svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

นายกฯ ยินดี กกพ.รับแนวทาง BCG เชื่อเป็นการพัฒนาที่สมดุลด้านพลังงาน

15 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นายกฯ ยินดี หน่วยงานขานรับแนวทาง BCG ที่รัฐบาลผลักดันเป็นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ ระบุ เชื่อมั่นว่าจะเป็นแนวทางการพัฒนาที่สมดุล มีประสิทธิภาพ อย่างยั่งยืน ด้าน กกพ. สนับสนุนใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานสีเขียว พร้อมรักษาความมั่นคงด้านพลังงานในประเทศ

15 กุมภาพันธ์ 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ขานรับแนวทาง การดำเนินนโยบายของรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมตาม BCG

นายอนุชา บูรพชัยศรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เป็นที่น่าชื่นชมการทำงานของทุกหน่วยงานในประเทศ ที่รับเอาแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรี เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมโดยจะพัฒนา เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

 

โดย กกพ. มีแนวทางที่จะสร้างกลไก เพื่อเพิ่มการแข่งขันในกิจการพลังงาน ทั้งกิจการก๊าซธรรมชาติ ที่อาจปรับปรุงโครงสร้าง รองรับการแข่งขัน พร้อมกับรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน โดยสนับสนุนการใช้พลังงานสีเขียว

ทั้งนี้ ในระยะเร่งด่วน กกพ. ให้ความสำคัญกับการใช้เชื้อเพลิงทางเลือก เช่น พลังน้ำ และพลังงานหมุนเวียน และในส่วนระยะยาว จะให้ความสำคัญกับการผลิตพลังงานไฟฟ้า เพื่อรองรับการใช้พลังงานสีเขียว ตอบสนองความต้องการภาคธุรกิจการค้า และการลงทุนของภาคเอกชนระหว่างประเทศ ซึ่งมีความต้องการซื้อและได้รับการรับรองการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด

ในการลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุน จากมาตรการภาษีคาร์บอนข้ามแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) และข้อกีดกันทางการค้าการลงทุนอื่นๆ หนึ่งในกลไกสำคัญได้แก่ ไฟฟ้าสีเขียว หรือ Green Tariff ที่ออกแบบให้มีการขายไฟฟ้าพร้อมใบรับรอง (REC) ที่สามารถระบุที่มาของแหล่งผลิตไฟฟ้า เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับภาคอุตสาหกรรม ที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียว โดยไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้า

 

ส่วนโครงสร้างการซื้อขายไฟฟ้าของไทย ที่ซื้อขายแบบ Regulated Market นั้น กกพ. มีแนวคิดที่จะนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ จากการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แบบ FiT พ.ศ. 2565 – 2573 จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ ที่รัฐได้รับสิทธิ์ใน REC มาเป็นองค์ประกอบหลักของ Green Tariff

และยังมีการขยายผลให้รวมการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียนของ กฟผ. ในอนาคตที่จะมีการผลิตเพิ่มเติมตามแผน PDP และการผลิตไฟฟ้าประเภทอื่นๆ ที่รัฐมีกรรมสิทธิ์ใน REC ให้มารวมอยู่ใน Green Tariff ตลอดจนในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านนี้ กกพ. จะส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน เพิ่มมากขึ้นเข้าสู่ระบบไฟฟ้า ส่งเสริมการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้เอง และสนับสนุนให้มีพลังงานสีเขียวมากขึ้นในภาคอุตสาหกรรม

“นายกรัฐมนตรี ยินดีที่ทุกหน่วยงานเห็นประโยชน์จากแนวคิด BCG ที่รัฐบาลได้ผลักดัน เป็นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า BCG จะเป็นแนวทางการพัฒนาที่สมดุล มีประสิทธิภาพ อย่างยั่งยืน ทั้งนี้รัฐบาลได้วางแนวทางการทำงานไว้ในโครงสร้างการพัฒนาประเทศแล้ว และประเทศไทย คนไทย จะได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด ตามแนวทางการพัฒนาที่ได้วางไว้” นายอนุชา กล่าว

logoline