต่อกันกว่าหนึ่งเดือน 
  • อาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ 
  • ควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางด้านระบบทางเดินอาหารและตับ เพื่อตรวจคัดกรอง และติดตามอาการเพื่อการป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ 
  • สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่โดยไม่ต้องรอให้มีอาการ
  • หากตรวจพบ มะเร็งลำไส้และทวารหนักได้ตั้งแต่ระยะแรก แพทย์จะสามารถประเมินผล เพื่อวางแผนในการรักษาต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ 

กลั้นอุจจาระบ่อย เสี่ยงริดสีดวง-ลำไส้อุดตัน-มะเร็งลำไส้ ปรับพฤติกรรมด่วน

ขับถ่ายเวลาไหนดี ถึงเรียกว่าสุขภาพดี

การแพทย์ฝั่งตะวันออก มีการคิดค้นความรู้เกี่ยวกับ “นาฬิกาชีวิต” ระบุเวลา 05:00 – 07:00 น. เป็นช่วงเวลาของ “ลำไส้ใหญ่” ดังนั้น ช่วงเช้าจึงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการขับถ่ายในทุกๆ วัน เราสามารถกระตุ้นอวัยวะนี้ให้ทำงานได้ด้วยวิธีง่ายๆ คือการดื่มน้ำ 2 แก้ว หลังจากตื่นนอน เราควรทำกิจกรรมนี้ให้เป็นกิจวัตรประจำวัน เพราะการขับถ่ายทุกวันส่งผลดีต่อร่างกาย ทั้งการขับของเสียออกจากร่างกาย และทำให้ร่างกายสดชื่น ผิวพรรณสดใสลดโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นริดสีดวง และอาการท้องผูกได้

ถ่ายหนักแบบไหน ถึงเรียกว่า “ปกติ”

มีผลการสำรวจของมหาวิทยาลัย Scandinavian Journal of Gastroenterology พบว่า คนส่วนใหญ่จะขับถ่ายราว 3 ครั้งต่อวัน จนถึง 3 ครั้งต่อสัปดาห์ (หรือราวๆ 2 วันครั้ง) หากถ่ายมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน หรือถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ อาจมองว่าผิดปกติได้

นอกจากจำนวนครั้งที่ถ่ายที่เราต้องสังเกตเองแล้ว เราควรสังเกตลักษณะของอุจจาระทุกครั้งที่เราถ่ายด้วย หากมีลักษณะนุ่ม ถ่ายง่าย ไม่เจ็บ ไม่แสบ ไม่ทรมาน หรือไม่ต้องเสียเวลาเบ่งมาก รวมไปถึงกลิ่นที่ไม่เหม็นจัด ไม่มีมูกเลือด หรือเลือดสดๆ ปน และมีสีเหลืองไปจนถึงน้ำตาล แปลว่าเป็นการถ่ายที่ปกติ

 

logoline