svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

เตือนค่าฝุ่น PM 2.5 เข้าขั้นอันตรายยิ่งกระตุ้นภูมิแพ้กำเริบ

12 ธันวาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วัดค่าฝุ่น PM 2.5 วันนี้ กระทบต่อสุขภาพ เตือนผู้ป่วยภูมิแพ้รับผลกระทบหนัก สาเหตุเพราะเมื่อร่างกายได้รับฝุ่นเพิ่มขึ้นทำให้มีอาการแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้เดิมไวขึ้น และเกิดการแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดใหม่เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งทำให้โรคภูมิแพ้โพรงจมูก โรคหอบหืดกำเริบรุนแรง

กรมควบคุมมลพิษ รายงานค่าฝุ่นละออง PM2.5 วันนี้ (11 ธ.ค.2566) ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบเกินมาตรฐาน 74 พื้นที่ หนักสุด ต.ปากน้ำ จ.สมุทรปราการ 75.7 มคก./ลบ.ม. มีผลกระทบต่อสุขภาพ ขณะที่ริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เขตหนองแขม กรุงเทพฯ 72.3 มคก./ลบ.ม.

โดยปริมาณฝุ่นละอองเฉลี่ยวัดได้ 31.5 - 75.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินมาตรฐาน (มาตรฐานไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม.) อยู่ในระดับสีส้มและสีแดง ตั้งแต่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพจนถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพทุกคน

PM 2.5 ศัตรูโรคภูมิแพ้

เนื่องจากฝุ่น PM 2.5 เป็นสารพิษในชั้นบรรยากาศที่มีขนาดเล็กมาก เมื่อร่างกายได้รับลงลึกไปถึงหลอดลม ทำให้เกิดการอักเสบบริเวณหลอดลมและถุงลม ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะ "ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้" ที่อาจมีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่าเดิม

เตือนค่าฝุ่น PM 2.5 เข้าขั้นอันตรายยิ่งกระตุ้นภูมิแพ้กำเริบ

เพราะเหตุใดฝุ่น PM 2.5 จึงสัมพันธ์กับโรคภูมิแพ้

ข้อมูลโดย นายแพทย์จิรวัฒน์ เชี่ยวเฉลิมศรี อายุรศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันทางคลินิก โรงพยาบากรุงเทพ เผยว่า ฝุ่น PM 2.5 มีความสัมพันธ์กับโรคภูมิแพ้อย่างมาก เนื่องจากกลไกการอักเสบที่ลงลึกไปที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบนและระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ส่งผลต่อ "ภูมิแพ้ทางเดินหายใจ" และ "ภูมิแพ้ผิวหนัง"

เมื่อสูดเข้าไปจะเกิดการอักเสบที่ทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ภูมิแพ้โพรงจมูก จาม น้ำมูก คัดจมูก ลามไปถึงโพรงไซนัสอักเสบ

ส่วนการอักเสบทางเดินหายใจส่วนล่าง คือ บริเวณหลอดลมกับถุงลม ส่งผลให้มีอาการไอ แน่นหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย หายใจติดขัด รวมถึงหายใจมีเสียงหวีด

นอกจากนี้ ยังผลต่อระบบผิวหนัง โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคภูมิแพ้ผิวหนังอยู่เดิม จะทำให้เกิดอาการกำเริบ มีผื่นแดงขึ้นตามตัวมากขึ้น

ฝุ่น PM 2.5 นอกจากสัมพันธ์กับภูมิแพ้ยังกระทบกับผู้ป่วยโรคหอบหืด ที่น่าสนใจคือมีข้อมูลระบุว่า เมื่อร่างกายได้รับฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้น จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้เดิมได้ไวขึ้น และเกิดการแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดใหม่เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งทำให้โรคภูมิแพ้โพรงจมูก โรคหอบหืดกำเริบรุนแรงขึ้นได้

เตือนค่าฝุ่น PM 2.5 เข้าขั้นอันตรายยิ่งกระตุ้นภูมิแพ้กำเริบ

อันตรายต่ออาการแพ้ที่เกิดขึ้นจากฝุ่น PM 2.5

ฝุ่น PM 2.5 สามารถทำให้เกิดการอักเสบใน 2 รูปแบบคือ

อักเสบเฉียบพลัน มีอาการจาม น้ำมูก คัดจมูก แสบตา คันตา น้ำมูกไหล ยิ่งคนที่เป็นหอบหืดจะเหนื่อยขึ้น จากภาวะหลอดลมตีบอักเสบ มีหายใจเสียงหวีด ส่วนคนที่ไม่เคยเป็นหอบหืดมาก่อนหรือคนที่เป็นหอบหืดตอนเด็กหายแล้วสามารถกลับมาเป็นซ้ำอีกได้เพราะความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 ที่สูงกระตุ้นให้โรคกลับมาและกระตุ้นให้เป็นโรคใหม่ได้ นอกจากนี้ยังส่งผลกับภูมิแพ้ผิวหนัง กระตุ้นผื่นภูมิแพ้ผิวหนังและลมพิษได้ด้วย

อักเสบเรื้อรัง มีอาการคัดจมูกมากจนทนไม่ไหว ปวดมาก ปวดซีกเดียว มีมูกสีเหลืองเขียวออกมา การได้กลิ่นลดลง ซึ่งเป็นอาการของโพรงไซนัสอักเสบหรือภูมิแพ้กำเริบรุนแรงได้ นอกจากนี้ที่สำคัญมากการเกิดการอักเสบเรื้อรังในทางเดินหายใจ ทำให้เกิดเซลล์ผิดปกติกลายเป็นมะเร็งต่างๆ ในอนาคต อาทิ "มะเร็งปอด" เป็นต้น

เตือนค่าฝุ่น PM 2.5 เข้าขั้นอันตรายยิ่งกระตุ้นภูมิแพ้กำเริบ

เรากำลังแพ้ฝุ่น PM 2.5 อยู่หรือเปล่า?

วิธีการสังเกตในบุคคลทั่วไป อาจมีอาการระคายเคืองโพรงจมูก มีจาม น้ำมูกใส ไอ หรือหายใจไม่สะดวก อาจมีตาแดง คันตา น้ำตาไหล

ในผู้ป่วยกลุ่มโรคภูมิแพ้ โพรงจมูกอักเสบ โรคหอบหืด หรือโรคปอดอื่นๆ จะพบว่ามีอาการกำเริบของโรค ตั้งแต่คัดจมูกมาก มีน้ำมูกไหล ไอ หอบเหนื่อย หายใจเสียงหวีด บางรายอาจรุนแรงถึงระบบหายใจล้มเหลวได้

ในกลุ่มผู้ป่วยภูมิแพ้ผิวหนัง มีอาการกำเริบของโรคคันมาก เกิดผื่นแดงตามผิวหนังคุมโรคไม่ได้

 

การรักษาโรคภูมิแพ้กลุ่มภูมิแพ้ทางเดินหายใจ

หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยหลังจากได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าแพ้สารก่อภูมิแพ้ใดบ้าง เราจะรู้วิธีและสามารถหลีกเลี่ยงการก่อภูมิแพ้ดังกล่าวได้อย่างถูกวิธี รวมถึงควรหลีกเลี่ยงมลพิษและฝุ่น PM 2.5 ร่วมด้วย เพื่อลดการกำเริบของโรคและลดการเกิดการแพ้สารก่อภูมิแพ้ใหม่ๆ อีกได้

การใช้ยาพ่นต่อเนื่อง

  • โรคภูมิแพ้โพรงจมูก หรือโพรงไซนัสอักเสบ หากเป็นรุนแรงมีเยื่อบุโพรงจมูกบวม หรือเป็นถึงโพรงไซนัสอักเสบ แนะนำการใช้ยาพ่นจมูกชนิดสเตียรอยด์ต่อเนื่องไปช่วงหนึ่ง เพื่อลดการบวมอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูก ลดอาการคัดจมูก ปวดโพรงใบหน้าได้ โดยไม่แนะนำในการใช้ยาพ่นจมูกชนิดลดบวมจมูกที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ต่อเนื่อง เพราะถ้าเป็นชนิดนี้จะไปหดเส้นเลือด ส่งผลให้ผนังโพรงจมูกไม่ตอบสนองต่อยาพ่นใด ๆ หรือภาวะ Rhinitis Medicamentosa
  • โรคหอบหืด จำเป็นต้องมีการใช้ยาพ่นชนิดควบคุมอาการต่อเนื่องทุกวัน (Controller) เพื่อช่วยป้องกันการเสื่อมลงของสมรรถภาพปอด ลดการกำเริบ ลดการเกิดระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน โดยมักเป็นกลุ่มยาสูดพ่นชนิดสเตียรอยด์และยาขยายหลอดลม และหากมีอาการกำเริบให้ใช้ยาพ่นเฉียบพลันชนิดออกฤทธิ์เร็ว (Reliever) และถ้าไม่ดีขึ้นให้มาโรงพยาบาล

การล้างจมูก ต้องล้างให้ถูกวิธีด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรกในโพรงจมูก

การใช้วัคซีนภูมิแพ้ (Immunotherapy) เพื่อให้ร่างกายแพ้สารก่อภูมิแพ้น้อยลงหรือหายจากการแพ้สารก่อภูมิแพ้นั้น เช่น ต่อไรฝุ่น ต่อรังแคน้องแมว เกิดภูมิคุ้มกันที่ดีต่อสารก่อภูมิแพ้ ใช้เวลารักษาประมาณ 3 – 5 ปี ทั้งนี้ขึ้นกับการตอบสนองและผลข้างเคียงของผู้ป่วย ปัจจุบันมีทั้งวิธีฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และอมใต้ลิ้น

การผ่าตัด ในกรณีที่เป็นไซนัสอักเสบรุนแรงหรือมีผนังกั้นช่องจมูกคด หรือมีติ่งเนื้อ Polyp โดยต้องผ่านการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดและประเมินการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น

ยาเสริมอื่นๆ ตามอาการ เช่น ยาแก้แพ้ชนิดรับประทานแบบไม่ง่วง ยาหยอดตาแก้แพ้ หากมีอาการภูมิแพ้เยื่อบุตาอักเสบร่วม

 

วิธีป้องกันหลีกเลี่ยงมลพิษฝุ่น PM 2.5

  • เช็กดัชนีคุณภาพอากาศ ก่อนออกจากบ้าน หากอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ควรเลี่ยงการออกนอกบ้านและทำกิจกรรมกลางแจ้ง
  • สวมใส่หน้ากาก N95 ที่ได้มาตรฐานช่วยป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ดีที่สุดและควรสวมใส่ให้ถูกต้อง หากสวมหน้ากากอนามัยควรเลือกที่ครอบหน้าได้ทั้งหมด
  • ล้างจมูกทุกวันอย่างถูกวิธี เพื่อให้โพรงจมูกสะอาด ลดโอกาสการติดเชื้อและการเกิดโรค
  • ใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรองอากาศ HEPA Filter เพื่อให้การกรองอากาศมีความละเอียดสูงกว่าแผ่นกรองอากาศปกติ สกัดกั้นสารก่อภูมิแพ้ได้ เพราะแม้จะปิดประตูหน้าต่าง ฝุ่น PM 2.5 ก็ยังเล็ดลอดเข้ามาได้
  • รณรงค์เรื่องลดการเผาไหม้ ทั้งในชีวิตประจำวันอย่างการใช้รถให้น้อยลง การทำอาหารแบบครัวปิด การลดหรืองดการจุดธูป ไปจนถึงการทำการเกษตรและอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ทำให้เกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม ไม่ควรมองว่าโรคภูมิแพ้เป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะอาการแพ้ที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5 ควรต้องพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจเช็กอย่างละเอียดและปฏิบัติตามคำแนะนำ เพราะหากปล่อยไว้จนเรื้อรัง นอกจากยากต่อการรักษา ยังอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อร่างกายมากกว่าที่คิด

logoline