แถลงการณ์จากองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) เปิดเผยว่า ยานสำรวจดวงจันทร์ “ฉางเอ๋อ-6” ของจีน ทะยานขึ้นจากพื้นผิวด้านไกลของดวงจันทร์ และเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์แล้วในเช้าวันอังคาร (4 มิถุนายน) ตามเวลาของจีน หลังจากประสบความสำเร็จในการเก็บตัวอย่างหินและฝุ่นจากพื้นผิวด้านไกลของดวงจันทร์เมื่อวันอาทิตย์และวันจันทร์
การเดินทางกลับถึงโลกอาจใช้เวลาเกือบ 3 สัปดาห์ โดยคาดว่า จะลงจอดในบริเวณเขตปกครองตนเองมองโกเลียในของจีนช่วงวันที่ 25 มิถุนายน ซึ่งจะทำให้จีนเป็นชาติแรกที่เก็บตัวอย่างจากพื้นผิวด้านไกลของดวงจันทร์กลับสู่โลก
CNSA โพสต์ภาพบนแพลตฟอร์ม “เวยโป๋” ในวันอังคาร แสดงให้เห็นพื้นผิวที่ถูกขุดเจาะเป็นรูปคล้ายตัวอักษรจีนคำว่า “จง” ซึ่งเป็นอักษรตัวแรกของคำที่มีความหมายว่า “จีน”
CNSA ระบุด้วยว่า ฉางเอ๋อ-6 สามารถผ่านบททดสอบเรื่องอุณหภูมิสูง และสามารถเก็บตัวอย่างหินและดินจากพื้นผิวดวงจันทร์ด้วยแขนกลอย่างรวดเร็ว ก่อนยื่นแขนกลเพื่อกางธงชาติจีนเป็นครั้งแรกบนพื้นผิวด้านไกลของดวงจันทร์ ที่หันหน้าออกจากโลกเสมอ
โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน โพสต์ใน X ว่า “ภารกิจประสบความสำเร็จ” และ “ความสำเร็จอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การสำรวจดวงจันทร์ของมนุษยชาติ”
ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่จีนสามารถเก็บตัวอย่างจากพื้นผิวดวงจันทร์ หลังจากยานสำรวจ “ฉางเอ๋อ-5” เก็บตัวอย่างหินจากด้านใกล้ของดวงจันทร์กลับสู่โลกในปี 2563
ยาน “ฉางเอ๋อ-6” ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม และลงจอดบนด้านไกลของดวงจันทร์ได้สำเร็จเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน โดยจุดที่ลงจอด คือ แอ่งขั้วใต้เอตเคน (South Pole-Aitken Basin) ซึ่งเป็นแอ่งที่เกิดจากอุกกาบาตตกใส่เมื่อเกือบ 4,000 ล้านปีที่แล้ว
และก่อนหน้านี้ยานสำรวจ “ฉางเอ๋อ-4” ของจีน สร้างประวัติศาสตร์ลงจอดบนพื้นผิวด้านไกลของดวงจันทร์เป็นครั้งแรกในปี 2562
จีนยังมีกำหนดปล่อยยานสำรวจ “ฉางเอ๋อ” อีก 2 ครั้ง ขณะที่ใกล้ถึงเป้าหมายส่งนักบินอวกาศไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกในปี 2573