svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

เปิดเรื่องจริง “แทงทวย” หนึ่งในพืชที่ถูกแชร์ว่า "รักษาโรคมะเร็ง" ในโซเชียล

29 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สถาบันมะเร็งแห่งชาติย้ำไม่มีข้อมูลที่สามารถยืนยันได้ว่าเปลือกหรือรากของ “ต้นแทงทวย” ใช้รักษาโรคมะเร็งได้ NATION STORY ชวนเปิดเรื่องจริง “แทงทวย” พร้อมเผย 18 สรรพคุณที่เป็นประโยชน์กับผู้ใช้

จากเรื่องราวข่าวสุขภาพในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับ "เปลือกและรากของต้นแทงทวย ใช้รักษาโรคมะเร็งได้" ล่าสุด ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็น "ข้อมูลเท็จ"

โดยชี้แจงว่ายังไม่มีข้อมูลที่สามารถยืนยันได้ว่าเปลือกหรือรากของ "ต้นแทงทวย" สามารถรักษาโรคมะเร็งได้ ซึ่งแทงทวยจากการสืบค้นข้อมูลพบว่า เปลือกต้นแทงทวยประกอบด้วยสารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มไตรเทอร์พีนอยด์ เบอจินีน เดาโคสเตอรอล และสารประกอบฟีนอลิค

เปิดเรื่องจริง “แทงทวย” หนึ่งในพืชที่ถูกแชร์ว่า \"รักษาโรคมะเร็ง\" ในโซเชียล

เปิดเรื่องจริง “แทงทวย” หนึ่งในพืชที่ถูกแชร์ว่าใช้รักษาโรคมะเร็งในโซเชียล

สมุนไพรแทงทวย มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ดังนี้

  • สีเสียดน้ำ คำแดง ทองทวย แทงทวย มะคาย คำแสด (ภาคกลาง)
  • แทงทวย (ราชบุรี)
  • กายขัดหิน ขี้เนื้อ (เชียงใหม่)
  • ขางปอย ซาดป่า (นครพนม)
  • ลายตัวผู้ (จันทบุรี)
  • ทองขาว (เลย)
  • สากกะเบือละว้า (สุโขทัย, พิษณุโลก)
  • ชาตรีขาว (ภูเก็ต)
  • พลากวางใบใหญ่ (ตรัง)
  • ขี้เต่า (สุราษฎร์ธานี)
  • พลับพลาขี้เต่า (นครศรีธรรมราช)
  • มะกายคัด (ภาคเหนือ)
  • ไม้เล็ง (ไทใหญ่) 

แทงทวย ชื่อสามัญ Monkey-faced tree, Red berry

แทงทวย ชื่อวิทยาศาสตร์ Mallotus philippensis (Lam.) Müll.Arg. จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา EUPHORBIACEAE

ลักษณะของแทงทวย

ต้นแทงทวย จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 5-12 เมตร บ้างว่าสูงได้ประมาณ 15 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลปนเทาและมักมีร่อง ที่กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลปกคลุมและมียางสีแดง ต้นคำแสดมีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่แถบหิมาลัย ศรีลังกา พม่า อินเดีย จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ถึงไต้หวัน ออสเตรเลีย และตลอดจนหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนในประเทศสามารถพบได้ทุกภาค โดยจะขึ้นตามชายฝั่งทะเล ตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา และจามป่าเบญจพรรณ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 1,200 เมตร

เปิดเรื่องจริง “แทงทวย” หนึ่งในพืชที่ถูกแชร์ว่า \"รักษาโรคมะเร็ง\" ในโซเชียล

18 สรรพคุณของแทงทวย

  1. เปลือกต้นแทงทวย ประกอบด้วยสารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มไตรเทอร์พีนอยด์ เบอจินีน เดาโคสเตอรอล และสารประกอบฟีนอลิค
  2. เปลือกต้นช่วยบำรุงธาตุ (เปลือกต้น)
  3. เมล็ดช่วยแก้ไข้ (เมล็ด)
  4. ผลและใบนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้หวัด (ผลและใบ)
  5. ช่วยแก้พรรดึก (เปลือกต้น)
  6. ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ (เมล็ด)
  7. เปลือกต้นใช้รักษาโรคกระเพาะ (เปลือกต้น)
  8. เมล็ดเป็นยาขับพยาธิ (เมล็ด)ขนจากผลที่เป็นผงสีแดง ใช้เป็นยาขับพยาธิตัวกลม พยาธิตัวแบน และพยาธิตัวตืด (ขนจากผล) สารสกัดจากผลสามารถฆ่าพยาธิตัวตืดได้ทั้งหลอดทดลองและในสัตว์ทดลอง
  9. แก่นใช้ต้มกับน้ำดื่ม ช่วยแก้ปัสสาวะแดงหรือเหลือง (แก่น)
  10. ใบและดอกมีรสเฝื่อน ใช้เป็นยาพอกบาดแผล (ใบ, ดอก) หรือจะนำเมล็ดมาทำเป็นผงก็ใช้พอกแผลได้เช่นกัน (เมล็ด)
  11. ดอกและเปลือกต้นมีรสเฝื่อน ใช้เป็นยารักษาแผลเรื้อรัง (ดอก, เปลือกต้น)
  12. ราก ใบ และขนจากผล นำมาตำรวมกับน้ำผึ้ง ใช้เป็นยาทาแก้แผลอักเสบ (ราก, ใบ, ขนจากผล)
  13. เปลือกต้นมีรสเฝื่อนใช้รักษาโรคผิวหนัง (เปลือกต้น)
  14. เมล็ดใช้แก้โรคเรื้อน (เมล็ด)
  15. ราก ใบ และขนจากผล นำมาตำรวมกับน้ำผึ้ง ใช้เป็นยาทาแก้สัตว์มีพิษกัดต่อย (ราก, ใบ, ขนจากผล)
  16. ตำรับยาพื้นบ้านใช้แก่นนำมาต้มกับน้ำดื่มช่วยแก้โรคเส้น (แก่น)
  17. เมล็ด ใช้เบื่อปลา
  18. ผล ใช้ทำเป็นสีย้อมผ้าได้ โดยจะให้สีแดงที่เรียกว่า Kamela dye

 

อย่างไรก็ตาม การศึกษาด้านสรรพคุณทางการแพทย์ของแทงทวยมีจำนวนน้อย อีกทั้งยังเป็นเพียงการศึกษาระดับเซลล์และสัตว์ทดลองเท่านั้น จึงไม่มีข้อมูลเพียงพอและไม่สามารถสรุปได้ว่า เปลือกหรือรากของต้นแทงทวยสามารถนำมารักษาผู้ป่วยมะเร็งได้ โดยการนำพืชสมุนไพรมาใช้เพื่อหวังผลทางการรักษา โดยไม่ทราบรายละเอียดด้านสรรพคุณ ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา และวิธีการใช้สมุนไพรอย่างถูกต้อง อาจทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการรักษาที่เหมาะสม หากผู้ป่วยมะเร็งต้องการใช้ยาสมุนไพรเสริมการรักษา ควรปรึกษาแพทย์ก่อน

ดังนั้น บทสรุปของเรื่องนี้คือ ยังไม่มีข้อมูลที่สามารถยืนยันได้ว่าเปลือกหรือรากของต้นแทงทวยสามารถรักษาโรคมะเร็งได้ ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ

 

 

 

Source : สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช / อุทยานการอาชีพชัยพัฒนา นครปฐม / สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข / ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย

logoline