svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

ชอบ 'น้ำอุ่น' หรือ 'น้ำเย็น' จับประเด็นเชื่อมโยงสุขภาพ

26 พฤศจิกายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เคล็ดลับสุขภาพ : อุณหภูมิ “ร้อน-เย็น” เป็นเหตุสังเกตได้!! เปิดเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการดื่มน้ำอุ่น-น้ำเย็น และข้อดี-ข้อเสียของการอาบน้ำที่ให้สัมผัสแตกต่างกัน

เชื่อหรือไม่?

การดื่มน้ำเย็นนั้นให้รสชาติที่ดีกว่าน้ำอุ่น ไม่ใช่แค่ในด้านของความรู้สึกที่ได้หลังจากการดื่มเท่านั้น ทว่า การที่น้ำเย็นมีรสชาติดีกว่าน้ำอุ่นนั้นยังมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มารองรับ  

Science ABC รายงานว่าน้ำเย็นสามารถระงับรสชาติที่ไม่พึงประสงค์ของสิ่งสกปรกในน้ำได้ ซึ่งสิ่งเจือปนดังกล่าวทำให้น้ำมีรสชาติแตกต่างกันเล็กน้อย และสามารถตรวจสอบพบได้ นอกจากนี้ การศึกษาชิ้นหนึ่งในปี 2015 ระบุว่า น้ำเย็นสามารถยับยั้งความไวของต่อมรับรสของเราด้วย

ชอบ \'น้ำอุ่น\' หรือ \'น้ำเย็น\' จับประเด็นเชื่อมโยงสุขภาพ

เปรียบเทียบ “น้ำเย็น” กับ “น้ำอุ่น” แบบไหนให้ประโยชน์อย่างไรบ้าง?

น้ำคือชีวิต  “การดื่มน้ำ” จึงจำเป็นต่อร่างกายของเรา หลายคนมีความคิดว่า “ดื่มน้ำเย็นไม่ดีเท่าน้ำอุ่น” หรือ “น้ำเย็นเป็นภัยต่อสุขภาพ” แล้วความจริงเป็นอย่างไร เรารวบรวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการดื่มน้ำอุ่น-น้ำเย็น และข้อดี-ข้อเสียของการอาบน้ำที่ให้สัมผัสแตกต่างกัน มาให้แล้ว

เรื่องกิน : น้ำอุ่น vs น้ำเย็น

ชอบ \'น้ำอุ่น\' หรือ \'น้ำเย็น\' จับประเด็นเชื่อมโยงสุขภาพ

การดื่มน้ำอุ่นมีประโยชน์อย่างไรบ้าง?

  • การดื่มน้ำอุ่นช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น การแพทย์แผนตะวันออกไม่ว่าจะเป็นอายุรเวทย์ของอินเดียหรือแพทย์แผนจีน ล้วนมีข้อแนะนำเหมือนกันคือให้เราดื่มน้ำอุ่นวันละ 1 แก้วในตอนเช้าที่ตื่นนอน อุณหภูมิอุ่นๆ ของน้ำจะช่วยกระตุ้นประสิทธิภาพการทำงานของระบบทางเดินอาหาร กับทั้งป้องกันท้องผูกได้
  • การดื่มน้ำอุ่นยังช่วยให้เกิดความสดชื่น ผิวพรรณสดใส โดยเราสามารถเพิ่มรสและกลิ่นได้ด้วยการฝานมะนาวเติมลงไปในน้ำอุ่นก่อนดื่ม
  • อุณหภูมิอุ่นๆ ของน้ำมีส่วนช่วยลดอาการแน่นจมูก อาการหายใจไม่สะดวกของคนที่เป็นภูมิแพ้
  • น้ำอุ่นมีคุณสมบัติช่วยให้หลอดเลือดต่างๆ ในร่างกายขยายตัวทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ สะดวกขึ้น นั่นหมายความว่าหากเรามีอาการปวดเมื่อยเนื้อตัว การดื่มน้ำอุ่นจะช่วยเพิ่มเลือดไปเลี้ยง ช่วยลดอาการอ่อนล้าและลดปวดได้ (ช่วยได้น้อยมาก)

การดื่มน้ำอุ่นเหมาะกับใคร

คนที่มีเสมหะ เพราะน้ำอุ่นๆ สามารถช่วยละลายเสมหะได้เล็กน้อย

ชอบ \'น้ำอุ่น\' หรือ \'น้ำเย็น\' จับประเด็นเชื่อมโยงสุขภาพ

การดื่มน้ำเย็นมีประโยชน์อย่างไรบ้าง?

  • ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรวิทยา พบว่าร่างกายสามารถดูดซึมน้ำเย็นได้เร็วกว่าน้ำร้อนหรือน้ำอุ่น นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าการดื่มน้ำเย็นเป็นประจำมีผลช่วยลดน้ำหนักได้ในทางอ้อม นักวิทยาศาสตร์พบว่าน้ำเย็นมีผลกระตุ้นให้ร่างกายมีกระบวนการเมตาบอลิซึมหรือเผาผลาญสารอาหารมากขึ้น การดื่มน้ำเย็นและอาบน้ำเย็น จึงช่วยให้ระบบเผาผลาญของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น มีผลช่วยลดน้ำหนักไปด้วยในตัว (แต่มีส่วนน้อยมาก)
  • การดื่มน้ำเย็น การออกกำลังกายหนักๆ จะทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น การดื่มน้ำเย็นๆ หลังการออกกำลังกายจะช่วยให้คุณรู้สึกสดชื่น และอุณหภูมิลดลงเป็นปกติได้โดยเร็ว
  • การอยู่ในสถานที่อุณหภูมิสูงๆ หรือฤดูร้อนที่อากาศร้อนมากกว่าปกติ การดื่มน้ำเย็นจะช่วยป้องกันตัวเราจากการเป็นลมแดด

การดื่มน้ำเย็นเหมาะกับใคร

  • นักกีฬา คนที่ออกกำลังกายมาใหม่ๆ โดยเฉพาะคนที่ออกกำลังกายในวันที่อากาศร้อนๆ จะเป็นการรักษาอุณหภูมิของร่างกายไม่ให้ร้อนเกินไป
  • คนที่ป่วยเป็นต่อมทอนซิลอักเสบ เพราะความเย็นจะช่วยลดอาการเจ็บปวดและอาการอักเสบได้

บทสรุปของน้ำอุ่น vs น้ำเย็น กินเป็นไม่ป่วย

ขอกล่าวถึงงานวิจัยของ Dr. Neha Sanwalka กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนศาสตร์จากโรงพยาบาล Jehangir Hospital ประเทศอินเดีย ที่พบว่าความจริงแล้ว ทั้งน้ำอุ่นและน้ำเย็นล้วนมีประโยชน์ทั้งคู่ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกดื่มน้ำแบบไหน ในสภาวะเช่นไร น้ำอุ่นช่วยส่งเสริมให้ระบบย่อยอาหารทำงานง่ายขึ้น เนื่องเพราะว่าอุณหภูมิใกล้เคียงกับร่างกายของคนเรา ขณะที่น้ำเย็นมีประโยชน์มากในคนที่เป็นลมแดด ช่วยลดอุณหภูมิของร่างกายที่สูงให้กลับลงมาเป็นปกติโดยเร็ว

ดังนั้น การดื่ม “น้ำอุ่นวันละ 1 แก้วในตอนเช้าที่ตื่นนอน” อุณหภูมิอุ่นๆ ของน้ำจะช่วยกระตุ้นประสิทธิภาพการทำงานของระบบทางเดินอาหารและป้องกันท้องผูกได้เป็นอย่างดี ในขณะที่ผู้ที่ออกกำลังกายหนักๆ จะทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น “การดื่มน้ำเย็นหลังการออกกำลังกาย”​ จะช่วยให้เรารู้สึกสดชื่นและอุณหภูมิลดลงเป็นปกติได้โดยเร็ว ทั้งการอยู่ในสถานที่อุณหภูมิสูงๆ หรือฤดูร้อนที่อากาศร้อนมากกว่าปกติ การดื่มน้ำเย็นจะช่วยป้องกันการเป็นโรคลมแดด (Heat Stroke) ได้

ชอบ \'น้ำอุ่น\' หรือ \'น้ำเย็น\' จับประเด็นเชื่อมโยงสุขภาพ

เรื่องอาบ : น้ำอุ่น vs น้ำเย็น

เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย อาบน้ำเย็นกับน้ำอุ่นแบบไหนดีต่อสุขภาพ

ข้อดีของการอาบน้ำเย็น

  • ทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า
  • ช่วยให้อารมณ์ดี ร่างกายตื่นตัวได้เร็วหลังจากตื่นนอน
  • ช่วยเผาผลาญไขมันที่สะสมในร่างกาย
  • เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
  • ทำให้ผิวพรรณดูเนียนเรียบ และอิ่มน้ำตลอดเวลา (แนะนำให้ทาโลชั่นบำรุงผิวทันที)

แม้ว่าการอาบน้ำเย็นจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพผิวและอารมณ์ แต่การอาบน้ำเย็นในสภาพที่ร่างกายอ่อนแอหรือตอนอยู่ในสภาพอากาศหนาวจัด อาจไม่ส่งผลดีเท่าไรนัก เพราะจะทำให้ระบบหมุนเวียนเลือดผิดปกติ อุณหภูมิร่างกายลดลงรวดเร็ว จนถึงขั้นช็อกหมดสติได้

ข้อเสียของการอาบน้ำเย็น

การอาบน้ำเย็นไม่เหมาะกับคนที่ป่วย อาจส่งผลเสียต่อร่างกายให้มีความอ่อนแอมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้ระบบหมุนเวียนเลือดผิดปกติ รวมทั้งผู้ที่ภูมิคุ้มกันตก อุณหภูมิร่างกายลดลงรวดเร็ว สามารถถึงขั้นช็อกหมดสติได้

ข้อดีของการอาบน้ำอุ่น

  • ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ลดความเครียดสะสมระหว่างวันได้ดี
  • การอาบน้ำอุ่นสำหรับผู้หญิงในช่วงก่อนหรือมีประจำเดือน ช่วยให้ระบบโลหิตไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น ลดอาการเกร็งช่องท้อง และลดอาการปวดท้องได้
  • ลดอาการบวมของร่างกายในส่วนต่างๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน
  • ทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น การอาบน้ำอุ่นช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้เกิดความผ่อนคลาย นอกจากนั้น น้ำอุ่นช่วยปรับอุณหภูมิในร่างกาย ทำให้รู้สึกสบายตัว จึงช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น

ข้อเสียของการอาบน้ำอุ่น

การอาบน้ำอุ่นนั้นไม่ควรที่จะอาบนานจนเกินไป เพราะจะทำให้ผิวแห้งได้ง่าย และไม่แนะนำให้อาบน้ำอุ่นในช่วงเช้า เพราะอาจทำให้อ่อนล้า และง่วงซึม การอาบน้ำอุ่นไม่เหมาะสำหรับผู้มีความดันผิดปกติ และผู้สูงอายุ

เคล็ดลับอาบน้ำอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ

  • อาบน้ำเย็นในเวลาเช้าเพื่อสร้างความสดชื่น 
  • อาบน้ำอุ่นในเวลากลางคืนเพื่อให้ร่างกายผ่อนคลาย
  • อาบน้ำอุ่นและน้ำเย็นสลับกันได้ เพื่อกระตุ้นระบบหมุนเวียนของเลือด 
  • การอาบน้ำไม่ว่าจะอุณหภูมิใดก็ตามควรปรับสภาพร่างกายก่อนอาบทุกครั้ง โดยการเอาน้ำรดหน้า หรือพรมน้ำบริเวณลำตัว เพื่อป้องกันการช็อกจากการหมดสติ และอาการวูบฉับพลันระหว่างอาบน้ำ
  • ไม่ควรอาบน้ำทันทีหลังออกกำลังกาย หรือเสียเหงื่อเป็นจำนวนมาก ควรเว้นระยะเวลาประมาณ 30 นาที
  • ไม่ควรอาบน้ำหลังกินอาหารเสร็จ เพราะอาจทำให้อาหารย่อยยาก ควรเว้นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1-2 ชั่วโมง
logoline