svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) อย่างไร ไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ

31 ตุลาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) อันตรายใกล้ตัวที่ป้องกันไว้ดีกว่ารักษา เปิดตัวเลขผู้ป่วยสโตรกทั่วโลก พบ 1 ใน 4 ของประชากรที่อายุ 25 ปีขึ้นไปป่วยโรคนี้ ขณะที่ปี 2566 ไทยพบผู้ป่วย 349,126 ราย เสียชีวิต 36,214 ราย สธ.ย้ำ 90% ของโรคหลอดเลือดสมองสามารถป้องกันได้

ปัจจุบันสถิติตัวเลขผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น รัฐบาลห่วงใยประชาชน ล่าสุด นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่าตามที่องค์การหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Organization: WSO) ได้กำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Day) โดยประเด็นการรณรงค์ในปี 2566 คือ Together we are #GreaterThan Stroke : ร่วมมือกันป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนสร้างความตระหนักรู้เพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดสมองแก่ประชาชนนั้น

ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) อย่างไร ไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตและความพิการที่สำคัญทั่วโลก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั่วโลกพบว่า 1 ใน 4 ของประชากรที่มีอายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไปเป็นโรคหลอดเลือดสมอง และ 90% ของโรคหลอดเลือดสมองสามารถป้องกันได้

สำหรับประเทศไทยข้อมูลจากรายงานสถิติสาธารณสุข ในปี 2566 ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมากถึง 349,126 ราย เสียชีวิต 36,214 ราย เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีอายุน้อยกว่า 70 ปี

ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) อย่างไร ไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ

ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

โรคหลอดเลือดสมองเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้ และปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้  ดังนี้

  • ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้ ได้แก่ อายุและเพศ การที่มีอายุมากขึ้น อวัยวะต่างๆ รวมถึงหลอดเลือดย่อมเสื่อมตามสภาพร่างกาย และพบว่าเพศชายมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าเพศหญิง
  • ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้ ได้แก่ โรคอ้วนและขาดการออกกำลังกาย โรคประจำตัวที่ส่งผลกระทบต่อหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ  และไขมันในเลือดสูง  บุหรี่ สารนิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์ ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว  ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น

ป้องกันไว้ดีกว่ารักษา

กรมควบคุมโรคได้แนะนำวิธีป้องกันโรคหลอดเลือดสมองว่า โรคหลอดเลือดสมองสามารถป้องกันได้ เนื่องจากการรักษาที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิด ดังนั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งทำได้โดยวิธีการ ดังนี้

  • ควบคุมระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาล และระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงภาวะโรคอ้วน
  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม
  • มีกิจกรรมทางกายหรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • งดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • งดสูบบุหรี่ งดการใช้สารเสพติดทุกชนิด
  • หลีกเลี่ยงความเครียด
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) อย่างไร ไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ

B.E.F.A.S.T เช็กสัญญาณอันตรายโรคหลอดเลือดสมอง

B-Balance เสียการทรงตัว วิงเวียน เดินเซ

E-Eye มองไม่เห็น มีอาการตามืดบอดข้างเดียว หรือ 2 ข้างทันที มองเห็นภาพซ้อน

F-Face ปากเบี้ยว หน้าเบี้ยวเฉียบพลัน

A-Arm แขนขาอ่อนแรง

S-Speech พูดไม่ชัด เสียงเปลี่ยน ลิ้นแข็ง พูดไม่รู้เรื่อง พูดไม่ออกทันทีทันใด

T-Time หากมีอาการให้รีบโทรสายด่วน 1669 และนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว หรือภายใน 4 ชั่วโมง 30 นาที

สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยต้องสังเกตอาการข้างต้นและรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด จะช่วยลดการเสียชีวิตและความพิการได้ ปัจจุบันมีกระบวนการรักษาทั้งการให้ยาฉีดละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง และการรักษาผ่านสายสวนหลอดเลือดสมองหากเป็นหลอดเลือดเส้นใหญ่อุดตันภายใน 24 ชั่งโมง

 

7 วิธีการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ

1 รับประทานอาหารที่มีประโยชน์จำพวกผักผลไม้ให้มากขึ้น และเน้นอาหารจำพวกเนื้อปลาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เนื่องจากโอเมก้า 3 ในปลาช่วยลดการอักเสบซ่อนเร้น และมีไขมันที่ดีต่อสุขภาพ

2 ลดการบริโภคอาหารไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน ไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์

3 ลดการรับประทานอาหารที่มีรสเค็มหรือมีโซเดียมสูง

4 ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งต้องดูแลทั้งด้านการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย รวมทั้งการใช้ยารักษาอย่างเหมาะสม

5 ลดหรือจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ไม่ให้เกิน 1-2 ดื่มมาตรฐาน/วัน และเลิกสูบบุหรี่ อย่างเด็ดขาด

6 ดูแลสุขภาพอนามัย และฟื้นฟูร่างกาย โดยการทำกายภาพบำบัด ทั้งนี้หากการไปโรงพยาบาลเป็นเรื่องยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายสูง อาจปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยเทคโนโลยีสื่อสาร หรือ Stroke TeleCare

7 การรักษาโรคหลอดหลอดเลือดสมองที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดโรค ซึ่งการป้องกันไม่ให้เกิดโรคคือการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ  ลงให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

logoline