svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ศาลอินโดนีเซียสั่งจำคุก 2 คน คดีเหยียบกันตายในสนามฟุตบอล

09 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศาลอินโดนีเซียมีคำตัดสินให้จำคุกเจ้าหน้าที่จัดการแข่งขันฟุตบอล 2 คน เนื่องจากมีความผิดข้อหาประมาทเลินเล่อ ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมเหยียบกันตายในสนามกีฬาที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดครั้งหนึ่งของโลก

ศาลในเมืองสุราบายาของอินโดนีเซีย มีคำตัดสินในวันพฤหัสบดี (9 มี.ค.)  ว่า นายอับดุล ฮาริส ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันของสโมสร อาเรมา เอฟซี มีความผิดฐานประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต และต้องรับโทษจำคุก 1 ปีครึ่ง และนายซูโก ซูตริสโน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสนามฟุตบอล ต้องรับโทษจำคุก 1 ปีในข้อหาเดียวกัน ขณะที่โทษสูงสุดสำหรับข้อหานี้ คือ จำคุกนาน 5 ปี

คำตัดสินดังกล่าวเป็นการลงโทษผู้กระทำผิดสองรายแรกจากเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิต 135 ราย และผู้บาดเจ็บมากกว่า 600 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเหยียบกันในช่วงการแข่งขันระหว่างทีมอาเรมา เอฟซี และทีม เปอร์เซบายา สุราบายา ที่เมืองมาลัง จังหวัดชวาตะวันออกเมื่อเดือนต.ค. 2565 โดยแฟนบอลวิ่งกรูเบียดเสียดกันที่ทางออกหลังตำรวจยิงแก๊สน้ำตาไปทางอัฒจันทร์เพื่อควบคุมฝูงชน เมื่อเกิดเหตุแฟนบอลทั้งสองฝ่ายวิ่งลงไปในสนามหลังจบการแข่งขันและเกิดการปะทะกัน  

 

ศาลอินโดนีเซียสั่งจำคุก 2 คน คดีเหยียบกันตายในสนามฟุตบอล

ผลจากการสอบสวนพบว่า สาเหตุหลักของการเหยียบกันมาจากตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่ฝูงชนมากถึง 45 นัด ทั้งที่สมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่า มีข้อบังคับห้ามใช้แก๊สน้ำตาควบคุมฝูงชนในการแข่งขัน ตำรวจ 3 นายถูกตั้งข้อหาเดียวกับผู้ต้องหาสองรายแรก และศาลจะมีคำตัดสินหลังจากนี้ 

ขณะที่ฮาริส ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันของทีมอาเรมา เอฟซี มีความผิดจากการจำหน่ายบัตรเข้าชมเกินกว่าความจุสูงสุดของสนาม ส่วนซูตริสโน ให้การต่อศาลเมื่อเดือนม.ค.ว่า เขาเพิ่งเข้าทำงานรักษาความปลอดภัยที่สนามกีฬาได้เพียงเกือบ 3 เดือน เป็นลูกจ้างชั่วคราวที่ได้รับค่าจ้าง 16.19 ดอลลาร์ต่อการแข่งขันแต่ละครั้ง และไม่เคยได้รับการฝึกอบรมเรื่องมาตรการความปลอดภัยระหว่างการแข่งขัน

โศกนาฏกรรมครั้งนี้สร้างความตกใจแก่ประชาชนทั่วทั้งประเทศ และจุดกระแสโกรธแค้นอย่างกว้างขวางต่อตำรวจ และประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ให้สัญญาว่าจะปฏิรูปการจัดการแข่งขันฟุตบอล และสนามกีฬาที่เกิดเหตุจะถูกรื้อถอน เพื่อสร้างใหม่ให้ได้มาตรฐานของฟีฟ่า

logoline