svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

รวมยาสามัญประจำทริป ติดตัวไว้ยามเดินทางช่วยเพิ่มความอุ่นใจ

27 ธันวาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รวมลิสต์จัดยาไปทริป เที่ยวไม่สะดุด ทั้งยากิน ยาทา ยาปฐมพยาบาล และตัวช่วยยามเดินทางท่องเที่ยวเทศกาลปีใหม่ 2567

ได้เวลาแพ็คกระเป๋าเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ใครไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ นอกจากจะต้องเตรียมข้อมูลท่องเที่ยว การเดินทาง เช็กสภาพรถ และเช็กสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นเพื่อจัดกระเป๋าแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรลืมก็คือ การพกยาสามัญประจำทริปติดตัวไป เพื่อใช้รักษาอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างท่องเที่ยว สำหรับใครที่ไม่รู้ว่าต้องเตรียมยาอะไรไปบ้างนั้น เราได้รวมลิสต์จัดยาไปทริป เที่ยวไม่สะดุด ทั้งยากิน ยาทา ยาปฐมพยาบาล ตัวช่วยยามเดินทางท่องเที่ยวเทศกาลปีใหม่ 2567 มาให้แล้ว

รวมยาสามัญประจำทริป ติดตัวไว้ยามเดินทางช่วยเพิ่มความอุ่นใจ

แต่ก่อนอื่นในการเดินทางแต่ครั้งต้องดูก่อนว่า “จุดหมายปลายทาง” ของเรานั้นไปที่ได้ หากเดินทางไปยังต่างประเทศ สิ่งแรกที่ต้องนึกถึงคือ ต้องศึกษาข้อมูลก่อนว่าประเทศปลายทางที่เราจะไปนั้นมีข้อห้ามการนำยาชนิดใดเข้าประเทศหรือไม่ การอนุญาตให้นำไปปริมาณเท่าไหร่ แต่ถ้าเราเดินทางในประเทศไทย เป็นคนไม่มีโรคประจำตัว ยาสามัญที่ควรพกติดตัวควรประกอบไปด้วย 

1 ยารักษาโรคประจำตัว สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวยากลุ่มนี้สำคัญมาก เพราะต้องกินต่อเนื่องตลอด เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคหัวใจ หรือโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น โดยต้องคำนวณให้ดีว่าจะต้องไปกี่วันเพื่อจะได้จัดเตรียมได้ไม่ขาด ทางที่ดีควรจัดเตรียมเกินไปกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่อาจทำให้ต้องอยู่เที่ยวนานขึ้น

2 ยาแก้เมารถ เมาเรือ หรือเมาเครื่องบิน หากรู้ตัวเองว่าเป็นคนเมารถ เมาเรือ หรือเครื่องบิน ควรกินยาก่อนเดินทางประมาณ 15-30 นาที เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ขณะที่อยู่ระหว่างเดินทาง เพราะหากกินตอนเริ่มเดินทางยาบางชนิดอาจออกฤทธิ์ไม่ทันการณ์

รวมยาสามัญประจำทริป ติดตัวไว้ยามเดินทางช่วยเพิ่มความอุ่นใจ

3 ยาพาราเซตามอล ยาแก้ปวด ลดไข้ แม้จะหาซื้อง่ายแต่ก็ควรเตรียมไปเสมอ เพราะอาจมีคนในทริปปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ ยานี้ค่อนข้างได้มีโอกาสใช้มากที่สุดและใช้ได้เกือบทุกคน แต่มีข้อควรระวังเรื่องขนาดของยาที่ใช้ โดยทั่วไปแนะนำให้กินครั้งละ 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เช่น น้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ให้กินยา 500 มิลลิกรัม หรือ 1 เม็ด

4 ยาแก้แพ้ การเดินทางบางครั้งในสถานที่ใหม่ๆ เราอาจเจออะไรแปลกๆ แล้วเกิดอาการแพ้หรือคัน จึงควรมียาแก้แพ้ แก้คัน ติดตัวไปด้วยเพื่อลดอาการคัน ลดผื่น แนะนำให้พกยาแก้แพ้กลุ่มแอนตี้ฮิสตามีน ซึ่งมีทั้งแบบไม่ง่วง (สำหรับคนส่วนใหญ่) เช่น Cetirizine หรือแบบง่วง เช่น Chlorpheniramine

5 ยาแก้ท้องเสีย ผงเกลือแร่ และผงถ่าน เพื่อลดอาการท้องเสียระหว่างทริป เนื่องจากอาจกินอาหารที่ไม่คุ้นเคย โดยข้อระวังในการใช้ผงถ่าน คือต้องกินห่างจากยาตัวอื่นอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ไม่ฉะนั้น จะทำให้การดูดซึมของยาตัวอื่นลดลง

6 ยาลดกรด แก้ท้องอืด แก้ปวดท้อง กลุ่มยากินแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ยาชนิดนี้ต้องอ่านคำแนะนำให้ดี เพราะบางตัวต้องเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืนเพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้อย่างเต็มที่

7 ยาแก้ปวดต้านการอักเสบ เป็นอีกหนึ่งชนิดที่จำเป็นเพราะอาจปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการเดินมากๆ หรือนั่งรถนานๆ แต่ควรกินหลังอาหารทันทีแล้วดื่มน้ำตามมากๆ เนื่องจากยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ระคายเคืองกระเพาะอาหาร

8 สเปรย์ไล่ยุง มด แมลง ป้องกันแมลงสัตว์กัดต่อย หากไปแคมป์หรือต้องเดินป่า สามารถพ่นสเปรย์ก่อนล้วงหน้าเพื่อป้องกันได้เลย แนะนำให้พกยาหม่องไปด้วยเพื่อช่วยคลายพิษหากโดนแมลงสัตว์กัดต่อย

รวมยาสามัญประจำทริป ติดตัวไว้ยามเดินทางช่วยเพิ่มความอุ่นใจ

9 ชุดปฐมพยาบาล ขณะท่องเที่ยวอาจหกล้ม ขาพลิก โดนกิ่งไม้ เปลือกหอย ของมีคม หรืออุบัติเหตุ การพกชุดปฐมพยาบาลติดไปด้วยก็จะช่วยให้ทำการดูแลแผลเบื้องต้นได้ก่อน ถ้าอาการรุนแรงมากจึงค่อยไปหาหมอเพื่อรักษา แนะนำให้เตนรียมสำลี ผ้าก็อช ยาโพวิโดน ไอโอดีนใส่แผล แอลกอฮอล์ล้างแผล แต่ถ้ากลัวแสบแผลก็ใช้เป็นเบตาดีนแทนได้ เนื่องจากสามารถใช้ฆ่าเชื้อได้เช่นกัน อย่าลืมเตรียมพลาสเตอร์ปิดแผล แนะนแบบมีรูพรุนระบายอากาศ เผื่อใช้ตอนเดินมากๆ แล้วเท้าเป็นแผล และควรพกไปหลายชิ้นเพราะต้องเปลี่ยนบ่อย

10 เจลแอลกอฮอล์ และหน้ากากอนามัย ไอเทมสำคัญที่ควรพกติดตัวเอาไว้เพื่อป้องกันตัวเองจากเชื้อโรค ฝุ่นละออง และควรล้างมือหรือทำความสะอาดมือทุกครั้งก่อนกินอาหาร และหลังการเข้าห้องน้ำ เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจติดมือมาจากการสัมผัสสิ่งต่างๆโดยที่เราไม่รู้ตัว

รวมยาสามัญประจำทริป ติดตัวไว้ยามเดินทางช่วยเพิ่มความอุ่นใจ

นอกจากนี้ ยังแนะนำให้โหลดแอปหรือเซฟเบอร์โทรฉุกเฉินเพื่อขอความช่วยเหลือเมื่อภัยมาเยือน อาทิ

กรณีเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุระหว่างทาง

  • หน่วยแพทย์กู้ชีวิต วชิรพยาบาล     1554
  • หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน (กทม.)          1646
  • หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน (ทั่วไทย)       1669

กรณีแจ้งเหตุ

  • แจ้งเหตุด่วน - เหตุร้าย         191
  • แจ้งเหตุไฟไหม้                  199
  • ตำรวจท่องเที่ยว                 1155
  • ตำรวจทางหลวง                 1193
  • สายด่วนจราจร                   1197
  • แจ้งรถหาย                        1192
  • ศูนย์ความปลอดภัย กรมทางหลวงชนบท    1146
  • ศูนย์จราจร อุบัติเหตุ จส.100         1137
  • สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน             1667
logoline