svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

อาการแบบไหนเรียกว่า “เมา” ในความเป็นจริงและในสายตาของกฎหมาย

22 ธันวาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดวิธีการสังเกตและประเมินอาการมึนเมาสุราเบื้องต้น เผยระดับแอลกอฮอล์ในเลือดที่สัมพันธ์กับอาการคนดื่ม และดื่มแค่ไหนเรียก "เมา" พร้อมสรุปบทลงโทษตามกฎหมาย

“เมาแล้วขับ” นับเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ในช่วงเทศกาล เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ หรือวันเฉลิมฉลองอื่นๆ มักมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติ เพราะในการสังสรรค์หรืองานรื่นเริงมักมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ผู้ขับขี่ขาดสติ

ส่วนที่หลายคนสงสัยว่าแบบไหนเรียก “เมา” ในความเป็นจริงและในสายตากฎหมาย ต้องเป่าวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดหรือไม่ และในกรณีที่ “เมาแล้วขับ” ประกันจะจ่ายไหม มีค่าปรับเท่าไหร่ ครั้งนี้มีคำตอบมาให้

วิธีการสังเกตและประเมินอาการมึนเมาสุราเบื้องต้น

สำหรับวิธีสังเกตผู้ที่มีภาวะเมาสุรา อาจจะมีลักษณะอาการที่แสดงออกทางร่างกาย และพฤติกรรมกรรมหลายด้าน ซึ่งผู้ใกล้ชิดอาจจะสังเกตและประเมินได้เบื้องต้น ดังนี้

  • อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย  แสดงออกอย่างไม่เหมาะสม หรืออารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
  • ตาเยิ้มแดง หนังตาหย่อน ลืมตาไม่ขึ้น
  • พูดจา หรือแสดงพฤติกรรมการไม่เหมาะสมกับกาลเทศะ เช่น พูดโพล่งเสียงดัง พูดมากขาดสาระ พูดจาก้าวร้าว เกี่ยวพาราสีลวนลามผู้อื่น
  • มีอาการทางจิตประสาท เช่น พูดจาอ้อแอ้ เดินเซ ตากระตุก สมาธิและความจำบกพร่อง หรือ อาจจะหมดสติ
  • ระดับการรู้สึกตัวเสียไป ซึม หมดสติ และอาจจะเสียชีวิตได้
  • การควบคุมการเคลื่อนไหว คนที่มีอาการเมาสุรามักจะเดินเป็นเส้นตรงไม่ได้ เดินโซเซ มือสั่น เป็นต้น
  • สังเกตกลิ่นกาย คนที่เมาสุรามักจะมีกลิ่นแอลกอฮอล์ซึมออกมาจากตัว

ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดที่สัมพันธ์กับอาการคนดื่ม

1. ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 30 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือดื่มเหล้า 4 แก้ว แก้วละ 1 ฝา > จะมีอาการครึกครื้น สนุกสนานร่าเริง

2. ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือดื่มเหล้า 6 แก้ว แก้วละ 1 ฝา > จะมีทำให้การควบควบคุมการเคลื่อนไหวเสียไป ไม่สามารถควบคุมได้ดีเท่าภาวะปกติ

3. ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือดื่มเหล้า 12 แก้ว แก้วละ 2 ฝา > จะมีอาการเดินไม่ตรงทาง

4. ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือดื่มเหล้า 24 แก้ว แก้วละ 2 ฝา > จะเกิดอาการสับสน

5. ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ > จะมีอาการง่วง งง และซึม

6. ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ > จะเกิดอาการสลบ และอาจถึงตายได้

ทั้งนี้ โดยปกติเบียร์ 1 แก้ว จะมีขนาด 285 มิลลิลิตร และมีดีกรีแอลกอฮอล์ 5% ซึ่งหากดื่มเบียร์ 3 แก้ว ร่างกายจะยังไม่สูญเสียการทำงาน ยังมีความรู้สึกผ่อนคลาย สนุกสนาน แต่ถ้าดื่มในระดับเพิ่มขึ้นถึงแก้วที่ 9 ร่างกายจะตอบสนองช้าลง เริ่มส่งผลเสียต่อการควบคุมตัวเอง

หากฝืนดื่มต่อไปถึง 13 แก้ว จะเกิดอาการง่วงซึม อาจเกิดอาการเมา อ่อนเพลีย อาเจียนได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายได้รับเบียร์ถึง 17 แก้ว จะส่งผลให้เกิดการเสียสมดุลของฮอร์โมน เกิดการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาท ทำให้เสียการควบคุม การมองเห็น ได้ยินไม่ชัด ร่างกายจะตอบสนองช้าลง ตัดสินใจช้าลง 

การประเมินตัวเองเบื้องต้นจากอากการทางร่างกาย

  • แตะจมูกตัวเอง ยืดแขนไปข้างหน้าแล้วชี้นิ้วออกไป จากนั้นให้งอศอกและเอานิ้วมาแตะที่ปลายจมูกโดยไม่ลืมตา หากแตะที่ปลายจมูกไม่ได้ แสดงว่าน่าจะอยู่ในภาวะมึนเมาสุรา
  • เดินแล้วหัน ยืนตัวตรง เดินสลับเท้าโดยให้ส้นชิดปลายเท้า เป็นเส้นตรงไปข้างหน้า 9 ก้าว แล้วหันตัวด้วยเท้า 1 ข้าง จากนั้นเดินสลับเท้าแบบส้นชิดปลายอีก 9 ก้าว หากไม่สามารถเดินให้ส้นเท้าชิดปลายเท้าได้ ต้องใช้แขนช่วยพยุง หรือล้มเซว แสดงว่าน่าจะอยู่ในภาวะมึนเมาสุรา
  • ยืนขาเดียว ยืนตัวตรง ยกขาข้างหนึ่งขึ้นจากพื้น 15 ซม. เริ่มนับ “1000, 1001, 1002... จนกว่าจะครบ 30 วินาที หากตัวเซ วางเท้าลง เขย่ง หรือใช้แขนทรงตัว แสดงว่าน่าจะอยู่ในภาวะมึนเมาสุรา

อาการแบบไหนเรียกว่า “เมา” ในความเป็นจริงและในสายตาของกฎหมาย

ดื่มแค่ไหนเรียก "เมา"

ทางการแพทย์ “เมา” หรือ “ไม่เมา” จะวัดกันที่ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด ซึ่งวัดได้หลายรูปแบบ อาทิ การเป่า หรือการตรวจเลือดเพื่อหาระดับแอลกอฮอล์ ปกติแล้วในเลือดของเราแอลกอฮอล์จะเป็น 0 เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่ในร่างกาย แต่เมื่อเราเริ่มดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป ระดับแอลกอฮอล์จะขึ้นเรื่อยๆ

ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 21 พ.ศ. 2550 ออกความใน พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ระบุว่า ระบุว่า ถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ถือว่าเมาสุรา

ยกเว้นผู้ขับขี่ใน 4 กรณีต่อไปนี้ ถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ถือว่าเมาสุรา คือ

  • ผู้ขับขี่ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์
  • ผู้ขับขี่ที่มีใบขับขี่ชั่วคราว (ใบขับขี่อนุญาตแบบ 2 ปี) 
  • ผู้ขับขี่ที่มีใบขับขี่ประเภทอื่น ซึ่งใช้แทนกันไม่ได้
  • ผู้ขับขี่ที่ถูกยกเลิกใบขับขี่ หรืออยู่ระหว่างการพักใช้งานใบขับขี่

ถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ในกรณีที่บุคคลที่มีใบขับขี่ตลอดชีพหรือใบขับขี่ 5 ปี และมีอายุเกิน 20 ปี ถือว่าเมาแล้วขับ

หากเป่าแอลกอฮอล์แล้วพบว่า ปริมาณเกินกำหนดทั้ง 2 กรณี จะถือว่าเมาแล้วขับ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 160 ตรี

ในกรณีที่ไม่เป่าแอลกอฮอล์ในทางกฎหมายจะถือว่าเมาแล้วขับ ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ

สำหรับโทษของการเมาแล้วขับ ไม่ว่าจะเป็นกรณีเป่าแอลกอฮอล์แล้วเกินกำหนดหรือเกิดอุบัติเหตุจนทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 160 ตรี กำหนดให้ผู้ขับขี่ที่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น ดังนี้

- เมาแล้วขับ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนด ไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

- เมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

- เมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-6 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000-120,000 บาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

- เมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

- ผู้ขับขี่ที่กระทำผิดซ้ำข้อหาเมาแล้วขับ กระทำผิดครั้งแรกจะมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี นับแต่วันที่กระทำความผิดครั้งแรก เพิ่มอัตราโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับตั้งแต่ 50,000 – 100,000 บาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 160 ตรี/1 มาตรา 160ตรี/2 และมาตรา 160 ตรี/3

(ข้อมูลจากพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 43 มาตรา 160 มาตรา 160 ตรีกฎกระทรวง ฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2560) ข้อ 3 (1))

อาการแบบไหนเรียกว่า “เมา” ในความเป็นจริงและในสายตาของกฎหมาย

“เมาแล้วขับ” จนเกิดอุบัติเหตุ เคลมประกันรถยนต์ได้หรือไม่?

เรื่องนี้ต้องแบ่งคำตอบออกเป็น 2 ข้อ เพราะประกันรถยนต์มีทั้ง พ.ร.บ.รถยนต์ และ ประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประกันชั้น 1, ประกันชั้น 2+ และประกันชั้น 3+) แต่ละประเภทมีเงื่อนไขในการคุ้มครองที่แตกต่างกัน ซึ่งถ้าถามว่าเมาแล้วขับ ประกันรถยนต์จ่ายไหม ขอเคลมประกันรถยนต์ได้หรือเปล่า ซึ่งแจกแจงได้ดังนี้

เมาแล้วขับ "พ.ร.บ.รถยนต์" คุ้มครองไหม จ่ายค่าเสียหายให้หรือเปล่า

ไม่ว่าจะเกิดอุบัติเหตุอะไร หน้าที่ของ พ.ร.บ.รถยนต์ คือคุ้มครองผู้เอาประกันรถยนต์และคู่กรณี โดยไม่พิสูจน์ความถูกหรือผิด ซึ่งจ่ายเป็นค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่ารักษาพยาบาลเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที แต่ค่าเสียที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ของผู้เอาประกัน พ.ร.บ.รถยนต์ จะไม่คุ้มครอง 

เมาแล้วขับ "ประกันรถยนต์" จ่ายไหม คุ้มครองใครบ้าง?

ถ้าแอลกอฮอล์ในเลือดไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ประกันรถยนต์จะคุ้มครองทั้งผู้เอาประกันและฝ่ายเสียหาย ถ้าแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ประกันรถยนต์จะไม่คุ้มครองผู้เอาประกัน แม้จะซื้อประกันรถยนต์ชั้น 1 ที่มีเบี้ยสูงสุดก็ตาม แต่คุ้มครองฝ่ายเสียหายตามเงื่อนไขของประกันรถยนต์ที่ซื้อไว้ ซึ่งบริษัทประกันจะไล่ค่าเสียหายทั้งหมดจากผู้ประกันเพื่อนำไปชดใช้ให้ผู้เสียหายในลำดับถัดไปอีกด้วย 

...สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกคนขับรถกลับบ้านปลอดภัย “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” เที่ยวปีใหม่อย่างสนุกและมีความสุข

 

logoline