svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

จริงหรือไม่! ใช้ห้องน้ำสาธารณะเสี่ยงติดเชื้อ HPV-มะเร็งปากมดลูก

22 พฤศจิกายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ตอบปัญหาคาใจผู้ใช้ห้องน้ำสาธารณะ เชื้อโรคเยอะ! เสี่ยงติดเชื้อ! จริงหรือไม่? พร้อมเผยวิธีการใช้บริการให้รู้สึกปลอดภัยไร้กังวล เมื่อต้องปลดทุกข์นอกบ้าน

วันนี้เราเข้าห้องน้ำร่วมกับคนอื่นแล้วกี่ครั้ง?

เคยสังเกตไหมว่าผู้หญิงในปัจจุบันเป็น “มะเร็งปากมดลูก” มากกว่าในอดีต!

ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้หญิงนั่งปัสสาวะบนฝารองนั่ง ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงของการสัมผัสเชื้อโรคร้ายใช่หรือไม่?

และอีกหลายเรื่องชวนสงสัย เพียงเรานึกถึงการใช้ “ห้องน้ำสาธารณะ”

มีการทดลองโดย แจ็ค กิลเบิร์ต นักจุลชีวินวิทยาจากห้องปฏิบัติการแห่งชาติอิลลินอยด์ สหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญที่เคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับปริมาณและชนิดของแบคทีเรียในห้องน้ำสาธารณะ ยืนยันว่าห้องน้ำที่สภาพแวดล้อมเย็น แห้ง และสะอาดสะอ้าน ทำให้แบคทีเรียส่วนใหญ่ไม่สามารถเจริญเติบโตได้เป็นเวลานานๆ ในขณะที่ห้องน้ำที่มีความชื้นและอุ่น รวมถึงมีเศษอาหารสกปรกตกอยู่ตามพื้นจำนวนมาก เป็นสาเหตุให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดีและมีชีวิตได้นานกว่า

สำหรับ “ห้องน้ำสาธารณะ” ต้องบอกตามตรงว่ามีเชื้อโรคอยู่มากจริง และถือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคอย่างดี โดยเฉพาะเชื้อโรคหลัก 2 กลุ่มคือ เชื้อโรคที่ทำให้เกิด “โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์” อย่างเช่น อาการตกขาวเพราะติดเชื้อในช่องคลอด หนองใน เริม และเชื้อโรคที่ทำให้เกิด “โรคในระบบทางเดินอาหาร” เช่น ท้องร่วง ไวรัสตับอักเสบชนิดเอ

จริงหรือไม่! ใช้ห้องน้ำสาธารณะเสี่ยงติดเชื้อ HPV-มะเร็งปากมดลูก

โดย 6 จุดเสี่ยงที่ต้องทำความสะอาดเป็นพิเศษในห้องน้ำสาธารณะ

  1.  ราวจับ
  2.  ที่กดโถส้วม
  3.  ลูกบิดประตู
  4.  ที่รองนั่ง
  5.  ที่จับสายฉีดชำระ
  6.  ก็อกน้ำ

ภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงสามารถต่อสู้กับแบคทีเรียได้

ถึงจะมีหลากหลายงานวิจัยที่ระบุว่าแบคทีเรียที่เกิดขึ้นในบริเวณห้องน้ำ โดยเฉพาะห้องน้ำสาธารณะนั้นจะมีหลากหลายสายพันธุ์ บางส่วนจะเป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในตัวคน และมักพบตามพื้นที่ต่างๆ ในห้องน้ำที่ต้องใช้การสัมผัส เช่น ประตู ที่นั่ง ก็อกน้ำ ปุ่มกดชักโครก แต่ถ้าภูมิคุ้มกันของเราไม่ได้อ่อนแอ หรือในร่างกายไม่ได้มีแผลเปิดที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถติดโรคจากคนอื่นที่เราไม่รู้จักได้ง่ายขนาดนั้น

หรืออธิบายแบบง่ายๆ ก็คือในร่างกายของมนุษย์เรามีเชื้อโรคอยู่แล้ว โดยเฉพาะที่ผิวหนัง ลำไส้ หรือแม้แต่ในช่องคลอด แต่มีผิวหนังของเราเป็นตัวป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้เป็นอย่างดี การติดเชื้อจากก้นหรือต้นขาในการนั่งชักโครก ห้องน้ำสาธารณะนั้น เป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากที่ผิวหนังจะมีกลไกป้องกันการติดเชื้อ และเรายังมีระบบภูมิต้านทานในร่างกาย ช่วยกำจัดเชื้อโรคด้วย เชื้อที่ก่อโรคนั้นจะต้องมีโฮสต์เพื่ออยู่อาศัย แปลว่าเมื่อเชื้อออกจากร่างกาย ถ้าไม่ได้เข้าสู่อีกร่างกายถัดไปเกือบทันทีเชื้อก็จะตายแล้ว

สำหรับ "โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์" นั้นเชื้อจะต้องเข้าโดยการสัมผัสโดยตรงกับท่อปัสสาวะหรือช่องคลอด ซึ่งเราไม่ได้ใช้อวัยวะเหล่านั้นโดนฝาชักโครกอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เชื้ออาจเข้าทางปากแผลที่แก้มก้นหรือต้นขา ดังนั้น ถ้าเราไม่มีแผล ก็จะมีโอกาสติดเชื้อน้อยมากๆ จึงไม่จำเป็นต้องทำท่าสควอทตอนเข้าห้องน้ำสาธารณะ เพียงใส่ใจในสุขลักษณะก็พอแล้ว

จริงหรือไม่! ใช้ห้องน้ำสาธารณะเสี่ยงติดเชื้อ HPV-มะเร็งปากมดลูก

จริงหรือไม่! ใช้ห้องน้ำสาธารณะเสี่ยงติดเชื้อ HPV-มะเร็งปากมดลูก

แพทย์หญิงเนตร บุญคุ้ม สูตินรีแพทย์จากศูนย์สุขภาพหญิง โรงพยาบาลพญาไท 3 ได้อธิบายไว้ว่า เชื้อ HPV สามารถพบได้อยู่ทั่วไป ดังนั้น การเข้าห้องน้ำสาธารณะก็อาจพบเชื้อ HPV อยู่ด้วย เช่น ที่กลอนประตู ก็อกน้ำ ปุ่มกดชักโครก อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อ HPV นั้นต้องมีการสัมผัส เสียดสี หรือการมีเพศสัมพันธ์ การที่เชื้อไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายของเราผ่านการนั่งบนชักโครกนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเชื้อไวรัสไม่สามารถเข้าลึกถึงช่องคลอดได้ เพียงแต่อันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น เสี่ยงเป็นหูด หรือโรคผิวหนังอื่นๆ จึงไม่อยากให้ทุกคนกังวลว่าถ้าเข้าห้องน้ำสาธารณะแล้วจะติดเชื้อไวรัส HPV

มะเร็งปากมดลูกภัยร้ายที่ป้องกันได้

แม้ว่ามะเร็งปากมดลูกจะเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้หญิงไทย แต่การป้องกันไม่ให้เป็นเนื้อร้ายชนิดนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเราต่างก็ทราบกันดีว่าสาเหตุของเนื้อร้ายชนิดนี้ เกิดจากเชื้อไวรัส HPV ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ ส่วนการป้องกันมะเร็งปากมดลูก โดยหลักการแล้วคือการตรวจคัดกรองเพื่อตรวจหาความผิดปกติที่ปากมดลูก หรือตรวจหาเชื้อไวรัส HPV สาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปากมดลูก เพื่อให้การรักษาก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็งปากมดลูก หรือฉีดวัคซีนป้องกันร่วมด้วย

จริงหรือไม่! ใช้ห้องน้ำสาธารณะเสี่ยงติดเชื้อ HPV-มะเร็งปากมดลูก

วิธีการใช้ห้องน้ำสาธารณะอย่างไรให้ถูกสุขลักษณะ

  1. หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสโดยตรง โดยเฉพาะ 6 จุดเสี่ยงที่ต้องทำความสะอาดเป็นพิเศษในห้องน้ำสาธารณะ
  2. ก่อนนั่งลงบนชักโครกควรกดน้ำทิ้ง และทำความสะอาดฝารองนั่งด้วยกระดาษทิชชู่เปียกแบบที่ฆ่าเชื้อโรคได้ หรือฉีดพ่นแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อโรคเมื่อทำธุระเสร็จ ก่อนกดน้ำให้ปิดฝาชักโครกเพื่อกันน้ำกระเซ็น และเชื้อโรคแพร่กระจายขึ้นมา
  3. หากมีก๊อกน้ำ ควรใช้น้ำจากก๊อกน้ำโดยตรง เลี่ยงการใช้น้ำในถังที่เติมไว้แล้ว เพราะอาจมีเชื้อโรคปะปนอยู่ หากใช้สายฉีดควรฉีดน้ำทิ้งสักครู่เพื่อให้เกิดการชำระล้างที่บริเวณหัวฉีดก่อนที่จะใช้น้ำฉีดสัมผัสกับร่างกาย และพยายามอย่าฉีดแรงจนน้ำกระเด็นหรือทำให้น้ำในชักโครกกระเด็นขึ้นมา
  4. ควรใช้ห้องน้ำโดยใช้เวลาให้น้อยเท่าที่จำเป็น อย่ามัวแต่เพลินเพลินกับการใช้ห้องน้ำ เพราะทั้งในน้ำและอากาศอาจมีเชื้อโรคปะปนอยู่ หลังทำธุระเสร็จต้องไม่ลืมตรวจสอบว่าเราดูแลความสะอาดดีพอ ไม่ทิ้งสิ่งสกปรกของเราให้คนที่จะมาใช้ต่อต้องรับเชื้อโรคต่อจากเราด้วยเช่นกัน
  5. ล้างมือทุกครั้งก่อน-หลังเข้าห้องน้ำ เมื่อเข้าห้องน้ำเสร็จเรียบร้อย เพื่อไม่ให้เชื้อโรคติดมากับมือของเรา ควรล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสะอาดและสบู่ เริ่มตันล้างมือ โดยฟอกฝ่ามือด้านหน้า ด้านหลัง ง่มนิ้วมือด้านหน้า ด้านหลัง ฟอกนิ้วมือและข้อนิ้วมือด้านหลัง รวมทั้งฟอกหัวแม่มือ ขัดสิ่งสกปรกบริเวณซอกเล็บและข้อมือ ล้างสบู่ออกด้วยน้ำสะอาด เช็ดมือให้แห้งด้วยกระดาษเช็ดมือ หากไม่มีสบู่ให้ใช้น้ำสะอาดล้างซ้ำหลายๆ ครั้ง และงดการใช้อุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกันภายในห้องน้ำ เช่น ผ้าเช็ดมือ ทั้งนี้ หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า จมูก ตา ปาก

ดังนั้น บทสรุปของเรื่องการใช้ห้องน้ำสาธารณะเสี่ยงติดเชื้อ HPV-มะเร็งปากมดลูก จึงเป็นความกังวลที่เกินกว่าเหตุ ซึ่งเราสามารถใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้อื่นได้ตามปกติ โดยคำนึงถึงเรื่องของสุขลักษณะและอนามัยเพื่อความปลอดภัยไร้กังวล

 

 

logoline