svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

Bell's Palsy โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก หายได้ เป็นซ้ำได้ ป้องกันได้!

26 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รวมเรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับ “โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก” หรือ Bell’s palsy แพทย์เผยพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ชี้ผู้ที่มีความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นเบาหวาน หรือเคยติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจมาก่อนมีโอกาสเสี่ยงและเกิดซ้ำได้

เรื่องของความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่าที่คิด ซึ่งหนึ่งในอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจเกิดบนใบหน้า ด้วยอาการปากเบี้ยวหรือใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก เรียกว่า “Bell’s palsy” เป็นโรคซึ่งเกิดจากการบวมอักเสบของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 (Cranial nerve) ที่ควบคุมการทำงานของใบหน้า

สำหรับ Bell’s palsy หรือโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก เกิดขึ้นกับใครก็ได้ พบได้บ่อยในคนทุกวัยทุกเพศ ทุกอาชีพ และทุกเชื้อชาติ โอกาสในการเกิดโรคนี้อยู่ที่ราว 1 ใน 500 คน โดยทั่วไปอาการของโรคจะหายไปภายในระยะเวลา 1-2 เดือน แต่ประมาณ 10% ของผู้ที่เคยเป็นโรค Bell’s palsy มีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำอีก และอาจเกิดขึ้นที่ด้านตรงข้ามของใบหน้า หรือด้านเดิมก็ได้ ซึ่งแม้ว่าโรคนี้ไม่ร้ายแรงแต่กระทบกับการใช้ชีวิต การดื่มน้ำ กินอาหาร และหากได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างรวดเร็วและทันเวลาจะหายได้เกือบ 100% ภายใน 4-8 สัปดาห์

ล่าสุด (26 ม.ค. 2567) กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เตือนอาการอ่อนแรง บริเวณใบหน้าครึ่งซีก ใบหน้าเบี้ยว หลับตาไม่สนิท ปากเบี้ยว  มีน้ำไหลมุมปาก การรับรสผิดปกติ หูอื้อข้างเดียว เกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7

 

การอักเสบของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 (Cranial nerve)

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์  เปิดเผยว่า อาการปากเบี้ยวหรือหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s palsy ) คือ ภาวะที่กล้ามเนื้อใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งทำงานผิดปกติ โดยมีสาเหตุมาจากการอักเสบของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ซึ่งในภาวะปกติ เส้นประสาทนี้จะทำหน้าที่การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้าเพื่อแสดงอารมณ์ การหลับตาลืมตา การอ้าปากหรือปิดปากเวลาอมน้ำบ้วนปากแปรงฟัน

นอกจากนี้ เส้นประสาทเส้นดังกล่าวยังไปเลี้ยงกล้ามเนื้อที่ยึกกระดูกหูชั้นใน ทำหน้าที่รับรสด้วย เมื่อมีการอักเสบเกิดขึ้น จะทำให้ความสามารถปกติเหล่านี้สูญเสียไป ผู้ป่วยจะหลับตาไม่สนิท ขยับมุมปากไม่ได้ ทำให้การออกเสียงพยัญชนะที่ต้องใช้ริมฝีปากผิดปกติ

โดยมากผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดศีรษะบริเวณขมับหรือใบหูข้างที่เกิดอาการนำมาก่อนไม่กี่วัน หลังจากนั้นจะเริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติเกิดขึ้นทีละน้อย และเห็นชัดเจนภายใน 48 ชั่วโมง ซึ่งสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด บางส่วนพบว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสอีสุกอีไส เชื้อเริมที่เส้นประสาท บางส่วนเกิดการอักเสบตามหลังการติดเชื้อไวรัสที่คอหรือทางเดินหายใจส่วนบน โดยมักจะพบมากใน ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ เช่น หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ผู้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก สามารถรักษาให้หายขาดได้

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา เผยว่า โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยเส้นประสาทจะสามารถฟื้นตัวเต็มที่ภายใน 3 เดือน แพทย์ผู้ตรวจรักษาจะวินิจฉัยจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย เพื่อให้การวินิจฉัย แต่เนื่องจากอาการหน้าเบี้ยวครึ่งซีก อาจเป็นอาการแสดงของโรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke ได้ หากอาการก้ำกึ่ง หรือมีความจำเป็นต้องแยก อาจจำเป็นต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติม

เช่น การทำงานของประสาท (EMG) ส่วนของการรักษาโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก หากตรวจพบอาการแสดงของไวรัสอีสุกอีใส หรือเชื้อเริม จะให้ยารักษาไวรัส แต่หากไม่พบสาเหตุของการอักเสบ แต่ผู้ป่วยมารับการตรวจรักษาเร็ว อาจจะพิจารณาให้ยาสเตียรอยด์เพื่อลดอาการอักเสบ ซึ่งจะช่วยให้ระยะเวลาในการฟื้นตัวสั้นลง

แต่ทั้งนี้ ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูเส้นประสาทร่วมด้วย เมื่อผ่านพ้นช่วงเวลาฟื้นตัวแล้ว แต่การฟื้นตัวไม่มาก ปัจจุบันสามารถผ่าตัดย้ายเส้นประสาทได้ นอกเหนือจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อใบหน้าแล้ว อาการหลับตาไม่สนิท เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการตาแห้ง เคืองตา หรือตาอักเสบได้ ดังนั้นผู้ป่วยจะได้รับน้ำตาเทียมเพื่อหล่อเลี้ยงดวงตา และขี้ผึ้งป้ายตาเวลานอน เพื่อป้องกันตาแห้งและตาอักเสบด้วย ในช่วงกลางวัน

ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ควรปิดตาข้างที่มีอาการ หรือใส่แว่นกันแดดเพื่อลดอาการเคืองตา หากมีอาการหน้าเบี้ยว จึงควรรีบไปโรงพยาบาลให้เร็ว เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกจากภาวะโรคหลอดเลือดสมอง แม้ท้ายที่สุดจะตรวจพบว่าเป็นโรค Bell’s Palsy ก็จะได้รับการรักษาเร็ว ซึ่งช่วยให้เส้นประสาทฟื้นตัวได้ดีและเร็วขึ้นด้วย

ใครบ้างมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรค Bell's Palsy

  • หญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะระยะสามเดือนสุดท้าย หรือหลังคลอดบุตร
  • ผู้ที่มีประวัติว่าคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • ผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจมาก่อน เช่น โรคหวัด หรือ ไข้หวัดใหญ่
  • คนที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายอ่อนแอ ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำลง
  • คนที่มีภาวะเครียด
  • คนที่เคยได้รับอุบัติเหตุ

สังเกตอาการของโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก

  • เมื่อดื่มน้ำจะมีน้ำไหลออกมาจากมุมปาก
  • ปากเบี้ยว มุมปากตก พูดไม่ชัด
  • หลับตาได้ไม่สนิท เปลือกตาล่างเปิดออก
  • ยักคิ้วไม่ขึ้น
  • อาจมีอาการปวดหู และได้ยินเสียงดังมากผิดปกติระยะแรก
  • ชาบริเวณใบหน้าครึ่งซีก
  • ไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ตามปกติ หรือมีเศษอาหารตกค้างอยู่บริเวณกระพุ้งแก้มข้างที่มีอาการ

Bell\'s Palsy โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก หายได้ เป็นซ้ำได้ ป้องกันได้!

วิธีการดูแลตัวเองเมื่อมีอาการใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก

วิธีการรักษา มีตั้งแต่การรักษาด้วยการใช้ยาแก้อักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ การให้ยาฆ่าเชื้อไวรัส การกายภาพบำบัด  โดยการฝึกหรือกระตุ้นให้กล้ามเนื้อใบหน้าที่อ่อนแรงได้ทำงาน เพื่อรอการฟื้นตัวของเส้นประสาท โดยการกายภาพบำบัดสามารถทำได้ดังนี้

  • การบริหารกล้ามเนื้อใบหน้า เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าที่ยังอ่อนแรง บริหารท่านละ 10 – 20 ครั้งต่อรอบ โดยควรทำอย่างน้อย
  • ประคบร้อนบริเวณใบหน้าซีกที่มีอาการ ใช้เวลาประมาณ 15 – 20 นาทีต่อครั้ง วันละ 1 – 2 ครั้ง เพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด และลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อใบหน้า แต่ควรระวังการประคบร้อนในรายที่มีอาการชาของใบหน้า
  • กระตุ้นกล้ามเนื้อใบหน้าที่มีอาการอ่อนแรงด้วยไฟฟ้า เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อมีการหดคลายตัวเป็นการชะลอการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อ มักใช้ในรายที่กล้ามเนื้ออ่อนแรงทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมด
  • การนวดใบหน้า เป็นการใช้ปลายนิ้วนวดคลึง ใบหน้าเบาๆ ช้าๆ ตามแนวกล้ามเนื้อใบหน้าแต่ละมัด เพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อใบหน้า
  • ข้อแนะนำอื่นๆ เช่น ควรใช้น้ำตาเทียมเพื่อป้องกันตาแห้ง ใช้ยาขี้ผึ้งป้ายตาก่อนนอน หรือใช้ที่ครอบตาป้องกันฝุ่นเข้าตาขณะนอนหลับ สวมแว่นเวลาออกนอกบ้านเพื่อกันลม ฝุ่นละออง และห้ามขยี้ตาข้างที่ปิดไม่สนิท

 

 

logoline