svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

“พระคุณที่สาม” เปิดลิสต์ความเสี่ยงเรื่องสุขภาพของอาชีพครูไทย

15 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โรคและภัยอย่ามาแผ้วพานคุณครู เปิดลิสต์ความเสี่ยงเรื่องสุขภาพของอาชีพครูไทย “พระคุณที่สาม” ทั้งเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพใจ

16 มกราคม 2567 เป็นวันครู สำหรับ “วันครูแห่งชาติ”  (Teachers' Day) มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 จุดประสงค์เพื่อให้นักเรียนได้ระลึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ แม่พิมพ์ของชาติ ผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ ทำให้เราเป็นคนดีมีวิชา ฉะนั้น ครูจึงเป็นบุคคลที่สำคัญอย่างมากในวงการการศึกษา ทั้งในด้านวิชาการและประสบการณ์

คำขวัญวันครู ประจำปี 2567 โดยนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน คือ "ครูวางฐานคิด ส่งเสริมศิษย์สร้างสรรค์"

“พระคุณที่สาม” เปิดลิสต์ความเสี่ยงเรื่องสุขภาพของอาชีพครูไทย

อาชีพครูเสี่ยงโรคอะไรบ้าง?

ปวดหลัง ออฟฟิศซินโดรม “เสี่ยงหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท”

การนั่งทำงาน นั่งสอน หรือตรวจการบ้านนานๆ อาจเกิดอาการปวดหลังแม้จะรักษาหายจากการกินยาแล้วแต่หากยังมีพฤติกรรมเดิมๆ อาการก็อาจกลับมาได้อีก และถ้าปล่อยให้อาการเรื้อรังอาจนำไปสู่อาการเจ็บป่วยรุนแรง เสี่ยงโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ซึ่งจะมีอาการปวดหลัง หรือปวดบริเวณเอว เป็นๆ หายๆ ปวดร้าวลงไปถึงขา น่อง หรือเท้า มีอาการชาร่วมด้วย ในคนที่อาการรุนแรงอาจมีอาการอ่อนแรงของขา กระดูกข้อเท้าไม่ได้

แต่หากอยากห่างไกลโรคนี้ก็มีวิธีดูแลตัวเองง่ายๆ เช่น ลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ 1 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงการก้มเงย ยกของหนักเป็นประจำ ปรับท่านั่งให้ถูกต้อง เช่น นั่งตัวตรง นั่งเต็มก้น นั่งพิงพนักให้พอดี ไม่ออกกำลังกายหรือกิจกรรมที่หนักเกินไป

ยืนนาน เส้นเลือดขอด “เสี่ยงข้อเข่าเสื่อม”

ครูอาจารย์ต้องยืนต้องเดินทั้งวันและทุกวัน ทำให้มีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดดำที่ขา คือความผิดปกติในการทำงานของหลอดเลือดดำ ทำให้การไหลเวียนโลหิตกลับเข้าสู่หัวใจไม่สะดวก เกิดการคั่งค้างของเลือด มองเห็นเป็นเส้นเลือดขอดและนูนบริเวณขา ทำให้ปวดน่อง คัน รู้สึกแสบร้อน หรือเป็นตะคริวที่น่อง หากมีอาการรุนแรงจะพบว่าผิวหนังมีการอักเสบ หรือมีแผลพุพองบริเวณผิวหนังใกล้ข้อเท้า ซึ่งความอันตรายของโรคนี้อาจส่งผลกระทบถึงหลอดเลือดฝอยและระบบน้ำเหลือง ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เส้นเลือดขอดอักเสบ แผลเรื้อรัง และอาจถึงขั้นต้องเข้ารับการผ่าตัด

แนะนำให้คุณครูที่ต้องยืนนานวันละหลายชั่วโมง เอาใจใส่สุขภาพให้มากขึ้น เพราะนอกจากเส้นเลือดขอดแล้ว ท่านมีความเสี่ยงที่จะข้อเข่าสึกได้มากกว่าคนทั่วไป จึงแนะนำให้เลี่ยงมาพักเข่าทุก 30 นาที และดื่มน้ำมากๆ

กลั้นปัสสาวะ เสี่ยงกระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ

ระหว่างคาบเรียนคุณครูอาจต้องกลั้นปัสสาวะ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะและทำให้เกิดโรค “กระเพาะปัสสาวะอักเสบ” เกิดการติดเชื้อขึ้นได้ หากมีการกลั้นปัสสาวะไว้นานเกินไป โดยเฉพาะในเพศหญิง กระเพาะปัสสาวะอักเสบจะมีอาการปัสสาวะบ่อย แสบ ขัด หรือพบมีปัสสาวะเป็นเลือดได้

นอกจากนี้ ยังเสี่ยงเรื่อง “กรวยไตอักเสบ” คือมีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง หากการติดเชื้อมีความรุนแรง หรือ ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ การติดเชื้อจะลุกลามไปที่ใต ทำให้เกิดกรวยไตอักเสบได้ โดยจะมีอาการไข้สูง ปวดเอว ปัสสาวะขุ่น และมีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้เพื่อลดความเสี่ยงข้างต้น ควรหลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะที่นานเกินไป

เครียด พักผ่อนน้อย “เสี่ยงโรคหัวใจ”

อาชีพครูเป็นอาชีพที่ต้องรับผิดชอบกับความรู้ที่ต้องนำมาสอนนักเรียน ต้องวางแผนการเรียนการสอน บางครั้งก็อาจเกิดปัญหาระหว่างการสอน รวมไปถึงภาระอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน ก่อให้เกิดความเครียดสะสม แถมยังพักผ่อนไม่เพียงพอ อาจทำให้ครูประสบภาวะทางอารมณ์ได้ง่าย ซึ่งอาการเหล่านี้หากสะสมมากขึ้นก็จะก่อให้เกิดปัญหาตามมา โดยเฉพาะโรคหัวใจ เพราะสารโปรตีนในตัวเราจะสะสมมากขึ้นในหัวใจเวลาร่างกายตื่นโดยธรรมชาติ แต่หากนอนไม่พอหรือนอนดึกติดๆ กัน สารโปรตีนเหล่านี้จะยิ่งเข้าไปเกาะที่หลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิดการอุดตันได้ หรือเมื่อเกิดความเครียดจะส่งผลต่อเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตามมา รวมถึงภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และมีโอกาสหัวใจวายได้สูง

ดังนั้น จึงควรพักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นสังเกตอารมณ์ของตัวเองว่าอยู่ในภาวะเครียดแล้วหรือไม่ หากเริ่มมีอาการก็ควรดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หาเวลาว่างเพื่อทำกิจกรรมที่ชอบผ่อนคลายความเครียด เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ แค่เริ่มต้นดูแลตัวเองสุขภาพของคุณครูก็ห่างไกลโรค

กินจุบจิบ กินอาหารไม่เป็นเวลา “เสี่ยงอ้วน เบาหวาน”

ด้วยอาชีพที่ต้องสอนหนังสือ ต้องใช้พลังงานหนักมาก จึงต้องกินอาหารที่ให้พลังงานโดยเฉพาะของหวาน ชา กาแฟ อาหารที่มีแคลอรีสูง เช่น ของทอด ไขมัน หรืออาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น แป้ง น้ำตาล เพื่อช่วยเพิ่มพลังกายให้สดชื่น แถมครูยังมีเวลาน้อยจนไม่ค่อยมีเวลาใส่ใจสุขภาพและออกกำลังกาย ทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคอ้วน และเมื่อกินอาหารเหล่านี้เข้าไปในปริมาณมากๆ จะทำให้เกิดการสะสมปริมาณสารอาหารโดยที่ไม่จำเป็นก็อาจเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานได้

เพื่อลดความเสี่ยง แนะนำให้คุณครูควบคุมน้ำหนักร่วมกับการออกกำลังกาย ลดการบริโภคอาหารพลังงานสูง เช่น อาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง เพิ่มการกินอาหารที่มีกากใย ผักใบเขียวและผลไม้ ดื่มน้ำเปล่าแทนเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล

“พระคุณที่สาม” เปิดลิสต์ความเสี่ยงเรื่องสุขภาพของอาชีพครูไทย

ใช้ปากกาเคมี กระตุ้นภูมิแพ้ “เสี่ยงมะเร็ง”

อาชีพครูเป็นอาชีพที่ต้องใช้ปากกาเคมีในการสอนหนังสือ โดยเฉพาะในห้องเรียนที่ระบบระบายอากาศไม่ดีถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะในปากกาไวท์บอร์ดมีสารอินทรีย์ระเหย หากสูดดมเป็นเวลานานจะส่งผลให้ป่วยเป็นโรคโลหิตจาง ไขกระดูกไม่ทำงานจนอาจถึงขั้นเป็นมะเร็ง ส่วนผงชอล์กมีส่วนประกอบจากแคลเซียมและหินปูน การสูดดมในระยะยาวจะทำให้มีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ เกิดการระคายเคือง หลอดลมอักเสบ

ดังนั้น จึงแนะนำให้สวมหน้ากากป้องกันและพยายามอย่าให้ผงชอล์ก หรือฝุ่นจากการลบปากกาเคมีฟุ้งกระจาย เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรค สำหรับคุณครูที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคภูมิแพ้ ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ

เครียดเรื้อรัง หมดไฟ “เสี่ยงซึมเศร้า”

ภาวะเครียดเรื้อรังในอาชีพครู ส่งผลให้เกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) คือภาวะการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังในการทำงาน โดยมีอาการหลัก 3 อาการ ได้แก่

1) มีความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกสูญเสียพลังงานทางจิตใจ  

2) มองความสามารถในการทำงานของตนเองในเชิงลบ ขาดความรู้สึกประสบความสำเร็จ

3) มองความสัมพันธ์ในที่ทำงานไปในทางลบ รู้สึกเหินห่างจากคนอื่นไม่ว่าจะเป็นผู้ร่วมงาน

ซึ่งจัดการได้โดยพัฒนาทักษะในการจัดการปัญหา และความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงทักษะการสื่อสาร เจรจาต่อรอง การยืนหยัดเพื่อรักษาสิทธิ์อันชอบธรรมของตนเอง ยอมรับความแตกต่างของคน และเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่อาจไม่ตรงกัน ไม่ด่วนตัดสินคนอื่น แสวงหาความช่วยเหลือ และอาจหาที่ปรึกษา และร่วมกิจกรรมทางสังคม กิจกรรมเพื่อสุขภาพ

ทั้งนี้ ภาวะหมดไฟในการทำงานไม่ใช่โรคซึมเศร้า แต่ถ้าหากคนทำงานเริ่มมีอาการเศร้าหดหู่ เบื่อหน่ายสิ่งรอบตัว รู้สึกทุกข์ทรมานกับการใช้ชีวิต หรือมีความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ ควรสงสัยว่าอาจเป็นโรคซึมเศร้าแนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

 

logoline