รัฐบาลฝรั่งเศสกำลังระดมกองกำลังความมั่นคงจำนวนมาก พร้อมประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในวันพุธ ที่ 15 พ.ค. หลังมีการประท้วงรุนแรงเกิดขึ้นใน "นิวแคลิโดเนีย" ดินแดนกึ่งปกครองตนเองของฝรั่งเศสในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยตอนนี้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมากกว่า 1,800 นายอยู่ในพื้นที่ และกำลังเสริม 500 นายจะมาถึงใน 24 ชั่วโมงข้างหน้า
ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเผชิญหน้ากับผู้ประท้วงราว 5,000 คน ที่ก่อเหตุจลาจลรุนแรง ทั้งการปล้น ทุบทำลาย และจุดไฟเผา รถยนต์ อาคารสาธารณะ โรงเรียน และธุรกิจหลายแห่ง มีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 ราย ผู้บาดเจ็บหลายร้อยคน โดยตำรวจสามารถจับกุมผู้ก่อเหตุเกือบ 200 คน ในวันพฤหัสบดีตามเวลาท้องถิ่น
การประท้วงเริ่มต้นขึ้นหลังมีร่างกฎหมายฉบับใหม่ ผ่านการรับรองโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติในกรุงปารีสเมื่อวันอังคาร ที่ 14 พ.ค. ซึ่งจะอนุญาตให้ชาวฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ในนิวแคลิโดเนียเป็นเวลา 10 ปี สามารถลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ ทำให้ผู้นำท้องถิ่นบางคนเกรงว่าจะส่งผลต่อคะแนนเสียง เพราะจะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพิ่มขึ้นราว 20,000 - 25,000 คน ที่ไม่ใช่ชาวนิวแคลิโดเนีย
การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะมีผลบังคับใช้นาน 12 วัน เพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการตรวจสอบและควบคุมสถานการณ์มากขึ้น เช่น ออกคำสั่งปิดกั้นการจราจร บุกเข้าจับกุมคนในบ้าน สั่งห้ามการประท้วง และดำเนินการตรวจค้นโดยไม่มีการควบคุมดูแลของศาลตามปกติ ขณะที่สนามบินนานาชาติถูกปิดชั่วคราวพร้อมยกเลิกเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ทั้งหมดตั้งแต่วันอังคาร เช่นเดียวกับโรงเรียนต่าง ๆ ที่ระงับการเรียนการสอนจนกว่าสถานการณ์จะสงบ
ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ได้แสดงความรู้สึกเสียใจต่อการเสียชีวิตที่เกิดขึ้น พร้อมกล่าวว่าความรุนแรงทั้งหมดเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทนรับได้ และจะมีการตอบสนองอย่างถึงที่สุด
อย่างไรก็ตาม เพื่อบรรเทาความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้นจากการประท้วง มาครงให้คำมั่นว่า ข้อเรียกร้องของทุกฝ่ายจะถูกรับฟังและนำมาพิจารณา ซึ่งเขาจะยังไม่ลงชื่ออนุมัติการเปลี่ยนแปลงกฎหมายดังกล่าว จนกว่าจะมีการประชุมรัฐสภาสมัยพิเศษเพื่อลงคะแนนเสียงในช่วงสิ้นเดือนมิถุนายน โดยระหว่างนั้นจะส่งคำเชิญทั้งผู้ที่สนับสนุนและต่อต้านมาร่วมพูดคุยเพื่อหาทางออกด้วย
นิวแคลิโดเนีย เป็นดินแดนเกาะขนาดเล็กที่มีประชากรราว 270,000 คน ซึ่งปัจจุบันหนึ่งในสี่ของประชากรเป็นชาวยุโรป เกาะแห่งนี้เคยเป็นหนึ่งในอาณานิคมของฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 2396 จนกระทั่งสหประชาชาติแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษด้านการปลดปล่อยอาณานิคม ทำให้นิวแคลิโดเนียต้องตัดสินใจว่าจะยังคงอยู่กับฝรั่งเศสหรือแยกเป็นเอกราชด้วยประชามติที่ถูกจัดขึ้นมาแล้วถึง 3 ครั้ง และผลประชามติคือเสียงข้างมากต้องการให้นิวแคลิโดเนียยังคงอยู่กับฝรั่งเศสต่อไป