svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

เปิด 5 สัญญาณเสี่ยง 'ภาวะหลอดเลือดอุดตัน' อันตรายที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลก

03 ตุลาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รู้หรือไม่? 1 ใน 4 ของประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจาก "ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน" ซ้ำร้ายบางรายไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า แพทย์แนะ 5 ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตัน พร้อมเน้นย้ำวิธีการสังเกตและป้องกัน

โรคที่สามารถคร่าชีวิตผู้คนได้ภายในไม่วินาที มีโรคหัวใจวาย หลอดเลือดสมองแตก ระบบทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน และอีกหนึ่งโรคที่อันตรายไม่แพ้กันคือ "ภาวะหลอดเลือดอุดตัน" ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด ไม่ว่าจะเป็นภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจวาย หลอดเลือดสมองตีบตัน และภาวะลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำ โดยภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เป็นภาวะที่เลือดมีการจับตัวเป็นก้อนภายในเส้นเลือด ทำให้ไปขัดขวางการไหลเวียนของเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงอวัยวะ เลือดไหลเวียนผิดปกติ จนทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน และอาจเป็นอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

เปิด 5 สัญญาณเสี่ยง \'ภาวะหลอดเลือดอุดตัน\' อันตรายที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลก

ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เกิดจากอะไร?

สาเหตุของการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน แบ่งออกได้เป็น 3 สาเหตุหลักๆ ได้แก่

  1. ผนังหลอดเลือดผิดปกติ เช่น เกิดจากบาดแผลถูกมีดบาด หรือการเข้ารับการรักษาผ่าตัดบางอย่าง จนทำให้ผนังหลอดเลือดเสียหาย รวมถึงในผนังหลอดเลือด มีคราบไขมันอุดตัน
  2. การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ ซึ่งเมื่อเกิดการไหลเวียนของเลือดผิดปกติจะทำให้เสี่ยงเกิดตะกอนได้ง่าย เม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวอาจเกิดการกระจุกอุดตัน
  3. การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เกิดจากสารห้ามการแข็งตัวของเลือดบกพร่อง เช่น ร่างกายขาดโปรตีนที่ทำหน้าที่ยับยั้งการแข็งตัวของเลือด จึงทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ง่าย

สังเกตอาการภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

อาการของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน จะมีอาการแตกต่างกันขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิด โดยตำแหน่งที่พบได้ส่วนใหญ่ ได้แก่

เปิด 5 สัญญาณเสี่ยง \'ภาวะหลอดเลือดอุดตัน\' อันตรายที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลก

ลิ่มเลือดอุดตันที่ขา – ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำลึก (DVT)

ขาเป็นตำแหน่งที่เลือดไหลเวียนได้ช้า โดยส่วนใหญ่ลิ่มเลือดอุดตันจะพบในหลอดเลือดดำ ผู้ป่วยจะมีอาการขาโต บวม กดเจ็บ หรือเดินแล้วมีอาการปวดบวมมากขึ้น เมื่อเกิดลิ่มเลือดอุดตัน โดยจะปวดบวมใน 2-3 วัน

ลิ่มเลือดอุดตันบริเวณขา หากปล่อยทิ้งไว้ ไม่รับการรักษาภายในระยะเวลา 3 เดือน จะทำให้เกิดความเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตันในปอดและเสียชีวิตได้

ลิ่มเลือดอุดตันในปอด (Pulmonary Embolism)

เป็นภาวะเสี่ยงที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่าย เหนื่อยหอบ ซึ่งระดับความเหนื่อยอาจมีความแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ หรือปริมาณลิ่มเลือดที่อุดตัน โดยอาจมีการเหนื่อยมากขึ้นเรื่อยๆ หรือเหนื่อยในช่วงที่ทำกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้พบอาการแน่นหน้าอกกะทันหัน ความดันโลหิตตก และอาจมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย หากเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดเฉียบพลัน

ลิ่มเลือดอุดตันในสมอง

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในสมอง อาจทำให้เกิดความเสี่ยงอัมพฤกษ์อัมพาตได้ หรืออาจเสียชีวิตจากภาวะสมองขาดเลือดได้ หากไม่รีบรักษาทันทีหรือรักษาช้า โดยผู้ป่วยมักมีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดมากขึ้นเรื่อยๆ อ่อนแรงครึ่งซีก ชาครึ่งซีก พูดไม่ชัด หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว คลื่นไส้อาเจียน และอาจมีอาการชัก

เปิด 5 สัญญาณเสี่ยง \'ภาวะหลอดเลือดอุดตัน\' อันตรายที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลก

โดยปีนี้องค์การสากลเกี่ยวกับลิ่มเลือดอุดตันและกลไกการห้ามเลือด (International Society on Thrombosis and Haemostasis: ISTH) ได้ปล่อยแคมเปญ “60 For 60 Fitness Challenge” รณรงค์การออกกำลังกาย “ทุก 60 นาที ขยับกล้ามเนื้อ 60 วินาที” ร่วมกับการสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับหลอดเลือดอุดตันทั่วโลก เนื่องในวันหลอดเลือดอุดตันโลก หรือ World Thrombosis Day (WTD) ในวันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี โดยมีเป้าหมายในการสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับหลอดเลือดอุดตันแก่สาธารณชน บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อจะช่วยลดการเสียชีวิตและความพิการโดยไม่จำเป็นจากหลอดเลือดอุดตัน ผ่านการสร้างการรับรู้ถึงสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง การแสดงอาการ และการป้องกันและรักษาตามอาการ

นอกจากนี้ ภารกิจของวันหลอดเลือดอุดตันโลก (World Thrombosis Day) จะสนับสนุนเป้าหมายสากลของการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly) ว่าด้วยการลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคไม่ติดต่อลง 25% ภายในปี 2025 รวมถึงสนับสนุน Thirteenth General Programme of Work 2019-2023 ขององค์การนามัยโลก (World Health Organization) ตามแผนงานมอนเตวิเดโอโรดแมป 2018-2030 (the Montevideo Roadmap 2018-2030) ในหัวข้อโรคไม่ติดต่อ ในการประชุมผู้นำสูงสุดสมัชชาสหประชาชาติครั้งที่ 3 ว่าด้วยโรคไม่ติดต่อ

ศ.นพ.พลภัทร โรจน์นครินทร์ นายกสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย และผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวันลิ่มเลือดโลก (WTD) ว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันและรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในยุคนี้ ช่วยอำนวยความสะดวก และเข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตมากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้สร้างผลดีมหาศาล แต่ในขณะเดียวกัน ยังเพิ่มความเสี่ยงที่นำไปสู่ภาวะการเกิด ‘ลิ่มเลือด’ ที่จะไปชะลอการไหลเวียนของโลหิตในหลอดเลือด และนำมาสู่ภาวะ “หลอดเลือดอุดตัน” ซึ่งจะส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรงได้ 

จากรายงานของ International Society on Thrombosis and Haemostasis (ISTH) พบว่า 1 ใน 4 ของผู้คนทั่วโลก หรือราว 100,000 คนในแต่ละปีเสียชีวิตจากภาวะหลอดเลือดอุดตัน ถือเป็นจำนวนมากกว่าผู้เสียชีวิตทั้งหมดในแต่ละปีจากโรคเอดส์ มะเร็งเต้านม และอุบัติเหตุทางรถยนต์รวมกัน

ในขณะที่ประเทศไทยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยประมาณปีละ 12,900-26,800 คน คิดเป็นอัตราผู้ป่วย 200-400 คนในประชากรหนึ่งล้านคน (ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข) ในขณะที่ทั่วโลกมีผู้ป่วยภาวะลิ่มเลือดราว 0.5 ต่อ 1,000 คนต่อปี

ไม่เพียงเท่านี้ กว่า 30% ของผู้ป่วยที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Venous Thromboembolism: VTE) ในไทยเป็นผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่ง VTE ในผู้ป่วยมะเร็งจะดื้อต่อการรักษา การทำกายภาพบำบัด และมีความผิดปกติของเลือดมากกว่าผู้ป่วย VTE ทั่วไป 

ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงต่อ “ภาวะหลอดเลือดอุดตัน” สามารถแบ่งออกเป็น 5 สัญญาณดังนี้

1. ผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน และผู้ป่วยที่ผ่านการผ่าตัด โดยพบว่ากว่า 60% ของผู้ป่วยหลอดเลือดอุดตัน เกิดขึ้นระหว่างการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน หรือผู้ที่มีบาดเจ็บบริเวณหลอดเลือดจากการผ่าตัด ซึ่งการพักฟื้นเป็นระยะเวลานานจะทำให้ผู้ป่วยขยับตัวได้น้อยและนำไปสู่การเกิดลิ่มเลือดได้ 

2. ความเสี่ยงจากโรคร้าย ซึ่งพบว่า “ผู้ป่วยโรคมะเร็ง” มีความเสี่ยงเกิดภาวะหลอดเลืออุดตันร้ายแรงสูงกว่าคนทั่วไปถึง 4 เท่า ผลการศึกษาในประเทศไทยพบว่า ประมาณ 2 – 3% ของผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนและผลลัพธ์ในการรักษาอาจไม่ดีเท่าผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะลิ่มเลือด โดยความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันจะขึ้นอยู่กับ ประเภทของมะเร็ง ขณะเดียวกันผู้ป่วยโรคหัวใจ จะมีการทำงานของหัวใจและปอดที่จำกัด เพิ่มความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดและภาวะหัวใจล้มเหลว

3. การใช้ยาคุมกำเนิดและการตั้งครรภ์ พบว่าการใช้ยาคุมกำเนิดหรือยาที่มีส่วนประกอบของเอสโตรเจน สามารถเพิ่มการแข็งตัวของเลือด โดยเฉพาะหากสูบบุหรี่หรือมีน้ำหนักเกินร่วมด้วย ในขณะที่ การตั้งครรภ์อาจส่งผลให้เลือดข้นทันทีหลังจากการปฏิสนธิ และจะข้นไปตลอดจนถึงประมาณ 6 สัปดาห์หลังคลอด ประกอบกับน้ำหนักของมดลูกที่กดทับหลอดเลือดดำในกระดูกเชิงกรานอาจทำให้เลือดไหลออกจากขาได้ช้าลง เพิ่มความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดขึ้นได้ 

4. ความเสี่ยงจากพฤติกรรม พบว่า การนั่งเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน หรือการนั่งในท่าที่เป็นตะคริวเป็นเวลานาน (มากกว่า 4 ชั่วโมง) จะทำให้เลือดไหลเวียนที่ขาช้าลง ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดลิ่มเลือด ในขณะเดียวกัน การสูบบุหรี่ เพิ่มความเสี่ยงของภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำอุดตัน (VTE) และโรคร้ายแรงอื่น 

5. ความเสี่ยงทางกายภาพ พบว่าหากมีบุคคลในครอบครัวเป็นหลอดเลือดอุดตันจะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น ในเพศหญิง อายุ 20 – 40 ปี มีความเสี่ยงมากกว่าเพศชายจากการใช้ยาคุมกำเนิดและการตั้งครรภ์ ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุมีโอกาสหลอดเลือดอุดตันได้มากกว่า เพราะเลือดจะเหนียวมากขึ้น ในขณะที่ คนที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไป จะมีความเสี่ยงมากขึ้น 2 – 3 เท่า จากเซลล์ไขมันที่ผลิตสารทำให้เลือดเหนียวขึ้น ทั้งหมดนี้ ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงพฤติกรรมส่วนบุคคลด้วย 

“กุญแจสำคัญในการลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ดีที่สุดคือ ‘การป้องกัน’ ซึ่งคนทั่วไปสามารถทำได้ด้วยตัวเอง อาทิ การ เปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง อย่าง การสูบบุหรี่ และนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน การขยับร่างกายและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ง่ายและดีที่สุด นอกจากนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยงหรือเข้าข่ายความเสี่ยง ควรเข้าพบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงเป็นประจำ การรู้ล่วงหน้าจะช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับภาวะหรือโรคร้ายแรงที่จะตามมาได้ทันท่วงที” ศ.นพ.พลภัทร กล่าว

 

logoline