svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

เงินบาทแข็ง ! รั้งอันดับ 3 ในภูมิภาค เพราะเหตุใด

19 พฤศจิกายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แบงก์กรุงศรีอยุธยาประเมินเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 34.85-35.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  เกาะติดรายงานประชุมเฟด-บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ – จีดีพีไทย  เผยสถิติตั้งแต่  1 พ.ย.-17 พ.ย. เงินบาทแข็งโป๊ก ! รั้งอันดับ 3 ในภูมิภาค  เกิดจากสาเหตุอะไร ตามไปดูกันเลย

น.ส. รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ Nation Online ว่า เงินบาทสัปดาห์หน้า เคลื่อนไหวในกรอบ  34.85-35.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

โดยปัจจัยที่ต้องติดตามคือการรายงานประชุมธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐหรือบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ เป็นสำคัญ  ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ติดตามสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)  แถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 ตลาดคาดเติบโต 2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

 

เงินบาทแข็ง ! รั้งอันดับ 3 ในภูมิภาค เพราะเหตุใด

 

สำหรับการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาคช่วง 1 พ.ย.-17 พ.ย.  พบว่าสกุลเงินส่วนใหญ่แข็งค่า โดยวอน-เกาหลีใต้ แข็งค่ามากสุด 4.19% รองลงมาเป็นรูเปียห์ - อินโดนีเซีย  2.52% บาท -ไทย 2.15% เปโซ-ฟิลิปปินส์ 1.97 % ดอลลาร์-ไต้หวัน 1.81% ริงกิต-มาเลเซีย 1.67% ดอลลาร์-สิงคโปร์ 1.60% ดอง-เวียดนาม 1.29% และหยวน-จีน  0.98% ยกเว้นรูปี-อินเดียอ่อนค่า  0.01% 

สาหตุที่เงินบาทแข็งค่าสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาคเกิดจาก

  • ข้อมูลเงินเฟ้อเดือนต.ค.และผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯบ่งชี้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อลดความร้อนแรงลง
  • นักลงทุนเชื่อมั่นมากขึ้นว่าเฟดจบรอบดอกเบี้ยขาขึ้นไปแล้ว แต่ยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับจังหวะเวลาของการลดดอกเบี้ยครั้งแรก
  • บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ร่วง
  • ราคาทองคำในตลาดโลกที่พุ่งขึ้น กระตุ้นให้ผู้ค้าทองในประเทศส่งออกทอง
  • เงินทุนไหลเข้าตลาดพันธบัตร 8.3 พันล้านบาท  แต่ขายสุทธิหุ้นไทย 7.5 พันล้านบาท
  • นักลงทุนบางส่วนลดความกังวลเกี่ยวกับการกู้เงินภาครัฐ

    เงินบาทแข็ง ! รั้งอันดับ 3 ในภูมิภาค เพราะเหตุใด

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ Nation Online ว่า เงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 34.80 - 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดย การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมา “อาจชะลอลงบ้าง” หลังผู้เล่นในตลาดการเงินต่างเชื่อว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยและเฟดอาจลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1% ในปีหน้า ไปพอสมควรแล้ว

ดังนั้น หากตลาดการเงินจะมีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนมากขึ้น อาจต้องรอปัจจัยใหม่ อาทิ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญฝั่งสหรัฐฯ หรือ รายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) ที่จะช่วยให้ ผู้เล่นในตลาดมีการปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด อาทิ เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงได้เร็วขึ้น หรือ ลดดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดกำลังประเมินอยู่  (ในกรณีนี้ อาจเห็นเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อ ส่วนเงินบาทก็มีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้)

ทั้งนี้ปัจจัยสร้างความผันผวนให้กับค่าเงินบาทที่ต้องติดตาม นอกเหนือจากแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด คือ 1. ทิศทางราคาทองคำ หลังจากสัปดาห์ก่อนหน้า ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นแรง และช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท 2. ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ที่อาจทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของสินทรัพย์ไทยได้บ้าง และแรงขายอาจเพิ่มขึ้น หากรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ออกมาต่ำกว่าคาด  

3.ความผันผวนของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) โดยหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจออกมาแย่กว่าคาด และอัตราเงินเฟ้อก็เริ่มชะลอลงมากขึ้น ก็อาจทำให้ ผู้เล่นในตลาดลดความกังวลแนวโน้มธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ เงินเยนญี่ปุ่นพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้ 

ทั้งนี้ประเมินว่า หากเงินบาทแข็งค่าหลุดโซนแนวรับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ ก็อาจติดอยู่แถว 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นโซนที่ผู้นำเข้าต่างรอซื้อเงินดอลลาร์ และอาจเป็นโซนที่ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเริ่มขายทำกำไรสถานะ Long THB ขณะที่ การอ่อนค่าของเงินบาทอาจจำกัดอยู่ในโซนแนวต้าน 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากบรรดาผู้ส่งออกอาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในโซนดังกล่าว 

เงินบาทแข็ง ! รั้งอันดับ 3 ในภูมิภาค เพราะเหตุใด

ปัจจัยภายนอก-ในประเทศที่มีผลต่อค่าเงินบาท 

 - เงินบาทยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวไปตามทิศทางของทั้งเงินดอลลาร์ ราคาทองคำ ราคาน้ำมันดิบ รวมถึงทิศทางค่าเงินฝั่งเอเชีย (จับตาทิศทางเงินเยนญี่ปุ่น) โดยปัจจัยสำคัญจะประกอบไปด้วย รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการจากฝั่งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น อัตราเงินเฟ้อ CPI ของญี่ปุ่น รวมถึงรายงานการประชุมเฟด (FOMC Meeting Minutes) ล่าสุด

- ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่อาจผันผวนไปตาม รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน และ รายงานอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3

สถานการณ์สงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ยังคงเป็นอีกปัจจัยที่ควรจับตา แม้ว่าความเสี่ยงที่สงครามจะบานปลายได้ลดลงพอสมควร แต่หากสถานการณ์เลวร้ายขึ้น ก็อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินบาทได้ ผ่านการเคลื่อนไหวของราคาทองคำและราคาน้ำมันดิบ รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อทิศทางนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งจะกระทบต่อทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์

ไฮไลท์ข้อมูลเศรษฐกิจ

- สหรัฐฯ ตลาดจะรอติดตาม รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ โดย S&P Global พร้อมรอลุ้น ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และรายงานการประชุมเฟดล่าสุด
 
- ยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปผ่าน รายงาน ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของยูโรโซน รวมถึงอังกฤษ

- เอเชีย ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่แนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยตลาดจะรอลุ้นทั้ง รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI รวมถึง รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของญี่ปุ่น

- ไทย ตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้า

รายงานข่าวจากธนาคารกสิกรไทย (KBANK)แจ้งว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้า (20-24 พ.ย.)  คาดว่าจะอยู่ที่  34.80-35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ   ส่วนปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 และตัวเลขการส่งออกเดือน ต.ค.ของไทย สัญญาณเงินทุนต่างชาติ (Flow) และสถานการณ์ของสกุลเงินในภูมิภาค

 ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน ต.ค., ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และรายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามการประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ของธนาคารกลางจีน รวมถึงดัชนี PMI ขั้นต้นเดือน พ.ย.ของยูโรโซนอังกฤษ และสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน

 

logoline