svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"นักวิชาการ" มองระบบเลือก สว.ไทยแปลกสุดในโลกแนะจับตาการฮั้วมีเห็นรอบท้าย

"นักวิชการด้านรัฐศาสตร์" ชี้การเลือก สว. ของไทยครั้งนี้ไม่เหมือนใครในโลก จับตา 2 ก.ค. จะได้วุฒิสภาหรือเกิดการฟ้องร้อง มองโอกาสฮั้วมีให้เห็นช่วงรอบสุดท้าย ย้ำอยากได้สภาสูงหน้าตาแบบไหน ประชาชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมให้มากที่สุด

16 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ได้จัดเสวนาประชาชน "จะสังเกตการณ์การเลือก สว.67 ได้อย่างไร" 

โดย "นายปุรวิชญ์ วัฒนสุข" อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเลือก สว. ในครั้งนี้ไม่เหมือนใครในโลก ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ที่ให้เลือกกันเองโดยแบ่งตาม 20 กลุ่มอาชีพ ซึ่งไม่ใช่การเลือกตั้ง 

ขณะที่ ล่าสุดยอดผู้มารับเอกสารสมัคร สว. ทั่วประเทศอยู่ที่ 17,664 คน (ข้อมูล ณ 17,00 น. วานนี้) ซึ่งกรุงเทพมหานคร มีจำนวนมากที่สุด 2,293 คน ถัดมาเป็น จ.เชียงใหม่ 834 คน

ส่วนจังหวัดที่คนรับเอกสารน้อยที่สุดคือ จ.บึงกาฬ 34 คน ตนจึงกังวลกับว่าการเลือก สว. ครั้งนี้ ที่ออกแบบมาให้คัดเลือกกันเอง แล้วก็ไปเลือกไขว้กันอีก

ขณะที่ประชาชนจะสังเกตการณ์เลือก สว. ได้อย่างไร คำตอบที่ง่ายก็คือ ต้องเข้าไปอยู่ในกระบวนการ แต่ข้อกฎหมายปัจจุบันไม่ได้เอื้อให้คนที่ไม่ใช่ผู้สมัคร เข้าไปอยู่ในสถานที่เลือก หรือถ้าจะเข้าไปได้ ก็ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และห้ามพกเครื่องมือสื่อสาร

นอกจากนี้ ระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. ให้มีการใส่ประวัติส่วนตัว ประวัติการทำงาน กลุ่มอาชีพ และหมายเลขที่ลงสมัคร ซึ่งสามารถแก้ไขข้อมูลได้เท่าที่จำเป็น และการแนะนำตัวผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทำได้ ประชาชนก็สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ถือเป็นพัฒนาการล่าสุดที่เกิดขึ้น

ทว่า แต่ส่วนที่มีการร้องต่อศาลปกครองกลาง ก็ต้องรอดูผล ซึ่งอาจเป็นตัวเปลี่ยนเกมในการเลือก สว. ครั้งนี้ สำหรับเรื่องการแนะนำตัวว่าจะทำอะไรอย่างไรได้บ้าง ซึ่ง กกต. คาดหวังว่าจะมีผู้สมัครถึง 100,000 คน แต่จนถึงตอนนี้ ยังมีไม่เท่าไหร่ ก็เป็นการเลือก สว. ที่แปลกๆ มีคนร่วมไม่มาก 

ขณะเดียวกัน อีกเรื่องที่น่าจับตา คือ การฟ้องร้อง เพราะตามกฏหมาย ระบุว่าถ้ามีผู้ร้องคัดค้าน ให้ร้องคัดค้านภายใน 3 วัน ซึ่งผลมี 2 อย่าง คือ กกต.ยกคำร้อง กับ ไม่ยกคำร้อง แต่ก็ต้องสั่งระงับยับยั้ง แก้ไข เปลี่ยนแปลง ยกเลิก หรือสั่งให้เลือกใหม่ หรือนับคะแนนใหม่

 

"เพราะฉะนั้นไทม์ไลน์ที่เราดูกันว่า จะได้ สว. ภายใน 2 ก.ค. ก็อาจจะมีเหตุไม่คาดคิดเกิดขึ้น และก็ยังคาดเดาไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าการฟ้องร้องอาจจะมี และไม่น้อยด้วย" นายปุรวิชญ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การล็อกโหวต หรือ ฮั้ว ในการเลือก สว.ครั้งนี้ มันเอื้อให้เกิดในที่ลับ ที่ปิด ที่ไกลหูไกลตาประชาชน ก็อาจเกิดขึ้นได้ โดยตนมีสมมติฐานว่า ขั้นตอนการฮั้ว น่าจะมารอบหลังๆ ที่พอเห็นเค้าลางหน้าตาของผู้เข้าสู่รอบสุดท้าย

 

"ซึ่งหน้าตาของ สว. อย่าดูแค่ทางเข้า เพราะประวัติศาสตร์วุฒิสภาไทย บ่งบอกตอนเลือกตั้งปี 43 ที่สุดท้ายกลายเป็นสภาผัวเมีย ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดทีหลัง แต่ สว. ชุดใหม่ หน้าตาจะเปลี่ยนแปลงไปจากชุดเดิมหรือไม่ ก็ต้องรอดู อาจจะไม่ได้พลิกโฉมมากนัก เพราะดูกระบวนการแล้วคนที่จะหลุดลอดเข้าไปและได้เป็น สว. ก็ต้องสู้กันหลายยกพอสมควร" นายปุรวิชญ์ ระบุ

 

อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถสมัครเข้าไปเป็นตัวแปรในการเลือกครั้งนี้ จึงเป็นที่มาว่าทำไมถึงต้องไปสมัคร สว. แต่ก็ใช้ต้นทุนอยู่พอสมควร ถ้ายิ่งมีคนเข้าไปเยอะ ก็จะเป็นตัวกำหนดว่าหน้าตาจะหล่อสวยแค่ไหน และเพิ่มโอกาสที่จะทำให้ได้ สว. ที่อยากจะได้

ขณะเดียวกัน เมื่อเห็นข้อปฏิบัติในการสมัคร ก็ทำให้คนไม่อยากสมัคร ประมาณว่ารู้สึกเหนื่อยไปเอง ไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการนี้ ก็จะทำให้ สว. ไม่สวยไม่หล่อ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่า สว. ชุดใหม่ จะเป็นอย่างไร คำตอบคือคงไม่สวยไม่หล่อ แต่คงไม่ขี้เหร่

 

"กระบวนการเลือก สว. ไม่ได้เอื้อต่อเรามากนัก ในห้วงเวลาที่เราถูกทำให้รู้สึกไม่มีความหวัง เราต้องมีความหวัง ด้วยการเข้าไปอยู่ในกระบวนการ ใครพร้อมก็สมัครเข้าไป ไปอยู่ในขั้นตอนการเลือกกันเอง ซึ่งผมอยากทำวิจัยมากว่า กระบวนการเป็นอย่างไร แต่ก็เข้าไปไม่ได้เพราะอายุไม่ถึง ส่วนสื่อมวลชนก็อยู่แค่ข้างนอกมีซีซีทีวีให้ดู แต่ไม่ได้ยินการพูดคุย เราอยากให้ สว. ชุดใหม่ หน้าตาเป็นแบบไหน ก็อยากจะสื่อสารกับประชาชนที่มีความพร้อม จะได้เข้าไปช่วยผลักดันวาระการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย" นายปุรวิชญ์ กล่าว

 

สำหรับการเลือก สว. แบ่งกลุ่มอาชีพ ยังมีที่ประเทศไอร์แลนด์ ด้วย โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่มอาชีพ แต่จะล็อคโควตาให้มหาวิทยาลัยเก่าแก่ 2 แห่ง ซึ่งเป็นตัวแทนจากกลุ่มการศึกษา ส่วนอีก 4 กลุ่ม น่าจะเป็นพาณิชย์ เกษตร อุตสาหกรรม การจะเสนอชื่อคนที่เข้าอยู่ในกระบวนการเลือก ต้องให้องค์กรวิชาชีพเป็นผู้เสนอ

ทว่า กระบวนการสมัคร สว. ของไทยในปัจจุบัน ต้องมีคนเซ็นรับรอง แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า คนนั้นทำอะไรมาจริงๆ ซึ่งแม้มีช่องโหว่ แต่กฎหมายก็เขียนชัดเจนว่า ถ้าให้ข้อมูลเป็นเท็จ จะมีการลงโทษปรับ เพราะฉะนั้น เมื่ออยากให้ สว. หน้าตาเป็นแบบไหน ประชาชนก็ต้องเข้าไปสู่กระบวนการมีส่วนร่วมมากที่สุด