svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

จาก ‘กรดไหลย้อน’ สู่ ‘มะเร็งหลอดอาหาร’ สัญญาณโรคมีอะไรบ้าง?

24 กรกฎาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รู้หรือไม่ “กรดไหลย้อน” โรคยอดฮิตวัยทำงานปล่อยไว้นานเสี่ยงเป็น “มะเร็งหลอดอาหาร” ได้ แล้วอะไรคือสัญญาณของโรค มาดูกัน

“กรดไหลย้อน” โรคยอดฮิตของคนวัยทำงาน

วัยทำงานเป็นช่วงอายุที่หลายคนพยายามสร้างฐานะให้มั่นคงจนอาจละเลยเรื่องการดูแลสุขภาพ เมื่อผนวกกับการใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบและไม่พิถีพิถันในเรื่องของการเลือกอาหารมากนัก รวมถึงการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ก็ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม และเกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะเรื่องของปากท้องอย่าง “โรคอาหารไม่ย่อย” (Dyspepsia) โรคที่มักเกิดจากภาวะเครียด ไม่ว่าจะด้านการงาน การเงิน หรือปัญหาครอบครัว เมื่อเราเกิดความเครียด ระบบประสาทอัตโนมัติจะกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยออกมามากกว่าปกติจนเกิดการระคายเคือง ส่งผลให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร และ “โรคกรดไหลย้อน” (Gastroesophageal Reflux Disease) เมื่อการทำงานที่ต้องแข่งกับเวลาอาจทำให้ไม่มีเวลาเลือกอาหารที่จะรับประทานในแต่ละวันมากนัก พวกของทอดของมันที่มีขายทั่วไปจึงเป็นตัวเลือกหลักของคนวัยทำงาน รวมทั้งการรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา หรือกินเสร็จก็เข้านอนทันที จึงมีโอกาสเป็นโรคกรดไหลย้อนสูงมาก

จาก ‘กรดไหลย้อน’ สู่ ‘มะเร็งหลอดอาหาร’ สัญญาณโรคมีอะไรบ้าง?

สำหรับโรคกรดไหลย้อน คือความผิดปกติที่เกิดจากการมีกรดในกระเพาะอาหารไหลขึ้นมาสู่หลอดอาหาร ที่หากปล่อยไว้นานจนระคายเคืองเรื้อรังอาจเสี่ยงเป็น “มะเร็งหลอดอาหาร” ที่พบบ่อยในชายไทย มากกว่าผู้หญิงภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการทานยา แต่หากปล่อยเรื้อรังจนเกิดพยาธิสภาพในหลอดอาหาร จากโรคกรดไหลย้อนธรรมดา ก็อาจทวีความรุนแรงจนกลายเป็น “มะเร็งหลอดอาหาร” ที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 7 ของโลก พบโรคนี้เป็นลำดับที่ 9 ของมะเร็งในชายไทยช่วงอายุวัยกลางคน 55-65 ปี และมักจะพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 3-4 เท่า

อาการของผู้ป่วยขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ถูกระคายเคืองโดยกรด เช่น

  • กลืนลำบาก คล้ายมีก้อนอยู่ในคอ
  • เจ็บคอ ในตอนเช้ามักมีเสมหะอยู่ในลำคอ หรืออาจระคายคอตลอดเวลา
  • อาการปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอกและลิ้นปี่ หรืออาจร้าวไปที่บริเวณคอ
  • เรอบ่อย คลื่นไส้
  • คล้ายมีอาหารหรือน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาในอกหรือคอรู้สึกถึงรสขมของน้ำดีหรือรสเปรี้ยวของกรดในคอ
  • มีกลิ่นปาก เสียวฟัน หรือมีฟันผุ
  • เป็นหวัดเรื้อรัง
  • เสียงแหบเรื้อรัง หรือแหบเฉพาะในตอนเช้า
  • ไอเรื้อรัง รู้สึกสำลักน้ำลาย หรือหายใจไม่ออกในเวลากลางคืน
  •  สำหรับผู้ป่วยหอบหืด อาจมีอาการหอบมากขึ้น และการใช้ยาไม่สามารถบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้

เมื่อเป็นกรดไหลย้อนต้องทำอย่างไร ก่อนเป็นมะเร็งหลอดอาหาร

  1. เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ด้วยการหลีกเลี่ยงภาวะความเครียด งดสูบบุหรี่ ไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไป และหากน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากๆ ก็ควรลดน้ำหนัก ตลอดจนหลีกเลี่ยงการเบ่งเมื่อมีอาการท้องผูก แต่เลือกกินอาหารที่ช่วยเรื่องระบบขับถ่ายแทน
  2. เปลี่ยนนิสัยในการทานอาหาร โดยการเลือกทานอาหารที่มีไขมันต่ำ งดอาหารทอด อาหารมัน อาหารย่อยยาก หรืออาหารที่มีรสจัด หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกช็อกโกแลต ถั่ว ลูกอม เนย นม ไข่ ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลังและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และทานแค่พอดี ไม่อิ่มจนแน่นท้องเกินไป
  3. เปลี่ยนนิสัยการนอน หลังการรับประทานอาหารไม่ควรเข้านอนในทันที แต่ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 3 ชั่วโมง และเวลานอน ควรหนุนหัวเตียงให้สูงขึ้นประมาณ 6-10 นิ้วจากพื้นราบ
  4. บรรเทาอาการด้วย “ยา” ที่ควรรับประทานยาตามใบสั่งแพทย์ ไม่ลดหรือหยุดยาเอง และควรมาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรซื้อยากินเอง เพราะอาจทำให้กระเพาะอาหารมีการหลั่งกรดเพิ่มขึ้นกว่าเดิม

จาก ‘กรดไหลย้อน’ สู่ ‘มะเร็งหลอดอาหาร’ สัญญาณโรคมีอะไรบ้าง?

สัญญาณเตือนของโรคมะเร็งหลอดอาหาร

โรคมะเร็งหลอดอาหารไม่มีอาการเฉพาะของโรค และยังไม่มีการตรวจคัดกรองมะเร็งหลอดอาหารในระยะเริ่มแรก แต่จะเป็นอาการคล้ายคลึงกับโรคทั่วๆ ไปของหลอดอาหารที่พบบ่อย ได้แก่

  • กลืนอาหารไม่สะดวก รู้สึกติด หรือสำลัก
  • อาจมีเสลดปนเลือด
  • ไอ สำลัก ขณะรับประทาน
  • อาจคลำต่อมน้ำเหลืองที่คอได้
  • ผอมลงเพราะรับประทานไม่ได้หรือได้น้อย

4 ระยะ มะเร็งหลอดอาหาร

  1. ระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กยังอยู่เฉพาะในตัวหลอดอาหารยังไม่ลุกลาม
  2. ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งลุกลามมากขึ้นลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง
  3. ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามทะลุเนื้อเยื่อต่างๆ ของหลอดอาหารและมีการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง
  4. ระยะที่  4 มะเร็งลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียง มีการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไปหรือกระจายไปอวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด ตับ หรือกระดูก เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งหลอดอาหาร

เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของมะเร็งหลอดอาหาร แต่มีหลายปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคได้ อาทิ

  • อายุที่ช่วง 55-65 ปี มีความเสี่ยงสูงที่สุด
  • เพศชายที่มีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าเพศหญิง 3 เท่า
  • ผู้มีภาวะกรดไหลย้อน
  • การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์
  • ภาวะของหลอดอาหารที่เรียกว่า Barrett’s esophagus ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดในผู้ที่มีการอักเสบของหลอดอาหารจากกรดในกระเพาะอาหารทำลายเซลล์บุผนังหลอดอาหาร ทำให้เกิดมะเร็งชนิดได้
  • การรับประทานอาหารที่มีผัก ผลไม้ และแร่ธาตุต่ำ
  • ภาวะอ้วน

ทางเลือกการรักษาโรคมะเร็งหลอดอาหาร

การผ่าตัด จะเป็นวิธีการรักษาในมะเร็งระยะต้นๆ และเป็นมะเร็งหลอดอาหารในตำแหน่งที่สามารถผ่าตัดได้ โดยผ่าตัดเอาหลอดอาหารส่วนที่เป็นมะเร็งออกไป แต่ในโรคระยะลุกลามจนผู้ป่วยรับประทานทางปากไม่ได้ อาจมีการผ่าตัดเล็กทางกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กเพื่อให้อาหารทางสายยางแทน

รังสีรักษา โดยทั่วไปมักเป็นการฉายรังสีเพียงอย่างเดียว หรือฉายรังสีร่วมกับเคมีบำบัด หรือฉายรังสี เคมีบำบัด และผ่าตัด ซึ่งจะเป็นไปตามข้อบ่งชี้การแพทย์เป็นรายๆ ไป การฉายรังสีก็เช่นเดียวกัน การผ่าตัด จะมีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือใช้รักษาเพื่อควบคุมโรค ซึ่งจะใช้รักษาผู้ป่วยระยะลุกลามไม่มากและมี สุขภาพแข็งแรงและการรักษาแบบประคับประคองที่จะใช้รักษาผู้ป่วยที่เป็น มากแล้วหรือสุขภาพไม่แข็งแรง

 

logoline