svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

เคล็ดลับสุขภาพ : หลักการกินอาหารต้าน ‘นิ่วในถุงน้ำดี’

02 สิงหาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รู้หรือไม่! “นิ่วในถุงน้ำดี” พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ใครชอบเมนูของทอด-ปิ้งย่าง-ชาบู รู้แล้วรีบปรับพฤติกรรมการกินด่วน!!!

พฤติกรรมที่ชอบกิน “อาหารหวาน” หรือ “อาหารไขมันสูง” เป็นประจำ โดยเฉพาะพวกของมันของทอด ปิ้งย่าง หรือชาบู อาจส่งผลให้สมดุลของน้ำดีเสียไป ทำให้เกิดก้อนผลึกขึ้นในถุงน้ำดี เกิดเป็น “นิ่วในถุงน้ำดี” ขึ้นได้ ซึ่งหากเป็นนิ่วในถุงน้ำดีถึงขั้นอักเสบแล้วอาจต้องรักษาโดยการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก ทำให้เราแทบจะหมดโอกาสที่จะได้กินอาหารหวานมันเหมือนเมื่อก่อน ใครไม่อยากเป็นแบบนั้นก็ควรระมัดระวังพฤติกรรมการกินอาหาร และมาทำความรู้จักกับโรคนี้ไว้แต่เนิ่นๆ

เคล็ดลับสุขภาพ : หลักการกินอาหารต้าน ‘นิ่วในถุงน้ำดี’

นิ่วในถุงน้ำดี (Gall Stone) เป็นโรคที่เกิดจากการตกตะกอนของสารต่างๆ ในน้ำดี ทำให้เกิดนิ่วขึ้นที่ถุงน้ำดี ผู้ป่วยอาจมีอาการแน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อบ่อยๆ โดยเฉพาะเวลาทานอาหารประเภทไขมัน (แต่ก็มีกรณีที่ไม่แสดงอาการ) สามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีและนิ่วออก ซึ่งความผิดปกติของถุงน้ำดีมักมาจากภาวะการอักเสบ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น มีเนื้องอก เกิดพังผืด ติดเชื้อ ได้รับการกระทบกระเทือน แต่สาเหตุส่วนมากของถุงน้ำดีอักเสบกว่าร้อยละ 95 เป็นผลมาจากการเป็นนิ่วในถุงน้ำดี (gallstone)

ใครบ้างที่มีโอกาสเป็น “นิ่วในถุงน้ำดี”

  • กลุ่มคนที่เป็นโรคอ้วน มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือผู้ที่มีคอเลสเตอรอลสูง
  • คนที่นิยมทานอาหารประเภทไขมันสูง และไม่ค่อยทานอาหารกากใยสูง
  • พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
  • พบได้ค่อนข้างบ่อยในคุณผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่เกิดจากฮอร์โมนที่ผิดปกติในระหว่างที่ตั้งครรภ์
  • ผู้ที่ลดน้ำหนักรวดเร็วเกินไป โดยเฉพาะ การลดด้วยวิธีอดอาหาร
  • หากพ่อแม่เคยเป็นโรคนี้ ลูกก็จะมีโอกาสเป็นได้มากกว่าคนทั่วไป
  • คนที่มีพฤติกรรมในการกินอาหารที่มีไขมันสูง
  • ผู้ที่รับประทานยาลดคอเลสเตอรอล หรือยาคุมกำเนิด
  • ผู้ที่เป็นโรคเลือดบางโรค เช่น โลหิตจาง ธาลัสซีเมีย
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • คนหักโหมลดน้ำหนัก และอดอาหาร เนื่องจากถุงน้ำดีจะหลั่งน้ำดีออกมาสำหรับย่อยอาหารประเภทไขมัน แต่เมื่อเราหักโหมลดน้ำหนักโดยการอดอาหาร อาจส่งสัญญาณให้ถุงน้ำดีบีบตัวน้อยลง เพราะเมื่อได้รับอาหารน้อย ก็ไม่จำเป็นต้องหลั่งน้ำดีมาย่อย เมื่อน้ำดีไม่ค่อยได้หลั่งออกมา ก็จะสะสมอยู่นิ่งๆ ภายในถุงน้ำดี มีโอกาสที่จะตกตะกอนเป็นก้อนนิ่วได้ นอกจากนี้ การกินยาลดคอเลสเตอรอล แม้จะเป็นการลดคอเลสเตอรอลในเลือด แต่อาจทำให้ปริมาณคอเลสเตอรอลในถุงน้ำดีเพิ่มขึ้นก็ได้

ข้อสังเกตอาการในเบื้องต้น อาการในช่วงแรกถ้ายังไม่รุนแรงมาก มักจะเกิดขึ้นเป็นระยะๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่กินอาหารที่มีไขมันสูงเข้าไป ซึ่งจะไปกระตุ้นให้เกิดอาการบวมตึงในถุงเพราะการคั่งของของเหลว มีลักษณะอาการที่สังเกตได้ ดังนี้

  • แน่นท้อง ท้องอืด มีลมมาก
  • ปวดจุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ และอาจปวดร้าวไปบริเวณสะบักขวา
  • อาจมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย

โดยทั่วไปพบว่า หากเริ่มมีอาการแล้ว ก็มักจะเป็นต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น (เนื่องจากก้อนนิ่วมักไม่ได้หายไปไหน มีแต่สะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ) เมื่อเริ่มมีก้อนนิ่วภายในถุงน้ำดีแล้ว มีโอกาสเกิดภาวะถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน (Acute Cholecystitis) ได้ทุกเมื่อ ซึ่งจะมีอาการรุนแรงกว่า โดยสามารถสังเกตได้ดังนี้

  • มีอาการปวด จุกแน่น เหมือนอาการที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่มีอาการยาวนาน 4 – 6 ชั่วโมงแล้วยังไม่หาย
  • มีอาการปวดท้องแบบรุนแรง หรือปวดจุกเสียดรุนแรงบริเวณลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา
  • มีอาการดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง
  • ปัสสาวะเหลืองเข้ม หรืออุจจาระสีซีด
  • เป็นไข้ มีอาการหนาวสั่น (ร่วมกับอาการข้างต้น)
  • คลื่นไส้ อาเจียน (ร่วมกับอาการข้างต้น)

"นิ่วในถุงน้ำดี" มักเป็นโรคที่มักถูกมองว่าไม่รุนแรงและสามารถรักษาได้ แต่หากเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นจากการที่ก้อนนิ่วหลุดเข้าไปในท่อน้ำดีหรือท่อตับอ่อนแล้ว อาจอันตรายถึงชีวิต!

เคล็ดลับสุขภาพ : หลักการกินอาหารต้าน ‘นิ่วในถุงน้ำดี’

ปรับวิถีการ(เลือก)กิน เพื่อลดเสี่ยงนิ่วในถุงน้ำดี

  • เลือกทานอาหารจำพวกแป้งไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต
  • เพิ่มปริมาณของผักและผลไม้ให้เพียงพอในแต่ละวัน
  • เลือกทานเมล็ดธัญพืชต่างๆ ถั่วประเภทที่มีใยอาหารชนิดละลายน้ำ
  • หลีกเลี่ยงอาหารประเภททอด หรืออาหารที่มีไขมันสูง
  • เลือกทานเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมันและย่อยง่าย เช่น เนื้อไก่ เนื้อปลา

เคล็ดลับสุขภาพ : หลักการกินอาหารต้าน ‘นิ่วในถุงน้ำดี’

ผ่าตัดถุงน้ำดีออกแล้ว "อาหาร" ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเลือก

เพราะตับจะทำหน้าที่ขับน้ำดีออกมาและถูกเก็บไว้ในถุงน้ำดี เพื่อช่วยในการย่อยอาหารประเภทไขมัน เมื่อผู้ป่วยผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกไปแล้ว การปล่อยน้ำดีจะส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวด ไม่สบายท้อง ท้องเสีย โดยเฉพาะหลังมื้ออาหารที่มีอาหารประเภทไขมันสูง ดังนั้น หลักการกินอาหารสำหรับผู้ที่ผ่าตัดถุงน้ำดีออกไปแล้ว คือควรกินโดยแบ่งการกินออกเป็นมื้อเล็กๆ เพื่อให้ปริมาณน้ำดีที่ขับออกมาเหมาะสมกับปริมาณอาหาร และเน้นกินอาหารประเภทธัญพืช ผัก ผลไม้ โปรตีนที่ไม่ติดมัน หรือมีไขมันเพียงเล็กน้อย เช่น เนื้อไก่ เนื้อปลา พร้อมทั้งเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อย่าง ชา กาแฟ และน้ำอัดลม

หันมาปรับพฤติกรรมการกิน เพื่อป้องกันการเกิด "โรคนิ่วในถุงน้ำดี" ก่อนสาย เพราะโรคนี้ไม่ใช่แค่สร้างความเจ็บปวด แต่หากเกิดภาวะแทรกซ้อน โรคนิ่วในถุงน้ำดีก็จะทวีความรุนแรงถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือด และอาจทำให้เสียชีวิตได้!

logoline