svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

‘วงจรรีไซเคิล’ เรื่องลับๆ ของกระดาษทิชชูที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน

14 กันยายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดความลับ! กระดาษทิชชูที่เราใช้กันทุกวัน ผ่านการรีไซเคิลมาแล้วจริงไหม? สะอาดและปลอดภัยต่อสุขภาพหรือไม่? แล้วเลือกใช้อย่างไรให้ตอบโจทย์

ในปัจจุบัน “กระดาษทิชชู” เป็นสิ่งจำเป็นในการใช้งานในชีวิตประจำวันไปแล้ว เนื่องด้วยคุณประโยชน์ในการใช้งานที่หลากหลาย อีกทั้งยังมีราคาไม่แพง ใช้งานได้สะดวกรวดเร็ว แต่รู้กันหรือไม่ว่า กระดาษทิชชูม้วนเล็กที่เรานำมาเช็ดทำความสะอาดสิ่งของ หรือแม้กระทั่งบางคนนำมาเช็ดหน้า แท้จริงแล้วกระดาษทิชชูมาจากไหน แล้วสะอาดแค่ไหนกัน

‘วงจรรีไซเคิล’ เรื่องลับๆ ของกระดาษทิชชูที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน

“ทิชชู” แนวคิดที่แรกเริ่มเจ๊งไม่เป็นท่า เพราะถูกมองว่าสิ้นเปลือง!!

กระดาษชำระ หรือทิชชู (Tissues) เริ่มขึ้นประมาณ พ.ศ. 2400 โดย Joseph Gayetty นักธุรกิจชาวอเมริกันที่ผลิตกระดาษชำระออกมาวางจำหน่าย แต่กิจการกลับขาดทุน เพราะคนส่วนใหญ่ในยุคนั้นยังใช้กระดาษหนังสือพิมพ์เก่า ใบปลิว กระดาษห่อของแล้วทำไมต้องเสียเงินซื้อ

ผ่านไปราว 2 ทศวรรษ พี่น้องตระกูล Scott ได้พัฒนากระดาษแบบม้วนและมีรอยปรุ ซึ่งใช้ได้สะดวกกว่ากระดาษชำระแผ่นโตแบบของ Joseph Gayetty บวกกับการเป็นยุคที่ส้วมชักโครกและห้องน้ำภายในอาคารเริ่มเป็นที่นิยมในอเมริกา ทำให้คนสนใจกระดาษชำระมากขึ้น ด้วยความนุ่ม พกสะดวก ใช้สบาย ดูสะอาดกว่า และมันยังเข้ากับการตกแต่งห้องส้วมในขณะนั้น นับแต่นั้นเรื่อยมา ทิชชูจึงมีไว้เช็ดชำระจากการขับถ่ายเท่านั้น จากนั้นก็เป็นยุคแห่งวิวัฒนาการ การพัฒนา ธุรกิจการค้า ต้นทุน และความอเนกประสงค์ของการใช้

คนไทยมองกระดาษทิชชูเป็นกระดาษอเนกประสงค์ที่ใช้เช็ดทำความสะอาด ซึ่งมีการจัดแบ่งออกเป็นหลายประเภทเพื่อความเหมาะสมต่อการใช้งานที่แตกต่างกัน ซึ่งปัจจุบันกระดาษทิชชูมีการผลิตออกมาหลากหลายสี หลากหลายขนาดให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อได้ตามความต้องการ แต่ละแบรนด์ก็ยังมีส่วนผสมในการผลิตที่ไม่เหมือนกันด้วย บางแบรนด์อาจผลิตจากเยื่อกระดาษบริสุทธิ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่บางแบรนด์อาจเป็นกระดาษทิชชูเก่าที่นำมากลับ "รีไซเคิล" ใหม่ ทำให้มีสีขาวขุ่นและมีเนื้อสัมผัสที่หยาบกว่าเดิม คุณภาพลดลง จึงต้องมีการใส่สีสันหรือใช้สารเคมีเพิ่มเติมลงไป

‘วงจรรีไซเคิล’ เรื่องลับๆ ของกระดาษทิชชูที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน

กระดาษทิชชู "รีไซเคิล" สะอาดและปลอดภัยต่อสุขภาพหรือไม่?

ในอดีตการผลิตทิชชูนิยมใช้เยื่อกระดาษบริสุทธิ์ (Virgin Pulp) ที่ได้จากกระบวนการคัดแยกเยื่อต้นไม้ เท่ากับว่า กระดาษทิชชูที่เราใช้อยู่ทุกวันต้องแลกมาด้วยการตัดต้นไม้อันเป็นเครื่องฟอกอากาศชั้นดีให้แก่โลก โดยมีข้อมูลเชิงสถิติระบุว่า คนไทยใช้กระดาษทิชชูประมาณ 4 กก./คน/ปี ซึ่งประเทศไทยมีประชากรกว่า 70 ล้านคน ดังนั้น ประเทศเราใช้ทิชชูทั้งสิ้นประมาณ 280 ล้าน กก./ปี และมีข้อมูลอีกว่า การผลิตทิชชูจากเยื่อกระดาษบริสุทธิ์ใช้ต้นไม้ 1 ต้น ผลิตทิชชูได้ 50 กก. นั่นคือประเทศไทยต้องเสียต้นไม้กว่า 5.6 ล้าน ต้น/ปี ไปกับกระดาษทิชชูที่พวกเรามักหยิบใช้โดยไม่คิดอะไร

แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นผนวกกับการตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตหันมาใช้ “เยื่อกระดาษเวียนใหม่ (Recycle Pulp)” ที่ได้จากการรีไซเคิลกระดาษ อาทิ กระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษนิตยสารเก่า กระดาษพิมพ์งาน เป็นต้น

มีข้อมูลเชิงเปรียบเทียบระบุว่า การผลิตทิชชูจากเยื่อกระดาษเวียนใหม่แทนการใช้เยื่อกระดาษบริสุทธิ์จำนวน 1 ตัน จะสามารถช่วยลดการตัดต้นไม้ได้ 17 ต้น ลดการใช้น้ำได้ถึง 26,500 ลิตร และลดการใช้น้ำมันได้ถึง 378 ลิตร

จากข้อมูลนี้จะเห็นได้ว่า การใช้เยื่อกระดาษเวียนใหม่ช่วยประหยัดทรัพยากรต่างๆ ได้มาก เท่ากับว่าเป็นการลดต้นทุนในส่วนของค่าทรัพยากรที่ต้องใช้ด้วย

‘วงจรรีไซเคิล’ เรื่องลับๆ ของกระดาษทิชชูที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน

ดราม่าทิชชูจีน 1 บาท

เรื่องนี้ รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์  ระบุถึงข้อความที่แชร์กันเตือนเรื่องให้ดูเลขรหัส 810 หรือ 808 บนซองกระดาษทิชชูนั้น จริงๆ แล้วเป็นเลขรหัส ตามมาตรฐานอุตสาหกรรมของประเทศจีน ที่เรียกว่า GuoBiao Standards (หรือ GB standards) โดยประเทศจีนได้กำหนดมาตรฐานไว้ 2 ขั้น คือ ขั้นบังคับ (Mandatory) ตามที่กฎหมายบังคับให้ทำตามเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์ และขั้นแนะนำ (Recommended) ซึ่งเป็นข้อกำหนด ที่ไม่ได้มีการบังคับด้วยกฏหมาย โดยสามารถดูได้จากตัวรหัส ถ้าขึ้นต้นด้วย "GB" จะเป็นมาตรฐานบังคับ แต่ถ้าเป็น GB/T จะเป็นมาตรฐานแนะนำ

หมายความว่า ถ้ากระดาษทิชชูจากประเทศจีน ห่อไหน บอกว่าผลิตตามมาตรฐาน GB/T 20810-2018 แสดงว่ามันผลิตบนมาตรฐานสำหรับ "กระดาษชำระในห้องน้ำ" และถ้าเขียนว่าผลิตตามมาตรฐาน GB/T 20808-2022 แสดงว่ามันใช้มาตรฐานสำหรับ "กระดาษทิชชูทั่วไป"  แน่นอนว่าการนำไปใช้งานก็จะต่างกันด้วย คือ กระดาษชำระในห้องน้ำ ก็ไม่ได้จะมีคุณสมบัติสูง เท่ากับกระดาษที่ทำมาสำหรับเช็ดมือ เช็ดปาก เช็ดหน้า โดยเฉพาะในแง่ของมาตรฐานสุขอนามัย (hygiene standards)

ตามมาตรฐานของประเทศจีนนั้น กระดาษทิชชูทั่วไป จะผลิตจากเยื่อกระดาษชนิด "เยื่อบริสุทธ์ (Virgin Pulp)" เท่านั้น ไม่อนุญาตให้ใช้เยื่อกระดาษชนิด "เยื่อเวียนใหม่ (Recycled Pulp)" ในขณะที่ กระดาษชำระในห้องน้ำ สามารถใช้เยื่อเวียนใหม่ เป็นวัตถุดิบในการผลิตได้

ดังนั้น กระดาษทิชชูที่ผลิตต่างมาตรฐานกัน อย่าง มาตรฐาน GB/T 20810 และ GB/T 20808 ก็จะมีทั้งวัตถุดิบที่ต่างกัน มีคุณสมบัติที่ต่างกัน รวมทั้งสารปนเปื้อนด้วย ซึ่งก็ควารนำมาพิจารณาในการเลือกซื้อเลือกใช้ ตัวอย่างเช่น กระดาษทิชชูมาตรฐาน GB/T 20808 ก็จะไม่มีพวกสารเรืองแสง (Fluorescent agent) ปนอยู่เลยเนื่องจากใช้เยื่อกระดาษใหม่ และจะความขาว ความสว่าง ต่ำกว่าด้วย เนื่องจากไม่ได้เติมสารเรืองแสงลงไป

ซึ่งถ้าซื้อกระดาษจากประเทศจีน จะเห็นเลขรหัส GB15979-2002 อีกตัวด้วย (เพิ่มจาก GB/T 20808 ) ซึ่งก็คือ มาตรฐานสุขอนามัยของผลิตภัณฑ์อนามัยที่ใช้แล้วทิ้ง " Hygiene Standards for Disposable Hygiene Products" ซึ่งกำหนดให้มีเชือจุลินทรีย์ได้ไม่เกิน 200 cfu/กรัม ขณะที่กระดาษชำระในห้องน้ำ จะมีได้ไม่เกิน 600 cfu/กรัม

วิธีการเลือกซื้อกระดาษทิชชูให้เหมาะสม

  • ควรเลือกซื้อกระดาษทิชชูชนิดต่างๆ ตามลักษณะงานที่จะใช้ ไม่ใช่เลือกเพราะราคาถูก และควรเลือกยี่ห้อที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี
  • สังเกตรายละเอียดของผลิตภัณฑ์จากฉลาก พิจารณาถึงวัตถุดิบ วิธีการผลิต และระดับความพรีเมียม ของสินค้า
  • กระดาษทิชชูที่ดี เนื้อต้องนุ่มละเอียด เวลาลองถูแล้ว ไม่มีเศษผง ขุยกระดาษ หรือผงแป้งออกมา ลองทดสอบความเหนียวของเนื้อกระดาษ โดยการใช้มือจับกระดาษแล้วลองดึงดูว่าขาดง่ายหรือไม่
  • ลองดมกลิ่นของกระดาษ ซึ่งต้องไม่ได้กลิ่นของสารเคมีปนมาด้วย (ถ้าเป็นไปได้ จึงไม่ควรซื้อกระดาษทิชชูที่ใส่กลิ่นหอมมากลบ) และเวลานำไปเช็ดปาก ต้องไม่ได้รสชาติอะไรปนมา ซึ่งอาจมาจากสารเคมีปนเปื้อน

 

ทิชชูราคาถูจะมีอันตรายกับร่างกาย เสี่ยงมะเร็งผิวหนังหรือไม่?

ประเด็นสุขภาพเรื่องนี้ คุณหมอโอ๊ต นายแพทย์พงศกร จินดาวัฒนะ ผู้อำนวยการอาวุโสโครงการพิเศษพัฒนาศักยภาพด้านการสื่อสาร ประจำศูนย์การแพทย์ รพ.กรุงเทพ เผยข้อมูลสุขภาพผ่านสถานีสุขภาพ BDMS ว่าจากปัญหาประชากรโลกที่เยอะขึ้นแต่ทรัพยากรน้อยลงซึ่งทิชชูเองก็ทำจากเนื้อเยื่อต้นไม้ และมองว่าการรีไซเคิลก็เป็นทางเลือกที่ดีที่จะช่วยอนุรักษ์และประหยัดต้นทุน แต่ต้องดูถึงประเภทของทิชชูที่มีหลากหลายแบบและทิชชูที่มีราคาถูกมากๆ ส่วนมากผ่านการรีไซเคิลมาแล้วนั้นเอง

ส่วนข้อกังวลว่าทิชชูราคาถูกว่าจะมีอันตรายกับร่างกายว่าเสี่ยงมะเร็งผิวหนังหรือไม่นั้นคุณหมอโอ๊ต ระบุว่า หากทำการรีไซเคิลถูกหลักวิชาการและกฎกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งผ่านความร้อนไม่ต่ำกว่า 200 องศาเซลเซียส ก็จะไม่เกิดอันตรายขึ้นแต่หากรีไซเคิลที่ใส่สารฟอกขาวเกินลิมิตเพราะอยากให้ทิชชูมีความขาวก็อาจจะอันตรายอย่างแน่นอน

ส่วนอาการแพ้สารฟอกขาวจากทิชชู ไม่มีวิจัยทางการแพทย์อย่างชัดเจน แต่ก็พบว่าหากปนเปื้อนมากกว่าที่โรงงานอุตสาหกรรมกำหนดจะส่งผลในระยะยาวเกิดผื่นผิวหนังอักเสบ อาจถึงขั้นมะเร็งผิวหนังได้ แต่ก็ต้องใช้ติดต่อเนื่องเท่านั้น

 

logoline